xs
xsm
sm
md
lg

ขำๆ คำสแลงการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

คำที่ใช้ในการสื่อสารในสังคมไทยเวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวันรุ่นและคนหนุ่มสาว มีคำสแลงใหม่ๆ ที่ใช้กันแพร่หลายรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องการการพิมพ์เร็วสั้นสื่อความหมายโดนใจและใช้กันติดอย่างรวดเร็ว อย่างคำว่า บ่องตง ( บอกตรงๆ) เตง ตะเอง (ตัวเอง) มะรุ(ไม่รู้) ฝุดๆ(สุดๆ) ชิมิ(ใช่มั้ย) เกรียน(พฤติกรรมที่ก้าวร้าวก่อกวน) กาก(ทำอะไรไม่ได้เรื่อง) แหล่ม(แจ่ม เด็ด เยี่ยม) รั่ว(บ้าๆบาๆ ติงต๊อง) เนียน(กลบเกลื่อน) ชิวชิว(สบายๆ) ตรึม(เยอะมาก) และมีอีกมาก เรียกว่าเก็บได้เป็นกระบุงๆเลยทีเดียว

นอกจากคำที่ใช้พูดกันทั่วไป ยังมีสแลงทางการเมือง มีที่มาจากพฤติกรรม บุคคล หรือสถานที่ ก่อนหน้านี้สังคมไทยในช่วงมีการชุมนุมทางการเมืองของ นปช. มีคำว่าเหวง (พูดไร้สาระ ไม่มีเหตุผล) หรือคำว่านกแสก ศัพท์สแลงพวกนี้ พูดขึ้นมา คนฟังก็จะรู้ว่าหมายถึงอะไร และมีที่มาที่ไปทางการเมือง

ในการชุมนุมทางการเมืองทุกๆครั้งที่ผ่านมา เรามักจะได้คำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งช่วงนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแทบทุกวัน ช่วงการชุมนุมของมวลมหาประชาชน เรา ก็มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย เป็นสแลงสะท้อนสถานการณ์เหตุการณ์ทางการเมืองและทัศนะของคนในสังคมที่น่าสนใจ ผมขอหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าท่านผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ บริเวณแยกพานิชยการ ใกล้ทำเนียบรัฐบาลและวัดเบญจมบพิตร

เริ่มกันที่คำที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การชุมนุมก่อนเลยแล้วกัน คำว่าชายแดนชมัยมรุเชฐ สะพานเล็กๆข้ามคลองเปรมประชากร อยู่บนถนนพิษณุโลก บริเวณแยกพานิชยการ ใกล้ทำเนียบรัฐบาลและวัดเบญจมบพิตร ผมว่าชื่อค่อนข้างแปลกสะกดยากออกเสียงยาก

สะพานนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดย เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรี ทรงบิจาคทรัพย์สร้างเพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระเชษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และ สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย แม้สะพานจะได้รับการขยายออกไปจนหมดสภาพเดิม แต่ป้ายโลหะชื่อสะพานสวยที่เห็นยังเป็นของเดิม

วันนี้มีคำสแลงทางการเมืองคือ คำว่า ชายแดนชมัยมรุเชฐ หมายถึงเวที คปท. ซึ่งตั้งอยู่ข้างทำเนียบ เป็นเหมือนชายแดนและมีการประทะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งเป็นความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทื่กระทำต่อประชาชน ยังกับอยู่ชายแดนกระทำต่อต่างชาติ และมีความรุนแรงจากคนร้ายลอบยิงปาระเบิดเข้าไปทำร้ายผู้ชุมนุม ที่มีข่าวว่าเป็นคนร้ายที่ถูกจัดส่งเข้ามาจากนอกประเทศ

คำต่อมาคือ แจ้งว่ารักนะ คือเวทีที่แจ้งวัฒนะ ภายใต้การนำของหลวงปู่พุทธอิสระ ซึ่งถือเป็นคำเรียกเวทีที่น่ารักสุดๆ ดูแล้วไม่ดุดันก้าวร้าวเลยแม้แต่น้อย ทั้งทีมาชุมนุมทางการเมืองที่ถูกระรานจากคนร้ายขี้ข้ารัฐบาลอยู่บ่อยๆ

เวทีแจ้งวัฒนะนอกจากจะมีชื่อเรียกน่ารักๆ แล้วยังเป็นที่มาของคำว่า อหิงสวน ซึ่งหมายความว่าถ้ามีการโจมตีโดยใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธ จะมีการตอบโต้สวนกลับไป ไม่ยอมนั่งกันอยู่เฉยๆเป็นเป้านิ่ง

คำต่อมาคือ เมืองไฮโซ หมายถึงเวที กปปส.ที่ราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านช็อปปิ้งของเหล่าไฮโซทั้งหลาย เป็นพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยห้างร้านเลิศหรูเต็มไปหมด

