คำว่า Hate Speech (เฮทสปีช) หรือการสื่อสารความเกลียดชัง คนส่วนใหญ่อาจเพิ่งเคยได้ยิน แม้จะยังไม่มีใครให้คำนิยามออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเราก็คงได้เห็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนในสังคมที่ล้วนแล้วแต่มีชีวิตอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เลยเถิดไปถึงการเสียดสี ด่าทอ มองอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนคนละพวกอย่างถึงพริกถึงขิงแทบทุกวัน
พลันให้นึกถึงเมื่อวันก่อน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” โดยแบ่งออกเป็นสื่อออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์
ที่น่าสนใจคือ เฮทสปีชในสื่อออนไลน์ ผศ.พิรงรอง รามสูต ซึ่งวิจัยหัวข้อย่อย “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” ให้ความเห็นว่า นิยามการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน แต่ในต่างประเทศ ไม่ได้หมายถึงแค่คำพูดอย่างเดียว แต่รวมถึงการแสดงออกทุกรูปแบบ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจติดตั้งมาแต่ดั้งเดิมหรือภายหลัง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานีที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้
เฮทสปีชต้องมีลักษณะของการนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่จนผวา ในพื้นที่ออนไลน์ของไทยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่กระดานสนทนา (เว็บบอร์ด), เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวิดีโออย่างยูทิวบ์ ซึ่งมีความรุนแรง 4 ระดับ ตั้งแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สร้างความเข้าใจผิด ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และกำจัดกลุ่มเป้าหมาย
จากการสำรวจพบว่า กลุ่มเป้าหมายหรือฐานความเกลียดชังของการใช้เฮทสปีชมากที่สุด คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งการใช้เฮทสปีชพบว่าร้อยละ 37.6 ใช้ในเฟซบุ๊ก, ร้อยละ 53.0 ใช้ในเว็บบอร์ด และร้อยละ 75.8 ใช้ในยูทิวบ์ โดยระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกล่าวหา กล่าวโทษรุนแรง ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน
ส่วนการสำรวจสื่อวิทยุโทรทัศน์ อ.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ก็อธิบายว่า เฮทสปีชมักจะเกิดจากการแสดงความเห็นต่อท้ายข่าว จากผู้ดำเนินรายการ หรือผู้เล่าข่าว ไม่ใช่จากตัวข่าวเอง นอกจากนี้ยังพบในรูปแบบอื่นๆ เช่น การปล่อยเสียงสัมภาษณ์แหล่งข่าว และการให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาในรายการ โดยวัตถุประสงค์ในการใช้เฮทสปีชในรายการข่าวมักเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ส่วนรายการบันเทิง ส่วนใหญ่เป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างเดียว และมักเกี่ยวกับอคติเพื่อเพศสภาพหรือชนชาติ
เขากล่าวว่า พบวัตถุประสงค์เพื่อให้กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นขั้นรุนแรงที่สุดของการใช้เฮทสปีชในสื่อทางเลือกใหม่ ส่วนในสื่อกระแสหลักพบอยู่บ้าง จากการแสดงความคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการ ส่วนกลุ่มเป้าหมายของการใช้เฮทสปีชทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่ มักเป็นลักษณะกลุ่มความคิดทางการเมือง ที่น่าสนใจ คือสื่อทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนบางแห่ง มองว่าเฮทสปีชเป็นสิ่งจำเป็น ต้องด่าแรงๆ สปอนเซอร์ถึงจะเข้ามากๆ ขณะที่ทีวีดาวเทียมบางช่อง ก็ไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองเป็นสื่อของมวลชน แต่เป็นของกลุ่มตัวเองเท่านั้น
