xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรับผิดไม่เป็น ก็ต้องไล่ออกไป !

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

มาตรฐานของสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาดูจากหลายประเด็นหนึ่งในนั้นก็คือความรับผิดชอบของผู้มีตำแหน่งต่อสาธารณะ

สังคมที่พัฒนาแล้วบางสังคม หน้าของคนมักจะบาง ผิวหน้าไม่เหมือนคนแถวนี้หากผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำผิดถูกจับได้อาจถึงขนาดแขวนคอตาย คว้านท้องตาย ยิงหัวตัวเองตายเป็นการรับผิด เพราะไม่สามารถสบตากับผู้คนได้ รองลงมาหากผู้มีอำนาจกระทำผิดแล้วอิดออดไม่รับผิด คนในสังคมนั้นๆ ก็จะออกมากดดัน สังคมไม่ยอมที่สุดก็ก่อให้เกิดการเอาผิด การขอโทษได้

แต่สำหรับสังคมที่การเมืองที่ยังไม่พัฒนา ผู้อำนาจกระทำผิดต่อให้ถูกจับได้แต่ก็ทำหน้าซื่อไม่รับผิด ไม่เพียงเท่านั้นพวกประชาชนก็ยังหน้าด้านหนุนเชียร์ต่อ

น่าสนใจตรงที่สังคมแบบนี้ทั้งไอ้พวกผู้มีอำนาจกับมวลชนล้าหลังมักจะประกาศตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยก้าวหน้ามันเป็นเครื่องป้องกันทางจิตวิทยาของพวกมีปมด้อยอะไรที่ขาดมักจะชูอันนั้น ถ้าพวกไหนบกพร่องเรื่องประชาธิปไตยก็มักประกาศว่าตนเป็นนักประชาธิปไตยก้าวหน้านั่นแล

มหาประชาชนนับล้านที่ออกจากบ้านเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนล้นจากมัฆวานฯ-สะพานอรทัย ไปถึงผ่านฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงสนามหลวง ล้นสะพานปิ่นเกล้าออกมาเพื่อแสดงตนไม่พอใจพฤติกรรมของรัฐบาล การสอดไส้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นแค่ชนวนจุดระเบิดเป็นแค่ฟางเส้นสุดท้ายเพราะคนสะสมความอึดอัดไม่พอใจมาก่อนหน้า แต่ทว่าส.ส.และคนแวดล้อมรัฐบาลกลับบอกว่า คนที่ออกมานับล้านในวันนั้นเป็นแค่คนส่วนน้อย ไม่ได้คิดว่าตนเองกระทำบกพร่องอะไรเลยแม้แต่น้อย

บ้างก็ชี้ว่าคนที่ออกมานั้นหลงเชื่อลมปากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกหลอกให้หลงเชื่อเวทีนปช.โจมตีเฉพาะนายสุเทพและประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ประชาชนที่ออกมาจำนวนไม่น้อยที่ออกมาไม่ได้เพราะสุเทพ-อภิสิทธิ์ หากแต่ออกมาเพราะ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ โดยตรง

ต่อให้สุเทพ-อภิสิทธิ์หายไปจากโลกฉับพลันเชื่อเหอะว่าคนเหล่านี้จะยังอยู่ต่อ บอกแล้วไงว่าเขาไม่ได้เพราะสุเทพ แต่มาเพราะ (ไล่) ทักษิณต่างหาก

จนบัดนี้ส.ส.310 คนที่ร่วมกันยกมือผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งสอดไส้เอกสารที่ลงชื่อยื่นบรรจุ ตัดสิทธิ์การแสดงความเห็นของฝ่ายค้านและลักหลับคนไทยเอาพวกมากลากไปผ่านกฎหมายตอนตีสี่ยังไม่ขอโทษประชาชนคนไทยสักแอะ

ขนาดศาลรัฐธรรมนูญท่านชี้ว่า การสอดไส้เอกสารเปลี่ยนประเด็นเพิ่มญัตติ ลงคะแนนแทนกัน และตัดสิทธิ์การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านเป็นการกระทำผิด ทั้งส.ส.และพรรคเพื่อไทยก็ไม่แสดงท่าทียอมรับความผิด หนำซ้ำยังประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล ส.ส.ที่ถูกระบุชื่อว่าเสียบบัตรแทนคือนายนริศร ทองธิราชจากสกลนครก็ยังไม่ขอโทษ และไม่ยอมรับว่าตนทำ

