xs
xsm
sm
md
lg

แอ่วชีวิตเรียบง่ายที่พะเยา

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ตัวเมืองพะเยา เมื่อมองจากอีกฝั่งหนึ่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำอิง
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ คือ จ.พะเยา หลังจากที่ผมจองตั๋วเครื่องบินสายการบินน้องใหม่ “ไทยไลอ้อนแอร์” ดอนเมือง-เชียงใหม่ ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ทีนี้ ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อดี เพราะมีความรู้สึกว่าผมมาเยือนเชียงใหม่ 3 ครั้งในรอบปี ได้ไปเที่ยวมาจนเกือบทั่วแล้ว แต่ถ้าจะไปไหนไกลๆ อย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็ต้องทำเรื่องหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน

นึกขึ้นได้ว่ามีเพื่อนในเฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อว่า “เจ้ากอล์ฟ” เป็นแฟนเอเอสทีวีอยู่ที่นั่น เลยเดินทางมาเยือนเพื่อทำความรู้จักไปด้วย และมาเยือนจังหวัดที่ไม่เคยไปด้วย เจ้ากอล์ฟบอกว่า ช่วงนี้น้ำที่กว๊านพะเยากำลังขึ้นเยอะ แถมที่นั่นยังจัดเทศกาลดอกไม้งามริมกว๊านพะเยาอีกด้วย คิดแผนในใจเอาไว้ว่า จะอยู่เชียงใหม่สักหนึ่งคืนเพราะได้เที่ยวบินบ่ายสามโมง จากนั้นจะไปหาเพื่อนที่พะเยาแล้วค้างที่นั่นอีกหนึ่งคืน ก่อนกลับเชียงใหม่ เพื่อไปขึ้นเครื่องบินกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น

ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่การเมืองร้อนแรงขึ้นจากการชุมนุม ในฐานะที่ต้องทำงานอยู่กับข่าวทั้งวันทั้งคืน ก็รู้สึกเครียด นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินไว้ช่วงนั้นพอดี เลยถือโอกาสขอตัวไปพักผ่อนสักสองสามวัน

การเดินทางจากเชียงใหม่จากพะเยามีรถประจำทางที่เรียกกันว่า “กรีนบัส” หรือ “รถเมล์เขียว” ของบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด จากสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต ผ่านตัวเมืองพะเยา 7 เส้นทาง แต่ส่วนมากจะไปตามเส้นทางเชียงใหม่ ดอยสะเก็ด แม่ขะจาน ก่อนเลี้ยวไปทางวังเหนือ ถึงแยกเกษตรสุขไปตามถนนพหลโยธิน ถึงตัวเมืองพะเยา ระยะทาง 155 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งค่าโดยสารรถปรับอากาศชั้น 2 อยู่ที่ 125 บาท

เส้นทางนี้สั้นที่สุดสำหรับเดินทางไปพะเยา แต่คนที่นำรถส่วนตัวมาต้องระมัดระวังในการขึ้น-ลงภูเขาตลอดทาง แต่ก็เหมาะแก่การชมธรรมชาติ เพราะผ่านพื้นที่ต้นน้ำแม่กวง ต้นน้ำแม่ลาว ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และอุทยานแห่งชาติขุนแจ ก่อนจะพักรถที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแม่ขะจาน 10 นาที จากนั้นเมื่อเข้าไปยังถนนอีกเส้นหนึ่งแล้ว จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่งาวในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งมีจุดชมวิวกว๊านพะเยาหลังเข้าเขตจังหวัดพะเยา

ผมออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต ตอนสิบโมงเช้า หลับไปหนึ่งงีบ ถึงตัวเมืองพะเยาประมาณเที่ยงครึ่ง มองผิวเผินเหมือนเมืองนี้ไม่มีอะไรตื่นเต้น เพราะถนนหนทางเล็กมาก เมื่อมาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารพะเยา ซึ่งมีรถประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ผมโทรศัพท์เรียกเจ้ากอล์ฟมารับ ไม่นานนักเพื่อนผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์มารับผม ก่อนไปกราบสวัสดีครอบครัวเจ้ากอล์ฟที่ร้านขายยาซึ่งอยู่ในตัวเมือง และพาไปเปิดห้องพักในโรงแรมซึ่งอยู่ใกล้ตลาด

เจ้ากอล์ฟอายุอานามก็ 27 ปี รุ่นเดียวกับผม แต่ชอบเรียกผมว่าพี่จนผมต้องบอกว่าเรียกชื่อเล่นก็ได้ เรียนจบเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันช่วยที่บ้านทำกิจการร้านขายยา “สยามเวชภัณฑ์” ในตัวเมืองพะเยา สืบทอดจากรุ่นพ่อ ปกติทางครอบครัวมักจะติดตามเอเอสทีวีเป็นประจำ และบริจาคเงินช่วยเอเอสทีวีที่กรุงเทพฯ สม่ำเสมอ ซึ่งก็ต้องขอบคุณครอบครัวเจ้ากอล์ฟแทนพี่ๆ น้องๆ ฝั่งทีวีด้วย

