xs
xsm
sm
md
lg

ถวายความอาลัยพระสังฆราช และการรักษาเสาหลักของชาติ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระสังฆราชเพิ่งทรงฉลองพระชันษา 100 ปี ไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ โดยสมด็จพระญาณสังวรทรงถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษาถึง 100 ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 30 วัน และ รัฐบาลประกาศให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์เป็นเวลาเท่ากัน คือ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม ถึงวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายนนี้

ส่วนเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกิจการสถานบันเทิงนั้น จากตอนแรกที่มีคำถามกันว่า ในช่วง 30 วันที่มีการไว้ทุกข์กันนี้จะมีเหล้าขายหรือไม่ หรือว่าจะต้องปิดสถานบริการหรือเปล่า ก็มีความชัดเจนออกมาว่า ทางการไม่ได้บังคับว่าจะต้องห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือให้หยุดให้ปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิง เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ “ลด” กิจกรรมรื่นเริง ซึ่งก็ได้รับการขานรับอย่างสมัครใจ เช่น บางที่มีการงดกิจกรรมฮาโลวีนปาร์ตี้สำหรับปีนี้ไปก่อน เพื่อร่วมถวายความอาลัย

ซึ่งแม้เป็นการขอความร่วมมือมิใช่การบังคับ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ฉลาดและมีความเข้าใจในวัฒนธรรมไทย แม้จะไม่มีประกาศดังกล่าวออกมาก็ตาม แต่ในสถานการณ์ที่ประชาชนในสังคมส่วนใหญ่นั้นอยู่ในระหว่างการแสดงออกซึ่งความเศร้าโศกเสียใจที่ประเทศได้สูญเสียพระเถระชั้นสูงสุด เหมือนประมุขแห่งสงฆ์ของประเทศไป การจัดกิจกรรมรื่นเริงใหญ่โตจนออกนอกหน้านั้นก็ออกจะไม่งาม และเผลอๆ จะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้ผู้จัดเสียด้วย

ดังนั้นในช่วงเวลา 30 วันนี้ แม้เขาไม่ห้ามการกินดื่มเฉลิมฉลอง แต่ก็ขอให้ทำอย่างพอสมควรโดยสงบ ไม่ให้ดูเป็นการรื่นเริงเถิดเทิงเกินไปจนเหมือนไม่สนใจบรรยากาศสังคม

แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่เคยได้รับการบัญญัติจดจารไว้อย่างเป็นทางการให้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็ได้รับรองถึงความเป็นพิเศษของพระพุทธศาสนาไว้ว่าเป็นศาสนาสำคัญและมีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ รวมทั้งองค์พระประมุขรัฐ คือพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งเป็นทางออกที่สวยงามกว่าการกำหนดไว้ชัดเจนขนาดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะจะทำให้ตีความไปได้ว่า ประเทศไทยเป็นรัฐศาสนาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอันเปราะบางกับผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทย

อันที่จริงแล้ว การกำหนดศาสนาประจำองค์ประมุขรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวิธีการรับรองความเจริญมั่นคงของศาสนาที่แยบคายได้ผลมากกว่าการกำหนดศาสนาประจำชาติเสียอีก ดังจะเห็นได้ว่า การเผยแผ่ศาสนาในอดีตนั้น มีจุดหมายประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงศาสนาของตัวประมุขรัฐให้ได้ หากทำให้ประมุขรัฐเปลี่ยนไปนับถือศาสนาใดได้ ศาสนานั้นก็จะได้ตั้งรกรากในแผ่นดินนั้นแทนศาสนาเดิมที่เคยอยู่ อันนี้ไปศึกษาดูจากประวัติศาสตร์ของหลายๆ อาณาจักรได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญเช่นในฉบับปัจจุบันนี้ กำหนดให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ในมาตรา 2 และให้องค์พระประมุขนั้นทรงเป็นพุทธมามกะตามมาตรา 9 นั่นก็เท่ากับเป็นหลักประกันว่า พระพุทธศาสนาจะธำรงสืบไปในประเทศไทยต่อไปอย่างแน่นอน