ทั้งส.ส.และประธานรองประธานสภาฯ ก็ยังทำหน้ามึนไม่รู้สึกรู้สาว่าการใช้เสียงข้างมากปิดปากไม่ให้ฝ่ายค้านยื่นขอแปรญัตติ และไม่ให้อภิปรายเป็นเรื่องผิดบาปอะไร ทั้งๆ ที่นี่เป็นเรื่องใหญ่มากเป็นการทำลายหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่ว่า Majority Rule / Minority Right

คำว่า “Right” ที่แปลว่า “สิทธิ” นั้นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมประชาธิปไตย ถือกันว่าต่อให้ฝ่ายข้างมาก หรือผู้ถืออำนาจขนาดไหนก็ไม่สามารถล่วงละเมิด “สิทธิ” ที่บุคคลหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ครองอยู่ ยกตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในเคหสถานให้กับบุคคล ดังนั้นต่อให้นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. นายแจ๊ด นายเฉลิม หรือใครก็ตามก็ไม่มีอำนาจมาล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถานอันเป็น “สิทธิ์พื้นฐาน” ที่กฎหมายรับรอง ยกเว้นก็แต่มีอำนาจพิเศษที่มีกฎหมายยกเว้นเช่นการตรวจค้นโดยอำนาจศาล เป็นต้น

ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเกินไป ทุกฝ่ายมีอำนาจจำกัดทั้งสิ้นไม่ว่าฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล หรือกระทั่งองค์กรอิสระก็มีอำนาจจำกัด หลักการตรวจสอบถ่วงดุลคือหัวใจของประชาธิปไตย การทำหน้าที่ในรัฐสภาของผู้แทนประชาชนก็ชัดอยู่แล้วล่ะว่า Majority rule เพราะยกมือยังไงก็ชนะ แต่ก็จำเป็นต้องให้มีการคัดค้าน โต้แย้ง ก็เพื่อให้ประชาชนภายนอกได้รับรู้ การประชุมสภาต้องเปิดตลอดเวลายกเว้นประชุมลับบางเรื่องนี่เป็นหลักการว่ารัฐสภาต้องอยู่ในสายตาประชาชน และให้ฝ่ายค้านได้ตรวจสอบเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจ ท่านก็เลยกำหนดให้มีการแปรญัตติ การเปิดอภิปรายทั่วไป อภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ ขึ้นมา

แม้กระทั่งการตั้งกระทู้ก็คือการตรวจสอบนะครับ เพราะหากหน่วยงานงุบงิบๆ ไม่เปิดข้อมูลส.ส.อาจยื่นกระทู้ขอให้ตอบผ่านราชกิจจานุเบกษาให้เปิดเผยขึ้นมาตามกฎหมาย ส.ส.เพื่อไทยก็เคยกระทู้ให้เปิดข้อมูลการใช้งบประมาณของศอ.รส.กระชับวงล้อมเสื้อแดงชุมนุม นี่แหละคือ “สิทธิ” ของฝ่ายตรวจสอบที่ฝ่ายข้างมากละเมิดไม่ได้

พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงกองเชียร์อย่างเช่นกลุ่มนิติราษฎร์กลับมองว่าการตัดสิทธิ์ฝ่ายค้านไม่ให้อภิปราย ไม่ให้แปรญัตติเป็นเรื่องเล็กๆ สามารถใช้พวกมากลากไปตัด “สิทธิ” ของฝ่ายตรวจสอบได้ทั้งๆ นี่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างจงใจ ทำลายถึงขั้นหลักการพื้นฐาน หลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล Minority Right ในกระบวนการนิติบัญญัติ

พอศาลท่านชี้ว่าการทำแบบนี้ผิดพรรคเพื่อไทยไม่แยแส กองเชียร์ไม่สนใจ อันนั้นยังพอทำเนาแต่นักวิชาการที่เรียนมาสูงๆ อย่างนิติราษฎร์กลับหนุนเสริมมองไม่เห็น

มันก็เลยยังไม่มีการรับผิด ไม่มีการขอโทษ ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะพวกหน้าด้านหน้าหนาเฮโลสาระพาด้นกันไปนี่ยังไง