ส่วนเวทีที่ปทุมวัน ก็เรียกกันว่ า เข้ากรุง เพราะมันตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ ย่านธุกิจใหญ่ทันสมัยที่คึกคักต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งยังอยู่ใกล้ๆกับเมืองไฮโซอีกต่างหาก เดินไปมาต่อเชื่อมถึงกันสบายๆ

อีกหนี่งเวทีสีสันของการชุมนุมก็ต้องยกให้เวทีที่อโศก ซึ่งบรรดาศิลปินนักร้อง ดาราและคนดังจะมารวมตัวอันอยู่เวทีนี้ จนได้ชื่อว่า เวทีคอนเสิร์ตเลยทีเดียว แถมได้ข่าวว่าสาวสวยๆก็ไปรวมตัวกันอยู่เวทีนี้เยอะมากๆ เป็นที่ต้องตาต้องใจของหนุ่มๆ

เวทีสุดท้ายอย่างเวทีที่ผ่านฟ้า ก็มีคนจะเรียกกันว่าวัดป่าผ่านฟ้าลีลาศ เพราะเป็นเวทีของชาวสันติอโศก ภายใต้การนำของพ่อท่านโพธิรักษ์

นอกจากเรื่องสถานที่แล้วเรื่องของการปะทะและความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็นำไปสู่คำศัพท์ใหม่ๆเช่นกัน เริ่มกันที่ ส้มเกลี้ยงก็แล้วกันนะครับ คำนี้อาจจะเรียกกันมาก่อนในคนบางกลุ่ม ตอนนี้คนทั่วไปก็นำมาใช้เรียกลูกระเบิด ที่ถูกปาเข้ามาป่วนทำร้ายประชาชนที่ร่วมชุมนุม

คำต่อมาที่กำลังฮิตมากๆ มากจนกลายเป็นคำพูดติดปากหลายๆคนเลยทีเดียว นั่นคือป๊อปคอร์นและคนขายป๊อปคอร์น ซึ่งหมายถึงคนที่ยิงปืนผ่านถุงกระสอบเมล็ดข้าวโพดป๊อปคอร์น และคำว่าป๊อปคอร์น ก็แปลว่ากระสุนปืนนั้นเองละครับ คำนี้มีที่มาจากเหตุการณ์ การปะทะกันที่หลักสี่ หน้าไอทีสแควร์ มีกระสุนจากถุงป๊อปคอร์นสอยฝ่ายตรงข้ามที่ยิงเข้าใส่ประชาชน ก็หวังว่าคนขายข้าวโพดคั่วจะทำข้าวโพดคั่วอร่อยๆมากพอ สำหรับพวกผู้ไม่หวังดีต่อผู้ชุมนุมนะครับ

หรือคำว่า สุดซอย ที่ฝั่งรัฐบาลชอบเอามาอ้างว่าตัวเองถอยจนสุดซอยแล้ว แต่จริงๆที่ว่าสุดก็ยังไม่เห็นสุดซอยตรงไหนเลยก็ยังคงถอยได้อีกเรื่อยๆ

ล่าสุดกับคำว่า เลือกตั้งทดแทน เป็นคำใหม่ที่มาจาก ท่านห้าเสือ กกต. ที่กำลังหาวิธีให้เกิดการเลือกตั้งมาทดแทนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้ ยังไม่รวมอีกหลายๆคำที่กำลังจะตามมาอีกมาก จนผมคิดว่า ราชบัณฑิตยสถาน ควรจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุมเสียหน่อย เพราะคงได้คำศัทพ์ทางการเมืองแปลกๆอย่างแน่นอน

ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีการรวบรวมศัพท์ภาษาทางการเมืองออกมาเป็นรูปเล่ม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักฐานในการค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับนักข่าวหรือผู้ที่สนใจ ต้องใช้ในการทำงานที่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนความหมายแต่ละคำจะแปลว่าอะไรนั้น หากไม่แน่ใจก็ควรไปสัมภาษณ์คนแรกที่พูดคำนี้ออกมาว่าเขาต้องการจะสื่ออะไรรับรองว่าถ้าทำออกมาขายดีแน่ๆ

คำศัพท์ทางการเมืองบางครั้งก็เป็นคำสแลงด้วย คำสแลงบางคำอาจมาไวไปไว การอธิบายความหมายนัยที่มาที่ไปเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ สามารถนำมาสะท้อนภาพการเมืองไทยและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมเอาไว้รูปแบบหนึ่งถ้ามีการรวบรวมข้อมูล และอัพเดทฐานข้อมูลออกเล่มใหม่ๆทุกๆสี่ปี เท่าอายุการทำงานของรัฐบาลในสถานการณ์ปรกติ คงมีศัพท์เพิ่มขึ้นมาพอสมควรเลยละ
กำลังโหลดความคิดเห็น