xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ (4)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ตอน : ปมของทักษิณ

ประวัติศาสตร์ความทรงจำที่แท้จริงของชาวชินวัตรเริ่มที่สันกำแพง คนรุ่นหลานคือรุ่นทักษิณยังมีความจำเกี่ยวกับปู่และย่าอยู่ กู่ของตระกูลที่วัดโรงธรรมสามัคคีมีชื่อปู่เชียง-ย่าแสงบรรจุอยู่ที่นั่น แต่ไม่ปรากฏชื่อของทวดเส็ง - คูชุ่นเส็งซึ่งน่าจะเสียชีวิตหลังจากอพยพไปอยู่สันกำแพงไม่นาน คงประมาณต้นรัชกาลที่ 6

ตอนย้ายไปสันกำแพงพ.ศ.2453 นายเชียงเริ่มเป็นหนุ่มอายุ 20 ต่อมาแต่งงานกับย่าแสงคนพื้นถิ่นสันกำแพง จุดเด่นของนายเชียงก็คือเป็นคนที่ผ่านโลก ผ่านโรงเรียนฝรั่ง ผ่านบรรยากาศของกรุงเทพ ผ่านการเดินทางอพยพโยกย้ายจากเมืองจันทน์ ไปกรุงเทพและจากกรุงเทพไปเชียงใหม่รวมไปถึงการพบเห็นจดจำ “สาเหตุ” การโยกย้ายออกจากเมืองจันทน์ และ “สาเหตุ” ของการถูกปล้นจนแม่เสียชีวิตระหว่างไปเก็บอากรบ่อน จนต้องย้ายจากเวียงเชียงใหม่ไปอยู่ที่สันกำแพงแดนบ้านนอกคอกนาในยุคนั้น

ด้วยผ่านอะไรมามากมายภาษาหนังจีนเรียกว่า “ประสบการณ์พิสดาร” มาขนาดนี้และไม่รู้ว่าเข็ดขยาดกับอำนาจการเมืองด้วยหรืออย่างไรจึงก้มหน้าก้มตาทำมาหากินสร้างหลักฐานจากการค้าขายจนมีฐานะกิจการที่สร้างหลักฐานได้คือค้าผ้าไหม

ตระกูลชินวัตรเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่บัดนั้น เปลี่ยนนามสกุลแซ่ คู มาเป็นชินวัตร เพราะลูกชายชื่อศักดิ์ไปรับราชการเป็นทหาร การเปลี่ยนนามสกุลเป็นชินวัตรคงประมาณหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เล็กน้อย

นายเชียงมีลูก 12 คน ลูกชายส่วนใหญ่เรียนต่อหรือทำงานที่มั่นคง ยกเว้นนายเลิศ พ่อของทักษิณ ชินวัตรที่เรียนธรรมศาสตร์เพียงระยะเดียวก็ลาออกมาทำงานที่บ้าน

ลูกผู้ชายถ้าไม่เรียนต่อสูงๆ ก็ได้งานดี ศักดิ์เป็นนายทหาร สุรพันธ์ เรียนด้านเทคนิคย้อมสีพิมพ์ผ้าจากเยอรมัน บุญรอด เรียนด้านการตอกผ้าและเครื่องจักรทอผ้าจากญี่ปุ่น สุเจตน์ เรียนวิศวฯ จุฬาฯ

ไม่ต้องมองในแง่จิตวิทยาเป๊ะก็ได้ เอาแค่สามัญสำนึกเข้าจับ ลองเอาตัวเองแทนทักษิณและน้องๆ เมื่อเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องลุงป้าอาที่เห็นหน้าค่าตากันแต่ละคนมีที่ทางไปดีๆ บ้างร่ำรวย บ้างใหญ่โตกันทั้งนั้น....นี่คงเป็นความกดดันหนึ่งของครอบครัวนายเลิศ เพราะนายเลิศเรียนไม่จบลาอกมาก่อนแล้วก็วิ่งสาละวนทำมาหากินร้อยแปดชนิดตัวเป็นเกลียว

ไม่ใช่แค่นั้นปัญหาในเรื่องการเงินก็เป็นอีก “ปม” หนึ่งของลูกๆ นายเลิศ

เรื่องนี้ทักษิณเป็นคนเล่าเอง ผ่านหนังสือ “ตาดูดาวเท้าติดดิน” ว่า แม่ยินดี มารดาของเขาอึดอัดกับการเงินของครอบครัวที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีแต่ชื่อเสียงเป็นส.ส.คนรู้จักแต่เงินทองไม่เหลือเพราะต้องลงกับการเมืองหมดขนาดสั่งว่าถ้ายังไม่รวยอย่าเล่นการเมือง

หนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นผลงานของผู้ใช้นามปากกาว่า “วัลยา” เป็นผู้เขียนแต่เนื้อแท้คือการเขียนตามคำบอกตามที่ทักษิณ ชินวัตรกำหนดนั่นแล เพราะตอนนั้นเขาเตรียมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยแล้ว (จดทะเบียนตั้ง ก.ค.2541) มติชนสุดสัปดาห์ตีพิมพ์ช่วงไล่เลี่ยกันและรวมเล่มในปี 2542 ถือเป็นหนังสือที่จงใจออกมาเพื่อเปิดตัวหัวหน้าพรรคการเมืองหน้าใหม่นั่นล่ะ

“วัลยา” กล่าวในคำนำเสมือนเป็นการยอมรับเองว่า “ได้รับการทาบทามจากคณะทำงานของคุณทักษิณให้ช่วยเรียบเรียงอัตชีวประวัติจากคำบอกเล่าของคุณทักษิณเอง" เพราะฉะนั้นการที่ทักษิณเอ่ยถึงข้อกังวลและความเครียดกดดันของแม่ยินดีตลอดถึงภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังก็ล้วนแต่มาจากปากของทักษิณเอง ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นมาใส่ร้าย

“ปม” เรื่องการเงินของครอบครัวไม่ใช่แค่คำบ่นของแม่ยินดี เพราะกิจการของครอบครัวย่ำแย่ลงจริงๆ เรื่องนี้ก็มีเขียนไว้ใน“ตาดูดาวเท้าติดดิน” แต่ทักษิณบอกในทำนองว่าพ่อถูกคนโกงเพราะบุกเบิกไปข้างหน้าไม่สนสะสางงานเบื้องหลัง แล้วก็เป็นอย่างที่รู้ธุรกิจหลักอย่างโรงหนัง กิจการเดินรถก็หมดไป

ที่ยังเหลือเป็น “เค้า” หรือ “ต้นทุน” จริงๆ ก็คือภาพลักษณ์ของตระกูลใหญ่ที่มีพี่น้องประสบความสำเร็จและร่ำรวย และก็คอนเน็คชั่นที่นายเลิศได้สร้างขึ้นระหว่างเล่นการเมือง

ทักษิณได้มรดกพ่อจริงๆ จากสิ่งนี้ !

ตระกูลชินวัตรเป็นตระกูลที่ปลูกฝังลูกหลานให้เข้าไปมีอำนาจการเมืองตั้งแต่เริ่มจะเว้นว่างไปก็แค่รุ่นปู่เชียงที่อาจจะเจอ “ประสบการณ์พิสดาร” เตี่ย คูชุ่นเส็งพาอพยพจากเมืองจันทน์ มาเชียงใหม่ก็แม่ก็เจอปล้นเลิกเป็นนายอากรอพยพต่ออีก แต่เมื่อมาถึงรุ่นลูกๆ แนวคิดแนวทางที่ปลูกฝังกันมาคือมีอำนาจรัฐ เข้าไปสู่การเมือง ควบคู่กับการทำมาหากินก็ชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง

การแสวงหาอำนาจการเมืองคู่กับอำนาจเศรษฐกิจแบบ “วิ่งเต้นเพื่อเป็นนายอากรผูกขาด” ฝังอยู่ในสายเลือดปลูกฝังกันมาแต่ยุคก๋ง คูชุ่นเส็ง วิ่งเต้นเป็นนายอากรผูกขาดบ่อนเบี้ยสร้างฐานะ มาเว้นช่วงในยุคปู่คือ นายเชียง-ย่าแสง จากนั้นชินวัตรรุ่น 3 (เลิศ) และ 4 (ทักษิณ) ก็กระโจนสู่วงจรอำนาจ

แสวงหาทั้งอำนาจทั้งความร่ำรวยพร้อมกัน !

ประเทศไทยยุคที่ชินวัตรรุ่น 3 (นายเลิศ ต่อมา สุรเจตน์ สุรพันธ์ ) เข้าสู่การเมืองนั้นเป็นยุคการเมืองแบบปิดภายใต้บรรยากาศท็อปบูต จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. 2502 จอมพลถนอมรับไม้ต่อก็ปกครองแบบไม่มีรัฐสภาแล้วก็มาเปิดให้เลือกกันในปี 2512 ปี่กลองเชิดขึ้น คนที่อยากจะกระโจนสู่การเมืองก็ได้โอกาสเปิดหน้าเข้าไปในตอนนั้น

ความสัมพันธ์ของนายเลิศ ชินวัตร กับอดีตรัฐมนตรีปรีดา พัฒนาถาบุตร เกิดขึ้นในช่วงที่เขาพยายามสร้างตนเองทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่น ปรีดาเป็นส.ท.เทศบาลนครเชียงใหม่ ส่วนเลิศเป็น ส.จ.สมาชิกสภาจังหวัดพร้อมๆ กับการทำโรงหนังและกิจการเดินรถ