ผมเคยเขียนเรื่องทั้งส.ส.และส.ว.ของรัฐสภาอังกฤษถูกจับเข้าคุกรวดเดียวหลายคนมาแล้ว ขอกลับมาเล่าซ้ำเพื่อจะเทียบให้เห็นว่ามาตรฐานของสังคมที่พัฒนาแล้ว กับประเภทล้าหลังที่ยังจมกับการชูธงแดงประกาศวาทกรรมก้าวหน้ารักประชาธิปไตยน่ะแตกต่างกันขนาดไหน

เราต้องยอมรับกันนะว่าผลประโยชน์เอย การทุจริตเอยมันเป็นสันดานดิบหากมีช่องได้มาง่ายๆ ไม่เลือกว่าสังคมอเมริกัน อังกฤษ จีน หรืออาฟริกา ระบบของสังคมที่ดีจึงต้องเข้ามาควบคุม ถ้าระบบสังคมดีก็จะแก้ปัญหาได้ แต่หากระบบสังคมไม่ดีวัฒนธรรมด้านการรับผิดชอบต่อสาธารณะไม่ดี ก็จะมีพวกหน้าด้านชูคอมีคนหนุนเชียร์กันต่อ อย่างอังกฤษที่ยกตัวอย่างให้ดูว่าเขาเอาส.ส./ส.ว.เข้าคุกกันแบบไหน ขอโทษประชาชนกันยังไง

รัฐสภาอังกฤษมีเรื่องอื้อฉาวทำให้ประชาชนของเขาโกรธแค้นอย่างมากเมื่อปี 2009 (2552) สืบเนื่องจากหนังสือพิมพ์ The Telegraph ได้ตีพิมพ์รายละเอียดบัญชีขอเบิกค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษซึ่งประกอบด้วย House of Commons (สภาล่าง) กับ House of Lords (สภาสูง) ที่ขอเบิกไปเกินจริง บ้างก็เมคขึ้นมาไม่สมเหตุผล

สิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษอย่างเป็นทางการมีมากกว่ารัฐสภาไทย เพราะรัฐสภาไทยมีแค่เงินเดือนแสนกว่าบาท สิทธิการมีผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการ ผู้ติดตาม แล้วก็สิทธิเดินทางฟรี ฯลฯ เป็นหลัก ส่วนอังกฤษนอกจากได้เงินเดือนและการเดินทางฟรีแล้ว ยังมีสิทธิ์เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นซึ่งอาจจะติดหรูบ้างให้สมฐานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภา ต้นฉบับใช้คำว่า Including the cost of accommodation, "wholly, exclusively and necessarily incurred for the performance of a Member’s parliamentary duties. ส.ส.บางคนมีถิ่นฐานต่างจังหวัดก็อาจจะหาห้องเช่าหรูหราในเขตที่ใกล้กับรัฐสภา ยังสามารถเบิกจ่ายการตกแต่งห้อง ซ่อมแซมได้ทั้งหมด

ซึ่งนี่แหละคือจุดที่ส.ส./ส.ว.อังกฤษซึ่งประพฤติหรูมานานสบช่องกระทำการทุจริตปิดบังเบิกจ่ายแบบไม่ควรทำ เช่น มีบ้านอยู่แล้วก็หาเรื่องเบิกค่าเช่าบ้านตัวเอง บ้างก็ยกเครื่องตกแต่งใหม่ทั้งหลังแล้วยื่นขอเบิกจ่ายแค่ว่าจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ สิทธิประโยชน์เขาให้รวมค่าอาหารด้วย ส.ส.บางคนก็ขอเบิกค่าอาหารเกินไปยังกะอาหารพระราชา ฯลฯ

พอสื่อตีพิมพ์เรื่องเหล่านี้ชาวอังกฤษก็โกรธแค้นขึ้นมากดดันจนทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ในขณะนั้นออกมา “ขอโทษ” สาธารณะในนามของนักการเมืองทั้งรัฐสภา เดวิด คาเมรอน นายกฯคนปัจจุบันที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านออกมากล่าวถึงความผิดพลาดของระบบที่เป็นอยู่และขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนออกมาขอโทษประชาชน จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะมาตรวจสอบและเอาผิดสมาชิกสภา บางคนถูกสั่งให้คืนเงิน บางคนถึงขนาดถูกแจ้งอาญา บางคนถูกจับเข้าคุก

