xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ (3)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ตอน: เส้นสายอำนาจรัฐที่เชียงใหม่

ความคิดเรื่องการจะลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจได้ต้องเข้าไปผูกกับอำนาจการเมือง นิยมกิจการประเภทผูกขาดตัดตอน คงถูกปลูกฝังกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น

เพราะสังเกตดูคนตระกูลคูในชั้นหลังมุ่งหน้าหาความร่ำรวยไปบนเส้นทางอำนาจการเมืองกันแทบทั้งนั้น ต่อให้อ้างว่าทำมาหากินร่ำรวยมาก่อนเข้าสู่การเมือง แต่เมื่อมาแผ่แบดูกลับเป็นธุรกิจผูกขาดตัดตอนที่ต้องวิ่งหาอำนาจการเมืองมาหนุน

อำนาจ หนุน เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจ ต่อวงจร อำนาจ

นิยมเศรษฐกิจผูกขาด บนวิถีทางอำนาจแบบผูกขาดตัดตอน

.........................

การเดินทางไปเชียงใหม่ของนาย เส็ง แซ่คูและครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยาชื่อแม่ทองดี และลูกๆ 4 คน (มุ้ยเซียน เชียง เบี้ยว เล็ก) เมื่อพ.ศ. 2451 ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ

ตอนนั้นรถไฟกำลังเริ่มสร้างไปถึงแค่ปากน้ำโพ ถ้าเปรียบเทียบโดยยึดการเดินทางเสด็จเยี่ยมบ้านเกิดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในปี 2541 (ตรงกันพอดี) บันทึกไว้ว่าขบวนเสด็จออกจากสถานีสามเสน 2 ก.พ.2451 ไปลงปากน้ำโพจากนั้นก็ลงเรือทวนแม่น้ำปิงขึ้นไปถึงเชียงใหม่ 9 เมษายน 2541 รวมเวลาราว 2 เดือน

คณะอพยพของนายเส็ง แซ่คู และลูกๆ ทั้งสี่ที่มีนายเชียง แซ่คู อายุ 13 ปีรวมอยู่ด้วยก็คงต้องใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกันราวเดือนหรือสองเดือนขึ้นกับโอ้เอ้หรือรีบเร่ง

เชียงใหม่ในพ.ศ. 2451 หลังการถ่ายโอนอำนาจจากเจ้าผู้ครองนครมาสู่ข้าหลวงต่างพระกรรณที่เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วมาเริ่มถ่ายโอนกันเต็มรูปหลัง 2441 เมื่อเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัย ในระหว่างสิบปีนั้นอำนาจของส่วนกลางเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ไม่เหมือนยุคแรกๆ ระหว่างทศวรรษที่ 2430-2540 ที่เกิดการต่อต้าน มีกบฏพญาผาบ และกบฏเงี้ยวต่อเนื่องมา

ปากน้ำโพเป็นถิ่นของจีนไหหลำ ส่วนจีนไหหลำจีนแคะแยกไปทางแม่น้ำวังปักหลักค้าขายอยู่ตลาดริมน้ำที่เรียกว่ากาดกองต้า หลังจากการค้าทางน้ำหมดยุคไปลำปางก็ยังเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมเพราะรถไฟไปสิ้นสุดที่นั่นหลายปีระหว่างขุดอุโมงค์ขุนตาน แต่ครอบครัวสกุลคู ไม่ได้เดินตามรอยของชาวแคะรุ่นพี่ที่ปักหลักลำปางเป็นชุมชนใหญ่หากมุ่งหน้าไปเชียงใหม่อย่างเชื่อมั่น

เพราะว่าสกุลคู มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเดินทางไกลครั้งนี้แล้ว

การเดินทางไปครั้งนี้หวังจะอาศัยแอบอิง “การเมือง” อำนาจใหม่ตั้งหลักกันอีกครั้ง

ประวัติตระกูลชินวัตรผลงานเขียนของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง (เพ็ชร์ลานนา) บอกว่า นางทองดีภรรยาของคูชุ่นเส็ง เป็นคนไทยได้เส้นสายติดต่อผ่านข้าราชการในกรุงเทพฯ ได้ตอบรับให้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยที่เชียงใหม่ นั่นเป็นเหตุให้ครอบครัวนี้อพยพจากเมืองหลวง

ความตอนนี้น่าจะจริง ! เพราะการเดินทางจากกรุงเทพเมื่อ พ.ศ.2451 ใช้เวลาร่วม 2 เดือนไปเชียงใหม่จากนั้นก็ได้ “งาน” เลย แสดงว่ามีการติดต่อกันมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่ว่ามาถึงค่อยมาหาเส้นสายในพื้นที่แบบเริ่มจากศูนย์

เจ้าภาษีนายอากรนี่ต้องใช้เส้นนะครับ ต้องเป็นเด็กนาย ต้องมีคนรู้จักฝากฝังกันมา อันนี้เป็นแบบแผนพื้นฐานของสังคมอุปถัมภ์

งานของนายอากรบ่อนเบี้ยของคูชุ่นเส็ง แม้จะเป็นการผูกขาดตัดตอนอาศัยอำนาจรัฐมาต่อยอดทำมาหากินแต่ก็ใช่จะสบายเพราะพื้นที่ สันทราย ดอยสะเก็ด แม่ริมซึ่งถือเป็นอำเภอห่างไกลจากเมืองแล้วในยุคนั้น การเดินทางจาก “เวียง” ออกมาระยะทาง 30-40 กิโลเมตรโดยไม่มีถนนดีๆ ใช้แค่รถม้าหรือเกวียนเทียมไปกลับแต่ละรอบก็วันหนึ่งแล้ว