ปีพ.ศ.2512 เป็นปีที่นายเลิศชนะเลือกตั้งเป็นส.ส. ปีเดียวกับ ปรีดา พัฒนถาบุตร นายเลิศสมัครอิสระ ส่วนปรีดาสังกัดพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าพรรค ความสนิทสนมคงจะเพิ่มพูนขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้น เลือกตั้งใหม่อีกรอบปี 2518 ปรีดายังได้เป็นส.ส.และเป็นรัฐมนตรีด้วยแต่เลิศไม่ได้เป็นแล้ว พอดีทักษิณเรียนจบนายร้อยตำรวจพ่อเลิศเลยฝากเป็นนายตำรวจติดตามท่านรัฐมนตรีปรีดาเสียเลย

เส้นสายความสัมพันธ์การเมืองของชินวัตรสายนายเลิศกับปรีดา พัฒนถาบุตรยังต่อเนื่องมาถึงการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ในยุคต่อๆ มาด้วยเพราะปรีดาถือเป็นคนร่วมก่อตั้งกลุ่มประชาสันติ บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่มาแต่ยุคแรก พอมายุคกลางๆ นายเลิศให้ลูกสาวสาวคนโต “เจ๊ใหญ่” เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองได้เป็นเทศมนตรีอยู่หลายสมัย สนิทสนมกับหัวหน้ากลุ่มประชาสันติในยุคเปลี่ยนไม้คือ ศรีสวัสดิ์ อาวิพันธุ์ อย่างที่คนเชียงใหม่ทราบกันทั่วไป

ชินวัตรสายนายเลิศจึงพาเหรดสู่การแสวงหาอำนาจการเมืองเพราะพ่อเลิศส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกร่ำเรียนวิชาการเมืองตั้งแต่เริ่มรุ่น และการที่ครอบครัวมีช่องทางใกล้ชิดกับคนระดับ “รัฐมนตรี” นี่มันยอดเยี่ยมมาก จะเอ่ยปากอะไรก็มีน้ำหนักมากกว่าคนทั่วไป

เจ๊ใหญ่-เยาวลักษณ์ เป็นหัวหอกการเข้าสู่การเมืองของชินวัตรรุ่น 4 อายุห่างจากน้องเล็กปู-ยิ่งลักษณ์ ขนาดเป็นแม่ลูกกันได้ (2488-2510 ห่างกัน 22 ปี) ตอนที่ปูเรียนหนังสือที่เรยินาฯ ก็ไปพร้อมกันกับลูกสาวสองคนของเจ๊ใหญ่ น้า-หลาน มีรถเก๋งและคนขับรถรับส่งคุณหนูไปโรงเรียนคอนแวนต์ เพราะตอนนั้นเจ๊ใหญ่เป็นผู้บริหารเทศบาลแล้ว อายุของน้าปูกับลูกของเจ๊ใหญ่ห่างกันแค่ 3 ปี จนคนเข้าใจกันว่าปูเป็นลูกของเจ๊ใหญ่ด้วยซ้ำไป

ชินวัตรรุ่นที่ 4 ที่เล่นการเมืองต้องยกให้เจ๊ใหญ่เป็นคนแรก ต่อมาเป็นทักษิณ ส่วนเยาวภาเข้าสู่การเมืองปี 2544 เมื่อพี่ชายพร้อมแล้ว

ทักษิณมีแรงขับ แรงทะเยอทะยานในเรื่องการเมืองและเรื่องการเศรษฐกิจอยากร่ำรวยแรงขับดังกล่าวมาจากทั้งสายเลือดและสิ่งแวดล้อม เขาเองก็ไม่ปิดบังนะว่าตัวเองนั้นนะ “อยาก” จะกระโจนเข้าสู่วงจรอำนาจมาตั้งแต่หนุ่ม เรื่องนี้เขียนไว้เองในตาดูดาวเท้าติดดิน

มองในแง่จิตวิทยา...หรือว่าแรงขับดังกล่าวอาจเป็นเพราะว่าในบรรดาพี่น้องชินวัตรรุ่นที่ 3 นายเลิศและครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่าพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านชื่อเสียงเกียรติยศ ?

เมื่อมาถึงรุ่นที่ 4 ทักษิณ ชินวัตรจึงนำพี่น้องสายนายเลิศให้ผงาดขึ้นเหนือลูกพี่ลูกน้อง เช่นสายพล.อ.ชัยสิทธิ์-พล.อ.อุทัย ชินวัตรผู้เป็นลูกของลุง หรือแม้แต่รุ่นป้า รุ่นอาที่เคยมีฐานะและชื่อเสียงเหนือกว่านายเลิศมาก่อน.

ป.ล.โปรดติดตามตอนต่อไป : ตอน ครอบครัวและความรักแบบชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น