ไทยสมายล์ สายการบินลูกของการบินไทย ได้ย้ายฐานการบิน (ฮับ) จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มายังท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นที่ 3 เส้นทางหลัก คือ เชียงใหม่ วันละ 3 เที่ยวบิน, ขอนแก่น วันละ 3 เที่ยวบิน และ ภูเก็ต วันละ 2 เที่ยวบิน
ท่ามกลางการแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำที่ขยายเส้นทางใหม่ทั่วภูมิภาค ไปพร้อมๆ กับออกโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินในราคาพิเศษ ที่บางเส้นทางถูกกว่ารถทัวร์ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า การย้ายฮับของไทยสมายล์ครั้งนี้จะกลายเป็นว่าพาตัวเองไปตายตามตัวแม่เพราะ “ถูกนกจิก หางแดงฟาด สิงโตงับ” หรือเปล่า
คนที่ทำงานการบินไทยคงจะทราบกันดีว่า การบินไทยตัวแม่คลอดไทยสมายล์ ยอมเฉือนเส้นทางการบิน (รูท) เดิมของการบินไทยไปให้ แถมใช้เงินการบินไทยซื้อเครื่องบินไปแล้ว 20 ลำ ประคบประหงมอย่างดี ผู้บริหารบางคนกลับมีแนวคิดที่จะแยกบริษัทออกจากการบินไทย และไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นว่าการบินไทยมีแต่เสียกับเสีย
ยิ่งช่วงนี้การบินไทยประสบภาวะบอบช้ำมานาน ผลประกอบการล่าสุดเอาเฉพาะไตรมาสที่ 2 ปีนี้ขาดทุนไปแล้วกว่า 7.6 พันล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนสูงกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ทุกวันนี้ยังต้องจัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องและปรับลดพนักงาน อีกทั้งนักบินเกิดภาวะสมองไหลย้ายไปสายการบินคู่แข่งเพราะผลตอบแทนดีกว่า
จึงน่าเป็นห่วงว่าขนาดตัวแม่ยังป่วยซ้ำซากแล้ว ตัวลูกที่ยังเดินด้วยขาตัวเองไม่ได้จะตายหรือเปล่า
การบินไทยเคยร่วมก่อตั้งสายการบินนกแอร์ โดยที่การบินไทยช่วยเหลือให้เบื้องต้น ตอนหลังพอเติมโตขึ้นมาได้ ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาการบินไทยก็มีแนวคิดที่จะทำสายการบินโลว์คอสต์เป็นของตัวเอง เคยร่วมทุนกับไทเกอร์แอร์เวย์สของสิงคโปร์ จัดตั้ง “ไทยไทเกอร์” แต่ก็มีเสียงคัดค้านและการเจรจาไม่ลงตัวจนต้องแท้งก่อนวัยอันควร
ในที่สุด การบินไทยจึงเริ่มต้นออกแบรนด์ลูกที่ชื่อว่า “ไทยสมายล์” ให้บริการเส้นทางแรกคือกรุงเทพฯ-มาเก๊า ก่อนที่จะขยายเส้นทางในประเทศ เริ่มจาก กรุงเทพฯ-กระบี่ โดยทำการบินแทนที่การบินไทยซึ่งมีอยู่เดิม ปัจจุบันไทยสมายล์มีเส้นทางการบินในประเทศ 9 เส้นทาง ระหว่างประเทศ 8 เส้นทาง ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศใกล้ๆ
แต่การมาดอนเมืองครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะได้พี่เลี้ยงอย่าง “นกแอร์” โลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่การบินไทยถือหุ้น 49% เข้ามาช่วยดูแลงานภาคพื้น เหมือนมาทดแทนบุญคุณเพราะตอนก่อตั้งนกแอร์ใหม่ๆ การบินไทยก็ช่วยวางระบบการปฏิบัติงาน ให้เช่าและซ่อมบำรุงเครื่องบิน ฝึกอบรมนักบิน ลูกเรือ พนักงานบริการภาคพื้น และจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้