ขณะที่การวิจัยสื่อสิ่งพิมพ์ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ เขาก็ไปสำรวจหนังสือพิมพ์รายวันมาสองฉบับ คือไทยรัฐ กับไทยโพสต์ นิตยสารข่าวสามฉบับ คือ มติชนสุดสัปดาห์ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ วอยซ์ออฟทักษิณ และนิตยสารบันเทิงอีกสองฉบับ คือ คู่สร้างคู่สม และกอสซิปสตาร์ พบว่านิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณมีสัดส่วนเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังมากที่สุด ถึงร้อยละ 42.11 ขณะที่ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีสัดส่วนรองลงมาร้อยละ 28.57
ที่น่าตลกก็คือ มติชนสุดสัปดาห์เขาให้คะแนนน่ารักมากครับ มีสัดส่วนเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังเพียงแค่ร้อยละ 11.43 หรือหากจัดอันดับก็อยู่ในอันดับ 5 เท่านั้น พลันให้นึกถึง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศหยุดซื้อมติชน เพราะเรื่องจากปกเนื้อหาสั้นมาก ไม่เต็มหน้า ไม่มีสาระรายละเอียด มองว่ากองบรรณาธิการไม่ทำการบ้าน ไม่ค้นคว้า ไม่มีหลักเกณฑ์ คิดเอาเอง เขียนเอาเอง ตามจินตนาการของคนเขียน เป็นจินตนาการที่สั้นมากๆ ด้วย ส่วนหนังสือพิมพ์หัวสีอีกฉบับ ถ้าได้อ่านทุกวันก็พาดหัวชนิดที่ว่าฉีกตำราสื่อสารมวลชนเห็นๆ ยังให้อันดับรั้งท้าย
อันที่จริงการศึกษาเรื่องการสื่อสารความเกลียดชัง เคยมีงานวิจัยออกมาบ้างพอสมควร อย่างโครงการมีเดียมอนิเตอร์ก็เคยเปิดเผยรายงานการศึกษาเฮทสปีชในเว็บไซต์การเมืองและทีวีดาวเทียมช่องการเมืองมาแล้ว ที่น่าสนใจคือเขาใช้วิธีวิเคราะห์ลักษณะการใช้เฮทสปีชออกมา 3 รูปแบบ ได้แก่
• การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Dehumanized) คือ การเหยียดหยามหรือเปรียบเทียบคนกลุ่มหนึ่งๆ กับสิ่งที่น่ารังเกียจ ต้อยต่ำ ด้อยคุณค่า ไร้สิทธิ พบทั้งสิ้น 4 ลักษณะ ได้แก่ เปรียบเทียบกับสัตว์ เช่น ควายแดง พรรคแมลงสาบ, เหยียดชนชั้น เช่น ไพร่ ขี้ข้า ทาส, เปรียบเทียบกับอมนุษย์ เช่น ผี เปรต ซอมบี้ อสูรกาย และเหยียดเชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ของฝ่ายตรงข้าม เช่น คนเหนือ คนอีสาน คนกรุงเทพฯ คนใต้ ฯลฯ
• การลดคุณค่า (Devalued) คือ การกล่าวโจมตี การด่าทอ กลุ่มคน ด้วยคุณค่าด้านลบ มีจุดประสงค์เพื่อลดทอนความสำคัญ ลดทอนคุณค่าของตัวตน ค่านิยม การกระทำ และอุดมการณ์ทางการเมืองของคนกลุ่มดังกล่าว เช่น การด่าทอว่าโง่เขลา ชั่วร้ายเลวทราม โหดเหี้ยมอำมหิต ขี้โกหก ฯลฯ พบทั้งสิ้น 9 ลักษณะ ได้แก่ ชั่วร้าย/โหดเหี้ยม, โง่เขลา, ขี้โกหก, เห็นแก่เงิน, ขี้ขลาด, ขี้โกง, น่าขยะแขยง/น่ารังเกียจ, บ้า/เสียสติ, หน้าด้าน ฯลฯ
• การชี้นำสู่ความรุนแรง (Threat) คือ การแสดงออกที่อาจนำไปสู่การปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง เช่น การข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย การกล่าวปลุกปั่นโดยมุ่งหวังให้เกิดความรุนแรง การต่อสู้ การปะทะ ฯลฯ
ทีนี้หลังผลการวิจัยออกมา ก็มีคนส่วนหนึ่งมองว่า การวิจัยเหล่านี้เป็นการมองด้านเดียวหรือไม่ อย่างความเห็นในเว็บบอร์ดการเมืองแห่งหนึ่ง มองว่า ต้องดูเหตุจูงใจของการผูกใจเจ็บเหล่านั้นด้วย เช่น การเผาศาลากลาง การคอร์รัปชัน การใช้อำนาจทางการเมืองโดยไม่บริสุทธิ์ใจ ส่วนคนที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นควาย เป็นเพียงปลายเหตุ ถ้าไม่มีการชุมนุม การใช้ความรุนแรง เผลอๆ ก็ไม่มีคำพูดเหล่านั้นเลย