เส้นสายที่ตระกูลคูวิ่งเต้นไม่น่าจะมีแค่ หลวงนิกรจีนกิจ (หมา นิกรพันธ์) ซึ่งเป็นคนจีนที่อพยพมาอยู่ก่อนได้ดิบได้ดีรับแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นประทวน แต่ที่เขียนบันทึกกันมาระบุแต่ชื่อนี้

ขอเลี้ยวเข้าซอยอธิบายเรื่องขุนนางประทวนสักเล็กน้อย...ขุนนางชั้นประทวนต่างจากขุนนางสัญญาบัตรตรงที่ขุนนางประทวนแต่งตั้งโดยอำมาตย์/ขุนนางที่ได้รับอำนาจไปมีสิทธิ์ตั้งขึ้นได้ ในที่นี้คือข้าหลวงต่างพระกรรณ หรือข้าหลวงเทศาภิบาล ซึ่งมีสิทธิ์ตั้งได้ระดับหลวง ขุน หมื่นลงมา ไม่เหมือนขุนนางสัญญาบัตรจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเท่านั้น ทำไมจึงเรียนสัญญาบัตร (สมัยก่อนเขียนสัญญาบัตร์) สัญญาบัตรคือแผ่นจารึกอาจจะเป็นแผ่นเงินแผ่นทองก็แล้วแต่ระดับชั้นตำแหน่งอีกทีว่าได้ตั้งใครขึ้นเป็นตำแหน่งใด เมื่อมีการปรับมาเป็นระบบราชการยุคใหม่ประเทศไทยก็ยังสืบทอดธรรมเนียมเดิมแบ่งประทวน-สัญญาบัตร จะเห็นว่าสัญญาบัตรที่ได้เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ ทั้งสิ้น นี่เป็นธรรมเนียมที่ปรับมาจากครั้งโบราณ

หลวงนิกรจีนกิจเป็นหนึ่งในชาวจีนที่เข้าไปช่วยเหลือกิจการของราชการเลยได้รับแต่งตั้งเป็นหลวง ก็คงเป็นกรมการเมืองคนหนึ่งพอจะมีช่องทางเจรจาต่างๆ ได้

เชียงใหม่ระหว่างที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากเจ้าหลวงผู้ครองนครมาเป็นอำนาจรัฐสยามโดยส่งข้าหลวงต่างพระกรรณไปกำกับดูแลต้องใช้เวลายาวนาน อย่างละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป ในระหว่างที่มีการส่งอำมาตย์ขุนนางจากกรุงเทพขึ้นไป คนจีนที่มีเส้นสายช่องทางหรือรู้จักกับอำมาตย์ก็ตามไปทำมาหากินด้วยก็มี

อย่างกรณีเศรษฐีใหญ่ที่สุดในยุคนั้นคือ เตียอูเต็ง (หลวงอุดรภัณฑ์พานิช) ต้นตระกูลโสภโณดรผูกขาดทำป่าไม้มีห้างใหญ่โตกิจการต่างๆ ในภาคเหนือรายทางจากเชียงใหม่ ตาก ปากน้ำโพมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็ร่ำรวยมหาศาลเพราะได้ผูกขาดอากรบ่อน ต่อมาก็ได้สัมปทานไม้ โดยผ่านพระยารัตนธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ซึ่งใหญ่โตมากในยุคนั้น อำมาตย์ขุนนางสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เป็นจีนก็มีหรือไม่ก็มีเครือข่ายพวกพ้องของตน อย่างพระยารัตนาธิเบศร์นี่เป็นลูกเขยจีน ชื่อ เจ๊สัวหง (พระศรีไชยบาล) เป็นเจ้าของโรงหวยสมัยรัชกาลที่ 4 จึงไม่แปลกอันใดที่เมื่อมาเป็นข้าหลวงเชียงใหม่จึงให้คนใกล้ชิดได้ผูกขาดอากรบ่อน

แต่คูชุ่นเส็งโชคไม่ดีเหมือนจีนผูกขาดตัดตอนรุ่นพี่ที่ร่ำรวยไปแล้ว คูชุ่นเส็งไปประสบความสำเร็จในการเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ทำได้แค่ปีกว่าๆ ไม่รู้ไปเหยียบตาปลาใครเข้า นางทองดี ภรรยาเถ้าแก่ชุ่นเส็งถูกปล้นระหว่างไปเก็บเงินค่าอากรบ่อน บันทึกบอกว่าตนใจจนเสียชีวิต ถ้าแบบนี้น่าจะหัวใจวาย

ประวัติศาสตร์ตอนนี้สั้นและห้วนมาก พอนางทองดีตาย คูชุ่นเส็งเลิกเป็นนายอากรอพยพออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ที่คึกคักด้วยการค้า หนีออกไปห่างไกลผู้คนไปอยู่สันกำแพงที่ไกลออกไปราวครึ่งวัน

แปลกนะครับ !

เสียดายที่ลูกหลานตระกูลชินวัตรไม่ได้บันทึกเรื่องราวความทรงจำตอนนี้เอาไว้ว่าเหตุใดจึงล้มเลิกโมเดลธุรกิจแบบแอบอิงอำนาจรัฐที่อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางมาร่วมสองเดือน ทำอาชีพได้แค่ปีกว่าๆ ก็เลิก แถมเลิกแล้วยังต้องย้ายที่ย้ายทางอพยพกันอีกรอบ

ทักษิณ ชินวัตร ให้พรรคพวกออกหนังสือชีวประวัติตาดูดาวเท้าติดดินเขียนประวัติตอนนี้แค่สองบรรทัด.

ป.ล.โปรดติดตามตอนต่อไป : ตอน ปมของทักษิณ
กำลังโหลดความคิดเห็น