คราวนี้ ไทยสมายล์กับนกแอร์จะร่วมกันสร้างเครือข่ายเส้นทางการบินเพื่อให้เป็นเครื่องมือการตลาด โดยนกแอร์ถูกวางตำแหน่งให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำระดับพรีเมียม ขณะที่ไทยสมายล์จะเป็นสายการบินแบบไลท์ พรีเมียม คือบริการผู้โดยสารชั้นประหยัดและชั้นธุรกิจเต็มรูปแบบในระยะทางใกล้ๆ ในราคาที่ถูกกว่าสายการบินเต็มรูปแบบ
ปัจจุบันไทยสมายล์ใช้เครื่องบิน แอร์บัส รุ่น A320-232 WL จำนวน 14 ลำ จะส่งมอบในปีนี้อีก 3 ลำ และปีหน้าจะเพิ่มอีก 3 ลำ เป็น 20 ลำ ซึ่งตามแผนการย้ายฮับนอกจากเส้นทางเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ตแล้ว หลังวันที่ 26 ตุลาคมนี้ จะย้ายเส้นทางบินในประเทศมาให้บริการทั้งหมด เช่น อุดรธานี เชียงราย กระบี่ หาดใหญ่ อุบลราชธานี และสุราษฎร์ธานี
ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ จะย้ายเฉพาะเส้นทางที่มีสัดส่วนผู้โดยสารต่อเครื่อง (Connecting Flight) ต่ำ โดยเฉพาะเส้นทางในจีน เช่น มาเก๊า ฉงชิ่ง ฉางชา ส่วนเส้นทางอื่นๆ กำลังพิจารณาทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรองรับผู้โดยสารที่ต่อเครื่องไปยังประเทศอื่นๆ หรือจะให้การบินไทยบริษัทแม่ทำการบินแทน
การย้ายมาดอนเมืองของไทยสมายล์ครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่นำมาจูงใจแก่ลูกค้า คือ โปรโมชั่นบัตรโดยสารราคาพิเศษเที่ยวเดียว เริ่มต้นที่ 990 บาทในเส้นทางเชียงใหม่ ขอนแก่น และ 1,090 บาทในเส้นทางภูเก็ต แม้จะไม่ใช่ราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น แต่ได้รับบริการเต็มรูปแบบทั้งน้ำหนักสัมภาระ ของว่างและเครื่องดื่ม
อีกทั้งระยะเวลาการจองกับวันเดินทางก็ไม่ต้องรอคอยยาวนาน เมื่อเทียบกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์อย่างแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อนแอร์ ที่บางครั้งต้องจองนานข้ามปีถึงจะได้ราคาถูกกว่ารถทัวร์ แถมต้องชิงไหวชิงพริบกับระบบสำรองที่นั่งว่าจะได้ราคาเท่าไหร่ บางครั้งจู่ๆ ก็ลดราคาลงมา ทำคนที่ซื้อตั๋วไปก่อนหน้านี้หลังหักกันไปเพราะได้ราคาที่แพงกว่าก็มี
สิทธิพิเศษหลักๆ ของไทยสมายล์ คือ น้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่องฟรี 20 กิโลกรัม เลือกที่นั่งได้ฟรีเมื่อเช็กอินผ่านอินเตอร์เน็ต 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทาง และได้ไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส 500 ไมล์ทุกเส้นทาง ซึ่งหลังจากใช้ตารางคะแนนใหม่ เส้นทางในประเทศจะใช้เพียง 7,500 ไมล์แลกบัตรโดยสารฟรี (ชำระเฉพาะค่าธรรมเนียมและภาษี)
ผมตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม พบว่าเส้นทางที่ราคาโปรโมชั่นร่อยหรอลง คือเชียงใหม่ และภูเก็ต ส่วนขอนแก่นที่นั่งว่างเหลือจำนวนมาก แต่ภายหลังช่วงสุดสัปดาห์กลับถูกจองอย่างล้นหลาม เนื่องจากในช่วงนั้นมีสอบตรงคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งสอบนายสิบตำรวจของตำรวจภูธรภาค 4
ในทางกลับกัน บังเอิญว่าราคาโปรโมชั่นเส้นทางเชียงใหม่กลับถูกปล่อยออกมา และมีที่นั่งในช่วงสุดสัปดาห์ตรงกันพอดี คือ เดินทางวันศุกร์ กลับวันอาทิตย์ จึงตัดสินใจจองและชำระเงินในวันนั้นเลย แต่ดูเหมือนว่าระบบการจองผ่านเว็บไซต์ยังไม่สมบูรณ์นัก วันนั้นไม่สามารถทำรายการในหน้าแรกได้ ต้องเข้าไปจองผ่านลิงค์โปรโมชั่นนั้นๆ โดยตรง
สำหรับการชำระเงินนั้น ถ้าไม่มีบัตรเครดิต สามารถใช้บัตรเดบิตชำระเงินโดยหักจากบัญชีเงินฝากได้ 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย โดยสมัครบริการบัตรซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตก่อน หรือไม่อย่างนั้นใช้บริการบัตรเสมือนอย่าง AIS mPAY MasterCard หรือ Paysbuy MasterCard โดยใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน
ผมเดินทางไปเชียงใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยจองเที่ยวบิน TG1104 เป็นเที่ยวบินร่วม (โค้ตแชร์) ของการบินไทย โดยใช้ไทยสมายล์ทำการบิน ซึ่งเที่ยวบินจริงๆ คือ WE140 ออกจากดอนเมือง 09.25 น. ถึงเชียงใหม่ 10.40 น. แม้ว่าไม่ต้องตื่นแต่เช้ามืด แต่ก็ต้องฝ่ารถติดในกรุงเทพฯ สุดท้ายยอมกัดฟันจ่ายค่าทางด่วนโทลล์เวย์เพราะกลัวตกเครื่อง
มีหลายคนบอกว่าบินดอนเมืองสบายกว่าสุวรรณภูมิ เพราะนั่งรถเมล์ลงป้ายสถานีรถไฟดอนเมืองก็ถึงแล้ว แต่เดี๋ยวนี้สุวรรณภูมิมีรถไฟแอร์พอร์ต ลิงก์ เดินทางง่ายขึ้นมาหน่อย ในทางกลับกันทุกเช้าและเย็นวันทำงานเจอรถติดบนเส้นวิภาวดีรังสิต เพราะฉะนั้นไปขึ้นเครื่องที่ไหนก็จำเป็นต้องเผื่อเวลาเดินทาง เอาแบบสบายๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเช็กอิน
ที่สนามบินดอนเมือง เคาน์เตอร์เช็กอินของไทยสมายล์ จะอยู่แถวที่ 5 เปิดให้บริการ 4 ช่อง เป็นผู้โดยสารสมายล์ พลัส 1 ช่อง ผู้โดยสารทั่วไป 3 ช่อง ปกติหากเช็กอินที่สุวรรณภูมิจะได้บัตรขึ้นเครื่อง ( Boarding Pass ) กระดาษแข็งเหมือนการบินไทย แต่เนื่องจากที่นี่จ้างนกแอร์ดูแลงานภาคพื้น บัตรขึ้นเครื่องที่ได้จึงเป็นกระดาษความร้อนคล้ายสลิปเอทีเอ็ม
ระหว่างนั่งรถแท็กซี่มาสนามบินจำได้ว่าโหลดแอปพลิเคชั่น THAI Smile เอาไว้ จึงลองเช็กอินผ่านมือถือดู ปรากฏว่าเที่ยวบินต้นทางจากดอนเมืองทุกเที่ยวบินไม่สามารถใช้ได้ (แต่เที่ยวบินจากเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต มาดอนเมืองเช็กอินและเลือกที่นั่งได้ตามปกติ) เลยต้องไปทำรายการเช็กอินที่เคาน์เตอร์สนามบินอย่างเดียวเท่านั้น
