xs
xsm
sm
md
lg

คนหนุ่มสาวในการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง คนที่ผ่านร้อนหนาว ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีหลายครั้งหลายหนไม่ว่า 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 ,พฤษภาคม 2535 เมื่อมีการชุมนุมขับไล่ทักษิณเมื่อปี 2548-49 เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา 2551 บรรดาผู้ชุมนุม ส.ว. สูงวัยและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นคุณป้าคุณยายทั้งหลาย ปักหลักพักค้างกันหลายร้อยวัน เรียกหาคนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษาออกมาร่วมเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่สำเร็จ การชุมนุมทุกครั้งยังเป็นม็อบ ส.ว.อยู่นั่นเอง

การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมที่เริ่มต้นที่สามเสน แล้วเคลื่อนมาปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นัดรวมพลใหญ่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2556 มีมวลมหาประชาชนนับล้านคนมาร่วม ขบวนยาวเหยียดเต็มถนนราชดำเนินจนถึงสนามหลวง ประมาณกันว่าจากขนาดพื้นที่ ความกว้างยาวของถนนตามภาพถ่ายมุมสูง สามารถคำนวณจำนวนคน และพื้นที่คนละหนึ่งตารางฟุต จำนวนคนโดยประมาณหนึ่งล้านสอ งแสนคน ไม่รวมคนที่อยู่ในถนนแยกย่อยออกไปจากถนนราชดำเนิน

ภาพจากจอโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดการชุทนุมหลายช่อง ไม่ว่าจะเป็นบลูสกาย เอเอสทีวี ทีนิวส์ ฯลฯ ที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมตามเวทีต่างๆ ทั้งที่สีลม ถนนราชดำเนินน นางเลิ้ง และสะพานมัฆวาน ภาพที่น่าสนใจคือมีนักเรียนนักศึกษา คนหนุ่มสาว วัยทำงาน ทั้งหญิงชายเข้าร่วมจำนวนมาก

นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นการชุมนุมที่ที่คนทุกเพศทุกวัย มีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมมากกกว่าทุกครั้งที่เคยมีมา

ก่อนหน้านี้ มีกิจกรรมเหมือนอุ่นเครื่อง จากการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และกิจกรรมของกลุ่มหน้ากากขาว ที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพ มีจำนวนคนเข้าร่วมมากเกินความคาดหมาย จนเริ่มมีคำถามว่า ทำไมจึงมีการตื่นตัวของคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานมากขึ้น

การชุมนุมภายใต้การนำของกำนันสุเทพ สามารถเรียกร้องเชิญชวนผู้คนเข้าร่วมนับล้าน ก็เป็นภาพที่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคนมาร่วมจำนวนมาก ทำไมคนหนุ่มสาวมาร่วมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผมว่าน่าจะมีหลายเหตุผล ประการแรก การติดต่อสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวันหนุ่มสาว ทั้งนักเรียนนักศึกษา และหนุ่มสาววัยทำงาน เป็นช่องทางที่มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย แตกต่างจจากการรายงานข่าวของฟรีทีวี ทำให้คนจำนวนมากได้มีการลิงค์เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองทั้งประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ถ้าหากเรียกการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนในปี 2535 ว่า “ม็อบมือถือ” การชุมนุมในเดือนพย.-ธ.ค. 2556 นนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ม็อบแท็บเล็ต”

เหตุผลประการที่สอง สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงสองปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลใช้เสียงข้างมากเผด็จการในรัฐสภา นโยบายหรือกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ แม้จะมีเสียงคคัดค้านไม่เห็นด้วยจากประชาชน ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาเอาข้อมูลหลักฐานมาอภิปรายอย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายสภาก็ผ่านด้วยเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. เป็นต้น

ฝ่ายรัฐบาลย่ามใจเหิมเกริมหนักข้อขึ้นเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่นเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทในโครงการป้องกันน้ำท่วม หรือเงินกู้เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท ทำให้ประเทศไทยต้องเป็นหนี้สินก้อนเงินมหาศาล ที่ต้องแบกภาระหนี้กันถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นห้าสิบปี อันเป็นภาระที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องบแกรับ การกู้เงินมาใช้นอกงบประมาณปกติโดยไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงิน ยิ่งเป็นช่องทางให้มีโอกาสในการคอรัปชั่นมากขึ้น ประชาชนยิ่งไม่ไว้ใจการทำงานของรัฐบาลที่มีข่าวการคอรรัปชั่นตลอดเวลา