สมัยก่อนพะเยาเป็นเพียงแค่อำเภอขึ้นตรงกับเชียงราย กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2520 ได้แยกออกเป็นจังหวัด มีทั้งสิ้น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา จุน เชียงคำ เชียงม่วน ดอกคำใต้ ปง และแม่ใจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังกรมทางหลวงได้ตัดถนนพหลโยธินสายใหม่ รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ราชการจังหวัดพะเยาซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ว่าการอำเภอหลังเก่าเป็นที่ทำการกองร้อย อส. อ.เมืองพะเยา

ตัวเมืองพะเยามีถนนหลโยธินสายเก่าเข้าไปในตัวเมือง เมื่อขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำอิง (กว๊านพะเยา) จะมีทางแยกซ้ายมือ ถนนสายนี้บ่งบอกถึงสภาพเส้นทางเดิมที่เข้าสู่ย่านการค้าเก่าแก่ของจังหวัด ที่นี่จะคึกคักในช่วงเช้า ส่วนช่วงเย็นจะนิยมไปยังแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างกว๊านพะเยาเพื่อชมบรรยากาศยามเย็น ก่อนที่จะตรงไปยังโรงพยาบาลพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา และที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยา บริเวณศูนย์ราชการซึ่งอยู่ห่างออกไป

ในตัวเมืองพะเยาไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แหล่งชอปปิ้งหรูหรา มีห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นอยู่เจ้าเดียว คือ เจริญภัณฑ์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เป็นห้าง 2 ชั้น มีสโลแกนว่า “ห้างคนไทย หัวใจคนเมือง” ชั้นล่างจะเป็นร้านหนังสือ ร้านอาหารปิ้งย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ลานโปรโมชั่น เคาน์เตอร์จำหน่ายเสื้อผ้า ส่วนชั้นบนจะเป็นสโตร์ขายอุปกรณ์กีฬา สินค้าไอที เครื่องเขียน คนท้องถิ่นมักจะซื้อของที่นี่ อีกด้านหนึ่งมีห้างค้าปลีกชื่อดังอย่างเทสโก้ โลตัส เปิดสาขาพะเยา แต่ตั้งอยู่นอกเมือง

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี ก็คงจะเป็น กว๊านพะเยา กว๊านเป็นภาษาล้านนา แปลว่าบึงน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำมาจากแม่น้ำอิง ที่ไหลมาจากหนองเล็งทราย อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีลำห้วยไหลรวมกันมากถึง 18 สาย ตอนปลายจะเป็นประตูระบายน้ำ ไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือเพื่อลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เบื้องหน้าเป็นเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งมีความยาวกว่า 400 กิโลเมตร จะพบเห็นดอยหลวง ซึ่งเป็นดอยเขาที่สูงที่สุด

มนต์เสน่ห์กว๊านพะเยาจะอยู่ที่ช่วงเย็น ขณะที่พระอาทิตย์ตกดินลาลับไปในดอยหลวง เกิดเป็นแสงสีทองที่ต้องมนต์แก่ผู้พบเห็น เบื้องหน้าจะพบกับชาวประมงออกหาปลา อีกด้านหนึ่งยังมีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมักจะมากันเป็นคันรถบัส แวะเที่ยวชมบรรยากาศบริเวณชายกว๊าน ส่วนชาวต่างชาติจะนิยมมาพักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีที่พักรายวันและร้านอาหารให้บริการบริเวณกว๊านพะเยาด้วย.

เรื่องอาหารการกินที่พะเยามีร้านอาหารให้เลือกหลายร้าน แต่ที่เจ้าบ้านพาไปแนะนำมีอยู่ 2 ที่ คือ ร้านบะหมี่โกชอง อยู่เลยย่านการค้าพะเยาไปทางศาลากลางจังหวัด ที่นั่นขึ้นชื่อเรื่องบะหมี่เกี๊ยว หมูแดง หมูสด และหมูสะเต๊ะ ในบรรยากาศริมกว๊านพะเยา ผมสั่งบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงพิเศษ พร้อมกับหมูสะเต๊ะชุดเล็กมารับประทาน ร้านนี้ข้อดีคือสั่งพิเศษแล้วก็ให้เยอะ รสชาติเนื้อหมูในบะหมี่นุ่มกว่าหลายร้านในกรุงเทพฯ ส่วนหมูสะเต๊ะก็ชิ้นใหญ่กว่าที่พบเห็น