ผมยื่นเอกสารอีเมลการจองพร้อมกับหนังสือเดินทางไปให้ พนักงานก็ไม่ได้ถามอะไรนอกจากมีสัมภาระให้โหลดไหม ดูเหมือนว่าเช้าวันนั้นพนักงานเคาน์เตอร์ไม่กระตือรือร้นเท่าไหร่ อีกทั้งไม่ถามลูกค้าสักคำว่าจะนั่งตรงไหน เมื่อเทียบกับบางกอกแอร์เวยส์ที่มักจะถามลูกค้าว่าจะนั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดินให้เลือก ถ้ามีที่นั่งว่างเหลืออยู่
สุดท้ายพนักงานเลือกที่นั่ง 36H ให้ผม เป็นที่นั่งริมทางเดิน ส่วนที่นั่ง J จะอยู่ตรงกลาง และ K อยู่ริมหน้าต่าง ปรากฏว่าเป็นเก้าอี้ว่าง ไม่มีใครนั่ง ทำเอาผมเคืองไม่น้อยเพราะอยากนั่งริมหน้าต่าง ถ้าระบบเช็กอินผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือใช้ได้ตามปกติ ต่อให้เจอพนักงานหน้าบูดหน้าเบี้ยวก็คงไม่เสียความรู้สึกแบบนี้
ภายหลังเที่ยวกลับจากเชียงใหม่ เที่ยวบินที่ WE117 หรือ TG1117 ออกจากเชียงใหม่ 14.00 น. ถึงกรุงเทพฯ 15.15 น. ผมก็ใช้วิธีเช็กอินผ่านแอปพลิเคชั่น THAI Smile อีกครั้ง ปรากฏว่าเช็กอินได้ แต่ที่นั่งถูกจองไปเยอะแล้ว ซึ่งสามารถบันทึกบัตรโดยสารลง Passbook ในไอโฟนได้ และเมื่อถึงสนามบินแค่โหลดสัมภาระกับรับบัตรขึ้นเครื่องเท่านั้น
เที่ยวบินในวันนั้น ไทยสมายล์ใช้เครื่องบินทะเบียน HS-TXM หรือชื่อเครื่องบินนามว่า “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเอกลักษณ์ของการบินไทยคือ ชื่อเครื่องบินจะเป็นนามพระราชทาน เครื่องบินลำนี้เพิ่งส่งมอบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ยังมีเครื่องบินชื่อ หนองคาย (HS-TXL) อุดรธานี (HS-TXN) และ นครราชสีมา (HS-TXO)
เข้าไปในห้องโดยสาร จะพบกับลูกเรือที่รอต้อนรับอยู่บนเครื่อง ส่วนใหญ่หน้าตาจะออกแนววัยรุ่น หรือวัยยังสาว เทียบกับการบินไทยที่เรามักจะเจอพนักงานต้อนรับระดับผู้ใหญ่ หรืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปมากกว่า แต่ถ้าถามถึงหน้าตาคิดว่านกแอร์กับบางกอกแอร์เวยส์จะดูแจ่มจันทร์กว่า แต่เท่าที่เห็นก็ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องนัก
เมื่อเครื่องบินออกจากงวงประตู พนักงานจะสาธิตความปลอดภัยแบบสดๆ เหมือนโลว์คอสท์แอร์ไลน์ทั่วไป ก่อนที่เครื่องจะทำการไต่ระดับขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อสายรัดเข็มขัดดับลง ลูกเรือก็จะกั้นม่านผู้โดยสารระหว่างชั้นประหยัด กับชั้นสมายล์พลัส ซึ่งมีอยู่ 12 ที่นั่ง เพื่อความเป็นส่วนตัว และจะเปิดม่านอีกทีเมื่อเที่ยวบินจะลดระดับลงมาถึงสนามบิน
ทราบมาว่า ผู้โดยสารสมายล์ พลัส จะได้ใช้บริการห้องพักรับรอง (Royal Silk Lounge) ขึ้นเครื่องได้ตามอัธยาศัย อาหารและเครื่องดื่มเป็นเซทพร้อมของหวานและเครื่องดื่ม แต่ที่ดอนเมืองขณะนี้ไม่มีเลาจน์ให้บริการ หลังเช็กอินพนักงานจะให้คูปองเดอะมอลล์ สกาย พอร์ทมูลค่า 200 บาทไว้แลกอาหารและเครื่องดื่มจากร้านค้าด้านในเป็นการทดแทน
แต่สำหรับลูกค้าชั้นประหยัด ลูกเรือจะเริ่มทยอยแจกชุดอาหารว่าง แตกต่างตรงที่การบินไทยจะเป็นสแนค บอกซ์ ในกล่องกระดาษสีม่วง มีแซนด์วิช ขนมปัง และน้ำผลไม้แก้วเล็ก แต่ของไทยสมายล์จะมาในรูปแบบของถุงพลาสติกสีขาวคาดเหลือง ภายในถุงจะมีอาหารว่าง น้ำดื่มขวดเล็ก 350 มิลลิลิตร ผลิตโดยเครื่องดื่มตราช้าง และผ้าเย็น 1 ห่อ