อย่างน้อยก็ตราบที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับอยู่

หากมองในทางสังคมแล้ว พระพุทธศาสนานั้นก็เป็นค่านิยมทางจิตใจ และเป็นศีลธรรมเครื่องกำกับพฤติกรรมของชาวไทยอยู่ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ในอดีตนั้นมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีจิตใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น นั่นก็เป็นผลมาจากพระพุทธศาสนาเช่นกัน คนไทยแต่เดิมมา จึงมักจะไม่ทำร้ายกันอย่างโหดร้าย หรือเอาเปรียบกันเกินสมควร เนื่องจากความกลัวบาปกลัวกรรม หรือแม้จะไม่มีระบบรัฐสวัสดิการเหมือนเช่นในตะวันตก แต่คนยากจนในประเทศไทยก็ไม่ได้ลำบากจนเกินไปเหมือนคนยากจนในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากคนไทยเรานิยมสงเคราะห์ผู้ที่ด้อยกว่า ซึ่งแม้จะเป็นการทำบุญตามค่านิยมทางศาสนา แต่ผลลัพธ์ในที่สุดออกมา ก็คือการบรรเทาความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้อยู่ดี

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง “จิตใจ” คนไทยแต่เดิม ที่เร็วๆ นี้เพิ่งเป็นคลิปฮือฮาไปทั่วโลก คือโฆษณาของบริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของเด็กที่ขโมยยาไปให้แม่แล้วถูกจับได้ แต่เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวข้างๆ นั้นก็มาช่วยจ่ายค่ายาให้ ต่อมาเมื่อเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวผู้มีพระคุณนั้นเจ็บป่วยเจียนถึงแก่ชีวิตในอีก 30 ปีต่อมา เด็กชายคนนั้นผู้โตมาเป็นแพทย์ได้จากพระคุณของชายขายก๋วยเตี๋ยวคนนั้น ก็กลับมาช่วยรักษาให้โดยถือว่าค่าใช้จ่ายหลักแสน ก็ได้รับการจ่ายล่วงหน้ามาแล้ว ด้วยยาและก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 30 ปีก่อนนั่นเอง

แม้เป็นโฆษณา ก็ทำให้คนทั้งโลกหลั่งน้ำตาได้ เพราะนี่แหละเป็นการที่แสดงถึงจิตใจที่เมตตากรุณาของคนไทย ที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา

ในปัจจุบันนี้ นอกจากพระพุทธศาสนาจะถูกสั่นคลอนจากการประพฤติปฏิบัติของนักบวชนอกรีตแล้ว ค่านิยมบางอย่างของคนรุ่นใหม่ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง คนรุ่นใหม่ที่กลับไปรับวาทกรรมของคอมมิวนิสต์ยุคเก่าที่กล่าวหาว่าศาสนาเป็นยาเสพติด หรือยากล่อมประสาท พยายาม “หลีกเลี่ยง” ศาสนา โดยโจมตีว่าเป็นเรื่องของการครอบงำความคิดความเชื่อ สมควรที่จะแยกทิ้งไว้ในวัด อย่าออกมาเพ่นพ่านในโลกฆราวาส

ค่านิยมการประกาศตัวว่าเป็น “คนไม่มีศาสนา” กลายเป็นเรื่องโก้เก๋ของคนรุ่นใหม่ที่อยากแสดงตนว่าหัวก้าวหน้า บางทีไม่นับถือไม่ว่า ยังแสดงการลบหลู่ล้อเลียนศาสนาเพื่อโชว์ความ “ล้ำ” หรือ “หลุดกรอบ” ของตัวเองเข้าไปอีก ซึ่งเห็นได้มากขึ้นในเครือข่ายสังคมต่างๆ อย่างใน Facebook ซึ่งมีทั้งพวกที่ตั้งเพจขึ้นมาล้อเลียนพระ หรือล้อเลียนศาสนา มองศาสนาเป็นเรื่องงมงายไปเสียหมด

จึงอาจถือเป็น “การบ้าน” ให้ผู้มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จะต้องจับตาระแวดระวัง ทั้งแนวโน้มหรือค่านิยมดังกล่าว รวมทั้งป้องกันระมัดระวังไม่ให้ใครมาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รับรองความเจริญยั่งยืนของพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยไว้ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น