เหตุผลประการที่สาม การคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬารในโครงการต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประชานิยม ที่หนักหนาที่สุดคือโครงการรับจำนำข้าว มีการคอรัปชั่นกันหลายรูปแบบในทุกขั้นตอน เงินที่ตกไปถึงมือชาวนาจริงๆเป็นจำนวนน้อยนิด แถมล่าช้าไม่ถึงมือชาวนา ขณะที่ชาวนาต้องกู้ยืมทั้งในและนอกระบบมาลงทุนในการปลูกข้าวฤดูใหม่ เพราะคอยเงินจากรัฐบาลไม่ไหว โครงการนี้ยังทำลายชื่อเสียงคุณภาพข้าวไทยและราคาที่สูงกว่าข้าวประเทศอื่นจนไทยไม่สามารถแข่งขันได้ การส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกจึงย่อยยับเพราะน้ำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เหตุผลประการที่สี่ ภาวะเศรษฐกิจในมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ข้าวของราคาแพง คนวัยทำงานจำนวนมากมีหนี้สินจากโครงการรถคันแรก น้ำมันและแก๊สราคาแพง รายได้ไม่พอจ่าย อาหารทุกชนิดขึ้นราคา ไข่ราคาแพงเป็นประวัติการไข่ดาวในร้านข้าวแกงต้องปรับราคาเป็นฟองละ 10 บาท แม่ค้าขายอาหารสำเร็จรูปบางรายต้องเลิกขาย เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยิ่งทำยิ่งขาดทุน ภาวะค่าครองชีพเช่นนี้ สร้างความยากลำบากแก่ผู้คนทุกวงการอาชีพ โดยเฉพาะคนที่รายได้น้อย

เหตุผลประการที่ห้า การใช้เครื่องมือสื่อสารในกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทุกคนมีและใช้สื่อสารทั้งเสียงภาพและส่งข้อความ การถ่ายภาพลงเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นกิจกรรมที่ทำกันเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งไปแล้ว การถ่ายรูปมาโพสต์เพื่อบอกเล่าอวดกันว่าไปทานอาหารร้านไหน ไปเที่ยวไหนมา ไปชุมนุมที่ไหนมีผลทางด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว สร้างกระแสได้ผลชะงัด

สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อหลักที่ทำหน้าที่ โดยเฉพาะโซเซียลมีเดีย อย่างในวันที่ 24 มีการทวิตข้อความทางการเมืองกว่า 800,000 ข้อความในวันนั้น ซึ่งถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับการโพสต์สเตตัสผ่านเฟซบุ๊ค ซึ่งน่าจะเยอะกว่าทางทวิตเตอร์เนื่องจากคนไทยเล่นเฟซบุ๊กกันแทบทุกคน

สื่อออนไลน์หรือโลกโซเซียลมีเดีย กลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดกระแสมวลชนที่เข้ามาชุมนุม เข้ามาร่วมกับม็อบภายใต้การนำของกำนันสุเทพ การเข้าร่ววมชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ของคนหนุ่มสาวขยายตัวเป็นกระแสอย่างกว้างขวางรวดเร็ว จำนวนหนึ่งอาจเข้าร่วมกิจกรรม ให้ได้ชื่อว่าไม่ตกกระแสหรือไม่ตกเทรนด์ แต่จำนวนมากที่เข้าร่วมด้วยความสำนึกรักชาติบ้านเมืองสำนึกทางการเมืองต่อต้านคนโกง และเป็นเสรีชน การติดตามข่าวสารข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือทีวีที่รายงานข่าวแตกต่างกับฟรีทีวี อย่างเอเอสทีวี บลูสกาย เนชั่นชะแนล เอฟเอ็มทีวี ทีนิวส์ฯลฯ ทำให้คนจำนวนมากได้ข้อมูลการเปิดโปงพฤติกรรมต่างๆ ในการคอรัปชั่นโกงกินของนักการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งความรู้จากนักวิชาการและผู้รู้ในสาขาต่างๆ ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางเจาะลึก และสะสมมาต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง

การตื่นตัวของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แตกต่างจากการชุมนุมประท้วงในอดีตที่ผ่านมาเมื่อสี่ห้าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

คนหนุ่มสาวเหล่านี้คืออนาคตของประเทศชาติ ประเทศไทยมีความหวังมีอนาคตที่จะก้าวไปข้างหน้า พวกเขาคือกำลังสำคัญที่จะร่วมกันสร้างสังคมไทยที่มีความสุข มีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของประชาชนอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
กำลังโหลดความคิดเห็น