เที่ยวบินขาไป ของว่างจะเป็นแซนด์วิชแฮมไข่ ซึ่งแช่เย็นออกมาใช้ได้ ส่วนเที่ยวกลับ ผมได้นั่งเครื่องบินทะเบียน HS-TXO นามว่า “นครราชสีมา” ซึ่งเป็นเครื่องใหม่ที่สุดของไทยสมายล์ ณ ตอนนี้ แต่เนื่องจากเพิ่งทำการบินระหว่างภูเก็ตมาเชียงใหม่ ของว่างที่ได้จึงเป็นพายไก่ธรรมดา ซึ่งรสชาติระดับครัวการบินไทยก็ไม่ได้ห่วยเท่าไหร่นัก
ระหว่างนั้น พนักงานก็จะทำการเสิร์ฟเครื่องดื่มให้อีก 1 แก้ว ลูกค้าสามารถเลือกได้ระหว่าง เครื่องดื่มร้อน จะเป็นกาแฟและชา ส่วนเครื่องดื่มเย็นมีทั้ง น้ำส้มสูตรเดียวกับการบินไทย (ส่วนของบางกอกแอร์เวยส์จะเป็นยี่ห้อมาลี) น้ำอัดลมอย่างโค้ก สไปร์ท และน้ำเปล่า ซึ่งเที่ยวบินขากลับมีการเปิดภาพยนตร์ตลก Just for Laugh จากจอทีวีที่อยู่ด้านบน
เราใช้เวลาเดินทางจากดอนเมืองมาถึงเชียงใหม่ในเวลาเพียงแค่ 55 นาทีอย่างปลอดภัย ลูกเรือสาวสองคนก็สวัสดีผู้โดยสารทุกคนเป็นการปิดท้าย ก่อนเดินออกจากงวงเทียบประตูเครื่องบิน ออกไปยังชั้นล่างของอาคารผู้โดยสารเพื่อรับกระเป๋าสัมภาระ ใช้เวลารอคอยไม่นานนักก็ได้กระเป๋าเรียบร้อยแล้ว
ถ้าถามถึงความรู้สึกส่วนตัว สิ่งหนึ่งที่ประทับใจจากไทยสมายล์ก็คือ การบริหารของลูกเรือบนเครื่องเต็มใจให้บริการกับผู้โดยสารเป็นอย่างดี เรื่องของอาหารว่างที่ดูใส่ใจรายละเอียดมากกว่า โดยเฉพาะน้ำดื่มที่ให้มาแบบขวดขนาดย่อม ไม่ใช่น้ำดื่มถ้วยเล็ก และถุงพลาสติกแบบมีหูรูด สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใส่สิ่งของได้
แต่สิ่งที่ควรปรับปรุงมากที่สุดคือบริการภาคพื้นหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะที่ดอนเมือง พนักงานภาคพื้นซึ่งมาจากนกแอร์ยังให้บริการได้ไม่ดีนัก พอๆ กับเคาน์เตอร์การบินไทยที่เชียงใหม่ บางครั้งมักบริการลูกค้าไทยสมายล์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งการที่ไทยสมายล์ยังเป็นสายการบินที่ต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลคงเป็นเรื่องลำบาก
อยากให้ดูบางกอกแอร์เวยส์เป็นตัวอย่าง เรื่องเซอร์วิสมายด์ของเขาเอาใจใส่ดี ขนาดผมเป็นลูกค้าโปรโมชั่นก็ยังบริการให้ตามสิทธิ์ที่ได้รับอย่างเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นตอนเช็กอินที่เคาน์เตอร์ หรือเวลาอยู่บนเครื่อง ครั้งหนึ่งแอร์สาวเส้นทางเชียงใหม่ ช่วงที่เครื่องจะลงจอดตอนนั้นผมฟังเพลงอยู่ เขาส่งยิ้มให้ผมแล้วทำท่าให้ถอดหูฟัง ทุกวันนี้ยังประทับใจไม่หาย
ส่วนคำแนะนำเรื่องค่าโดยสารถ้าไม่ใช่ช่วงโปรโมชั่น ยกตัวอย่างเส้นทางเชียงใหม่ ราคาตั๋วโดยสารปกติเริ่มต้นที่ 2,310 บาทต่อเที่ยว ผมเห็นว่าสูงเกินไป แต่ภายหลังทราบว่าไทยสมายล์ยังมีราคาที่เรียกว่า Smile Super Saver โดยหากจองก่อนวันเดินทางสักครึ่งเดือนจะได้ราคาเริ่มต้นที่ 1,090 บาท หรือช่วงใกล้วันเดินทางจะเริ่มต้นที่ 1,300 บาท
ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ราคาโปรโมชั่นที่ดีสำหรับมนุษย์เงินเดือนหมื่นห้าที่นานๆ จะลาพักร้อนสักครั้งไม่น่าจะเกิน 1,500 บาท หรือหากราคาเริ่มต้นที่ 1 พันบาทต้นๆ ได้ก็จะดี เพราะสายการบินคู่แข่งอย่างบางกอกแอร์เวยส์ที่บริการชนิดที่ว่าจัดเต็มทั้งห้องรับรอง และอาหารบริการบนเครื่อง ก็ยัง 1 พันบาทต้นๆ เลย จนโลว์คอสต์ยี่ห้ออื่นยังเคือง
แต่ไทยสมายล์ไม่ควรที่จะดั้มพ์ราคาลงมาเพื่อแข่งกับโลว์คอสต์เจ้าอื่นอย่างแอร์เอเชียที่ลดราคาบัตรโดยสารจริง แต่มีค่าใช้จ่ายแฝง หรือไทยไลอ้อนแอร์ที่มีแนวทางราคาตามขั้นบันได วันไหนมีคนจองเข้ามามาก ราคาตั๋วก็ยิ่งแพง เรื่องสงครามราคาปล่อยให้พี่ใหญ่อย่างนกแอร์เค้าดราม่าจัดเที่ยวบินละ 8-9 ร้อยบาทออกมาแบบไม่ต้องรอข้ามปี
จุดแข็งของไทยสมายล์ที่สำคัญคือ โปรแกรมสะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส แม้ลูกค้าเก่าจะมีเคืองเมื่อคะแนนแลกบัตรโดยสารใหม่จะปรับสูงขึ้นกว่าเดิม และบัตรเครดิตบางแห่งเตรียมปรับเพิ่มคะแนนสะสมแลกไมล์จาก 2 คะแนนต่อ 1 ไมล์เป็น 5 คะแนนต่อ 1 ไมล์ก็ตาม แต่เที่ยวบินในประเทศอัตราการแลกไมล์กลับถูกลง ก็น่าที่จะตอกย้ำจุดนี้ออกมา
เพราะหากเทียบกับทุกสายการบินในไทย โปรแกรมสะสมคะแนนเจ้าอื่นสามารถแลกบัตรโดยสารได้เฉพาะสายการบินนั้น เช่น แอร์เอเชียบิ๊ก ใช้ได้เฉพาะแอร์เอเชียด้วยกัน แต่รอยัล ออร์คิด พลัส สามารถใช้ได้กับสายการบินพันธมิตรสตาร์ อัลไลแอนซ์ ได้อีกด้วย และเชื่อว่ามีลูกค้าการบินไทยจำนวนหนึ่งที่มีแบรนด์รอยัลตี้เพราะโปรแกรมสะสมไมล์อันนี้
ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการจองและชำระเงิน รวมทั้งระบบเช็กอินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทราบมาว่าไทยสมายล์เตรียมที่จะแยกระบบคอลล์เซ็นเตอร์ออกมาแยกจากการบินไทยต่างหาก รวมทั้งระบบสำรองที่นั่งและจัดการรายการจองผ่านเว็บไซต์ ซึ่งอยากให้มีการพัฒนาให้ทัดเทียมกับสายการบินโลว์คอสต์เจ้าอื่นที่ขณะนี้พัฒนาไปมากแล้ว
ก็ต้องขอเอาใจช่วยไทยสมายล์ น้องใหม่ของสนามบินดอนเมือง ให้กลายเป็นสายการบินยอดนิยมของนักเดินทางโดยเร็ว แม้สภาพคล่องของบริษัทแม่อย่างการบินไทยจะดูย่ำแย่ จากการบริหารงานที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องก็ตามที แต่ผมเชื่อว่าจุดขายที่เป็น “ของดี” ที่การบินไทยสั่งสมมายังมีอยู่พอให้ได้นำมาใช้สู้ศึกสายการบินคู่แข่ง
เพียงแต่จะทำอะไรก็คงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งคาดหวังสูงมากเท่าไหร่ ทั้งที่องค์กรยังไม่แข็งแรง ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเจ็บตัวมากขึ้น แม้จะไม่เจ๊งเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ แต่ก็คงไม่มีใครชอบแน่หากจะอยู่กันแบบสาละวันเตี้ยลง นอกจากคนที่จ้องจะสูบเลือดสูบเนื้อก็เป็นสันดานของเขา