เกิดการเสื่อมเสียขนานใหญ่ต่อระบบรัฐสภาจนต้องมีการปฏิรูประบบการเบิกจ่ายและสิทธิประโยชน์ เปิดเผยข้อมูลการเบิกจ่ายให้สาธารณะนับจากนั้นเป็นต้นมา

ผมลืมเล่าไปหน่อย อังกฤษเขาเพิ่งมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่า Freedom of Information Legislation 2000 ประกาศใช้เมื่อปี 2543 หลังประเทศไทยประกาศใช้ด้วยซ้ำไป กฎหมายนี้กำหนดให้รัฐสภาเปิดข้อมูลต่างๆ ในปี 2005 แต่รัฐสภาทำเพิกเฉยตีความว่าข้อมูลอื่น ระหว่างนั้นก็มีนักข่าว 2 คนต่างคนต่างยื่นขอดูข้อมูล คณะกรรมการเปิดข้อมูลเขาก็อนุญาตให้เปิด แต่พวกส.ส.กลับไม่อยากให้เปิดดู มีส.ส.คนหนึ่งเสนอญัตติแก้กฎหมายแล้วชวนส.ส.ข้างมากโหวตว่า การใช้จ่ายของส.ส./ส.ว.ไม่รวมอยู่ในกฎหมายข้อมูลข่าวสารประชาชนมาขอดูไม่ได้ ดีที่สภาสูงไม่ให้ผ่านเพราะกระแสไม่พอใจของประชาชนพุ่งสูงขึ้น ... คุ้นๆ มั้ยครับกับพวกมากลากไปลักหลับพอประชาชนไม่พอใจสภาสูงก็ล้มกฎหมายนั้น

แม้จะคุ้นๆ คล้ายกับของประเทศไทยเราอยู่บ้าง แต่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็คือคุณภาพของนักการเมืองเขาส่วนใหญ่ยอมที่จะรับผิดชอบต่อสาธารณะ หัวหน้าพรรครัฐบาล หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านออกมาขอโทษประชาชน ยอมให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระ เปิดทางให้เอาผิดเอาส.ส.เข้าคุก แล้วก็ยอมปฏิรูปตัวเอง

ส่วนของไทยกระทำผิดแค่ไหน พวกมากลากไปยังไงก็ทำหน้ามึนไม่รู้ไม่ชี้ เขาให้รับผิดก็ยังตะแบงกว่ากูไม่ผิด ศาลต่างหากที่ผิด

ในเมื่อหัวขบวนทั้งยิ่งลักษณ์ จารุพงศ์หัวหน้าพรรค ส.ส.ใหญ่น้อย ประธานสภาฯ ต่างพากันไม่รับผิด ไม่แสดงความรับผิดชอบ มันก็ชัดเจนว่านักการเมืองของประเทศนี้มันล้าหลังยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งทำลายหลักการระบบระบอบของสังคม ไม่มียางอายไม่มีการเกรงกลัวละอายต่อความผิดบาป

ประชาธิปไตยดีอย่างที่อนุญาตให้ประชาชนแสดงออกอย่างเปิดเผย “ไล่” รัฐบาลได้

การรับผิดชอบต่อประชาชนคือต้องออกไปตามครรลองเช่นยุบสภา ลาออก แต่ถ้าไม่ออกประชาชนก็ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงๆดังๆ ไล่ออกไปแล้วให้อีกฝ่ายขึ้นมาแทนแต่หากอีกฝ่ายกระทำไม่ถูกต้องอีกก็ต้องไล่ลงไปอีก จนกว่าต่างเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดีขึ้นเหมือนตะวันตกเขาขอโทษและยอมรับผิดกับประชาชน นี่เป็นมาตรการควบคุมระหว่างกันที่เป็นหลักสากลที่ส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน

ยกเว้นนักการเมืองไทยนี่แหละประหลาดพิกล พฤติกรรมล้าหลังเป็นเผด็จการรัฐสภาแต่ยังหน้าด้านประกาศตัวเองเป็นพวกก้าวหน้าประชาธิปไตยห่าเหวของมันต่อไปได้อีก ประชาชนออกมาไล่แล้วรีบรับผิดแล้วรีบลงไปซะอย่าให้เปลืองแรงประชาชนเลย ...ชิ้ว !
กำลังโหลดความคิดเห็น