อีกร้านหนึ่งที่เจ้ากอล์ฟพาไปชิมมื้อเย็น คือ ร้านข้าวต้มโพธิ์ทอง อยู่ใกล้กับกว๊านพะเยา ที่นั่นนักท่องเที่ยวจะคึกคักช่วงเย็น ผมสั่งหมูทอดซอส ส่วนเจ้ากอล์ฟสั่งผัดผักรวม และเต้าหู้อบหม้อดิน รสชาติหมูทอดซอสที่นี่จะนุ่มลิ้น โดยเนื้อหมูหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ทอดจนเป็นสีเหลืองทอง ส่วนเต้าหู้อบหม้อดินแม้จะใช้หม้อสแตนเลสก็ตาม ซึ่งเจ้ากอล์ฟบอกว่าสมัยก่อนเคยใช้หม้อดิน ก็มีเครื่องทั้งวุ้นเส้น เห็ดหอม หมูสับ ปลาหมึก กุ้ง รวมทั้งเครื่องในหมูด้วย

วิถีชีวิตของคนในตัวเมืองพะเยายามเช้าจะมีผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของอย่างคึกคัก แต่หากเป็นย่านที่อยู่อาศัยก็จะเงียบสงบ มีชาวบ้านทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์ บ้างก็ออกกำลังกายเพื่อคลายหนาว ส่วนกว๊านพะเยายามเช้ามีหมอกสีขาวปกคลุมเหนือพื้นน้ำ รถยนต์ไม่พลุกพล่านมาก เนื่องจากรถที่จะไปเชียงรายส่วนมากไม่ผ่านตัวเมือง จึงได้อานิสงส์เดินเก็บภาพความเงียบสงบของเมืองพะเยาเอาไว้ ไล่ตั้งแต่วัดศรีอุโมงค์คำ และศาลหลักเมืองพะเยา

อันที่จริงหากออกไปนอกเมืองพะเยายังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมากมาย นอกเหนือจากกว๊านพะเยาแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น วัดศรีโคมคำ วัดศรีอุโมงค์คำ วัดติโลกอาราม หรือวัดกลางน้ำพะเยา ส่วนแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ก็จะมีอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง และอุทยานแห่งชาติภูซาง รวมทั้ง อ.เชียงคำ ทางผ่านไปภูชี้ฟ้า ก็ยังมีวัดนันตารามที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ชีวิตที่เรียบง่ายของคนพะเยา แม้ความเจริญจะยังไม่ถึงกับอู้ฟู่เหมือนเชียงใหม่ที่เติบโตแบบไร้ทิศทาง รวมทั้งค่าครองชีพของคนที่นี่ไม่สูงมากนัก สิ่งที่ผมได้สัมผัสตลอด 2 วัน 1 คืน กลับรู้สึกเหมือนได้ความสงบทางใจเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จนบางครั้งมาคิดทบทวนอีกที ความสุขที่แท้จริงจากการท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบริโภคที่ล้นเกิน แต่มาจากการเก็บเกี่ยวความประทับใจ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนที่นี่

ที่สำคัญต้องขอบคุณเจ้ากอล์ฟ ที่ทำให้เราได้รู้จักจังหวัดที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเยือน และจากที่ก่อนหน้านี้ได้มาเยือนอุดรธานีตามคำเชื้อเชิญจากเพื่อนในทวิตเตอร์ ผมพอจะบอกคุณผู้อ่านได้ว่า ถ้าได้คบเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดแล้ว หากมีโอกาสก็มาเยือนถิ่นของเพื่อนก็ไม่เสียหลาย นอกจากจะสานต่อมิตรภาพและความสัมพันธ์แล้ว ยังได้รู้จักวิถีชีวิตบ้านเมืองในต่างจังหวัดที่อาจจะแปลกตาไปจากที่เราพบเห็นอีกด้วย.
คำขวัญจังหวัดพะเยา
ยามเย็น กว๊านพะเยาจะเป็นแหล่งชมพระอาทิตย์ตกดิน
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง กษัตริย์แห่งเมืองภูกามยาว เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา
การจุดพลุเฉลิมฉลองเทศกาลดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา มุมมองจากซอยทางเข้าโรงแรมที่พัก
วิถีชีวิตที่เรียบง่ายในตลาดเช้าตัวเมืองพะเยา
พระสงฆ์ออกบิณฑบาตยามเช้า ท่ามกลางความเงียบสงบ
ความเงียบสงบยามเช้าในตัวเมืองพะเยา
พระอาทิตย์ขึ้น บริเวณอุโบสถวัดศรีอุโมงค์คำ
ศาลหลักเมืองพะเยา
หมูทอดซอส และเต้าหู้อบหม้อดิน ร้านข้าวต้มโพธิ์ทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น