xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคอรัปชันอยู่คู่สังคมไทย…นานไปไหม ?

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

การเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เรียกกันว่า กฎหมายล้างผิดคนโกง กฎหมายโจร ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง มีประชาชนทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุม เป็นการแสดงเจตนารมณ์และเป็นประชามติจากประชาชน เป็นการใช้สิทธิโดยตรงประชาชน เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการปกครองระบอบประชาธิไตย เมื่อไม่สามารถใช้สิทธิตามเจตนาของประชาชนผ่านตัวแทนหรือ ส.ส. ได้

พ.ร.บ.ฉบับลักหลับผ่านสภาตอนตีสี่นี้ นอกจากจะล้างผิดเหมาเข่งให้กับแกนนำในเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ล้างผิดให้แก่ฆาตกรที่ฆ่าประชาชนและทหารในการชุมนุมทางการเมือง แล้วยังจงใจเจตนาล้างผิดนักโทษหนีคุกอย่างทักษิณ ชินวัตร กวาดรวม ความผิดไปไกลถึงปี 2547 ซึ่งมีคดีทุจริตคอรัปชันทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว และคดียังคาอยู่ในศาลอีกจำนวนมาก จะได้รับการนิรโทษล้างผิดไปด้วย

การคัดค้านต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของคนไทยครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญในการคัดค้านต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและต่อต้านการทุจริตคอรัปชันด้วย

ปัญหาคอรัปชันฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน ภายใต้วัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก หวังพี่งพาคนมีอำนาจการเมือง อำนาจเงิน มีบารมีอิทธิพลเหนือกว่า

ปัจจุบันปัญหาคอรัปชันมีความซับซ้อนมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีทั้งรูปแบบการคอรัปชันแบบเก่า เช่นการรับสินบน รับเงินใต้โต๊ะ กินตามน้ำ มาจนถึงการคอรัปชันแบบใหม่ที่ส่วนใหญ่เกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนตามโครงสร้างเศรษญกิจการเมืองแบบผูกขาด เป็นการทุจริตคอรัปชันของนักการเมือง ข้าราชการกลุ่มทุน รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจครอบงำข้อมูลข่าวสาร

การทุจริตคอรัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน มีรูปแบบวิธีการมากมาย เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็นการฉกฉวยเข้าไปถือหุ้นของนักการเมืองและพรรคพวก การฉกฉวยทรัพยากรของประเทศชาติมาเป็นของส่วนตัวและครอบครัว การกำหนดนโยบายหรือการตัดสินใจโดยใช้อำนาจหน้าที่ตำแหน่งของนักการเมืองและข้าราชการมีผลได้ผลเสียส่วนตัวและพวกพ้อง การใช้อิทธิพลอำนาจทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ด้วยการปั่นหุ้น การปกปิดข้อมูลและให้ข้อมูลเท็จในการบริหารหน่วยงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การทุจริตคอรัปชันโครงการเมกกะโปรเจ็กต์จากเงินกู้ และเงินงบประมาณจากภาษีประชาชนในกองทุนต่างๆเพื่อนโยบายประชานิยม ฯลฯ

ปัจจุบันการใช้อิทธิพลอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม เป็นอาชญากรรมวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ มีการใช้เงินจำนวนมากซื้อเสียงซื้อตำแหน่ง เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐของนักการเมืองและข้าราชการ แล้วถอนทุนคืนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยโดยใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในการทุจริตคอรัปชันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน การศึกษาน้อย ความรู้น้อย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่ำ ภายใต้ระบบการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงประชาชน ขาดธรรมาภิบาล ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการในหน่วยงานของรัฐ

การสำรวจโพลล์หลายสำนักชัดเจนว่า เยาวชนไทยเห็นด้วยกับการคอรรัปชั่น เห็นว่าการคอรัปชันเป็นเรื่องธรรมดา ผลสำรวจสะท้อนอาการโคม่าของโรคมะเร็งร้ายนี้ ประชาชนกว่า 65% ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชันหากตนเองได้ประโยชน์ด้วย

ผลการศึกษาขององค์กรนานาชาติพบว่า 1 ใน 6 ของคนไทยยอมรับว่าเคยมีส่วนจ่ายสินบนหรือร่วมมือกับการทุจริตคอรัปชันของหน่วยงานรัฐ พรรคการเมืองไทยเป็นต้นตอการคอรัปชันมากที่สุด และสื่อมวลชนไทยไม่สามารถเป็นกระจกสะท้อนคอรัปชันได้

นักลงทุนต่างชาติที่นายกยิ่งลักษณ์อ้างว่าออกไปเชิญชวนเขามาลงทุนนั้น ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน พวกนายทุนต่างชาติ เขาเป็นห่วงปัญหาคอรัปชันในเมืองไทยมากที่สุด ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงในการต่อต้านคอรัปชันในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาทุจริตคอรัปชันในเมืองไทยยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่รุนแรงหนักขึ้นทุกวัน

สหประชาชาติตระหนักว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชันเป็นอาชฌากรรมร้ายแรงของสังคมโลก มีผลกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจโลก จึงได้จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ.2003 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 140 ประเทศที่ลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับนี้

องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) สำรวจทัศนะจากกลุ่มนักธุรกิจและประชาชนทั่วไปเป็นประจำทุกปี ประเทศไทยมีภาพลักษณ์การคอรัปชันสูงมากมาโดยตลอด ผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ จัดอันดับประเทศที่มีการคอรัปชัน 16 ประเทศในเขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยมีคะแนนทุตริตคอรัปชันสูงเป็นอันดับที่ 7 ในขณะที่กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ครองอันดับหนึ่งถึงสาม ตามลำดับ

ล่าสุด การจัดอันดับขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์การคอรรัปชั่นประจำปี 2555 ประเทศไทยมีคะแนนความโปร่งใสเพียง 37 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 88 จาก 176 ประเทศทั่วโลก

เรียกว่าในสายตาต่างชาติ ประเทศไทยไม่น่าลงทุน สำหรับคนไทย ประเทศไทยสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล ที่จะเอาไปพัฒนาประเทศให้กับการคอร์รัปชัน เงินเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือใครบ้างก็ไม่รู้ แถมก็ยังจับกุมหรือเอาผิดได้ยากเหลือเกิน แม้ว่าเราจะมีองค์กรอย่าง ปปช. คตส. และอีกหลายหลายองค์กรที่มีหน้าที่หรือมีความเกี่ยวข้องในการจัดการจับกุมหรือปราบปรามการคอร์รัปชันแต่ละปีงบประมาณของประเทศไทยถูกคอรัปชันเอาไปกว่า 300,000,000,000 บาท(สามแสนล้าน)เลยทีเดียว

อย่างในปีงบประมาณ 2556 ประเทศไทยมีรายจ่าย 2,400,000 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน ครุภัณฑ์ สิ่งปลูกสร้าง และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คิดเป็น 942,608ล้านบาท โดยผู้ประกอบการประมาณมูลค่าของการทุจริต คอร์รัปชันไว้ที่วงเงินราว 25 – 35 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และหากลองคิดเป็นเม็ดเงินดูก็จะประมาณ 235,652 – 329,912.8 ล้านบาท

ประเทศไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ผลประโยชน์ความมั่งคั่งของประเทศชาติถูกสูบเข้ากระเป๋านักการเมืองข้าราชการ กลุ่มทุนสามานย์ บางกลุ่มบางคน ถ้าเอาทรัพยยากรและเงินที่หายไป มาพัฒนาประเทศแล้วละก็ประเทศไทยคงสวยงามน่าอยู่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และคุณภาพชีวิตคนไทยคงดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

สังคมไทยต้องรีบเปลี่ยนทัศนคติผิดๆ ต้องปลูกฝังศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรม การทุจริตการโกงเป็นเรื่องผิด สังคมต้องรังเกียจประณามคัดค้านเปิดโปงต่อต้านการคดโกงการทุจริตคอรัปชันทุกรูปแบบ ครอบครัว ระบบการศึกษาต้องจริงจังกับการสร้างค่านิยมคุณธรรมจริยธรรมในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงระดับอุดมศึกษา

ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่แท้จริง การบริหารของภาครัฐต้องมีธรรมาภิบาล ต้องยุติธรรม ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารความจริงอย่างตรงไปตรงมา

ภารกิจทั้งหมดนี้เป็นของคนไทยทุกคน เรื่องหนึ่งในวาระแห่งชาติ เรื่องหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทย คือการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ล้างผลาญทำลายประเทศไทยจนไม่เหลืออะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น