อีกความเห็นหนึ่งก็มองว่า ถ้าเรื่องสร้างความเกลียดทางทีวีดาวเทียม มีส่วนทำให้คนเกลียดชังกันได้ แต่การแสดงออกทางอินเทอร์เน็ต ไม่มีผลต่อความเกลียดชัง แต่การเกลียดชังกันมันมาจากการแสดงออกในการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งชาวบ้านเห็นได้ทางสื่อทุกสื่อ ไม่ว่า ฟรีทีวี หรือ ทีวีดาวเทียม ในอินเทอร์เน็ต เอาข้อมูลข่าวสารจากสื่อมาลงเท่านั้น และการอ้างความเกลียดชังของคนในอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงปลายเหตุ ไม่ได้หาสาเหตุว่าทำไมคนถึงได้โพสต์แบบนั้น
ในโลกอินเทอร์เน็ต บ่อยครั้งเราจะเห็นเฮทสปีชในรูปแบบการโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก ยิ่งเฟซบุ๊กซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดเผยความเป็นตัวตนของตัวเอง ครั้งหนึ่งพี่ในเฟซบุ๊ก เคยอธิบายให้ผมฟังทำนองว่า เดี๋ยวนี้คนเราพยายามจะเป็นฮีโร่ด้วยการใช้คำพูดแรงๆ ไปจนถึงการแสดงออกที่รุนแรง ถ้าไม่พูดแบบเข้าข้างใคร คนกันเองตอนแรกๆ ก็ดีมาก แต่มาหลังๆ เริ่มแรงขึ้น คงเพราะเริ่มมีพวก มีก๊กมีเหล่า เริ่มเก่ง บางคนเริ่มกร่างก็มี
“แล้วพอยิ่งมีเฟชบุ๊ก คราวนี้ไปกันใหญ่ คนเราก็เริ่มรู้สึกก๋ากั่นหนักขึ้น ยิ่งมีเพื่อนเยอะ คนคลิกไลค์เยอะ ยิ่งแรงขึ้น อยากด่าใครด่าเลย ไม่ต้องกลัวเกรงอะไรใดๆ ทั้งสิ้น” พี่เขาอธิบาย
ขณะที่เพื่อนผมคนหนึ่ง ก็แสดงความคิดเห็นว่า เฮทสปีชทำกันหมดทุกฝ่าย ทำกันจนไม่ได้เพื่ออุดมการณ์ แต่กลายเป็นทำเพื่อเสริมตัวตนของตัวเอง ปกป้องตัวตนของตัวเองทั้งนั้น ท้ายที่สุดก็ไม่ได้สนใจว่าประเทศจะย่อยยับหรือเปล่า เหลือเพียงตัวกูของกูเท่านั้นที่สำคัญ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ไว้อาลัยให้กับวิบากกรรมที่บรรพชนทำมา ไว้อาลัยให้กับคนรุ่นใหม่ที่ด่าว่าคนรุ่นก่อน แต่ตัวเองก็ไม่ได้ต่างกับเค้า”
โดยส่วนตัวผมนึกถึงตอนที่เรียนวิชาการสื่อสารเพื่อมนุษยสัมพันธ์ ในตำราระบุไว้ว่า ลักษณะทั่วไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ อิจฉาริษยา ไม่ชอบเห็นคนอื่นดีกว่าตน, มีสัญชาตญาณแห่งการทำลาย, ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง, มีความต้องการทางเพศ, หวาดกลัวภัยอันตรายต่างๆ, กลัวความเจ็บปวด, โหดร้าย ชอบซ้ำเติม, ชอบความสะดวกสบาย มักง่าย ไม่ชอบระเบียบและการถูกบังคับ และชอบความตื่นเต้น ชอบการผจญภัย
หากจะยกกรณีเฮทสปีชเข้ากับหลักจิตวิทยา การใช้คำในลักษณะนี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) ในเมื่อหาเหตุผลเข้าข้างตนเองแล้วก็ยังพยายามยืนยันว่าเราดีกว่าคนอื่น ด้วยการโทษผู้อื่น จึงหาทางใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้นมา เพื่อสร้างปมเด่นใหม่ขึ้นมาและชดเชยข้อบกพร่องของตนเองไปในตัว และยิ่งสังคมออนไลน์เป็นการคุยกันผ่านตัวอักษรแบบไม่เห็นหน้า และมีอีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนในโลกอินเทอร์เน็ต จึงทำให้เกิดความคึกคะนองในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยความก้าวร้าวมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เพื่อนรุ่นน้องผมเคยพูดว่า การเอาด่าอย่างเดียวมันเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว พูดไปสังคมจะมองแบบเดิมๆ เมื่อแก่ตัวไปก็จะรู้เองว่า ที่คนเขาไม่ชอบก็เพราะเหมือนแค่เราสนองความต้องการตัวเอง ไม่จรรโลงสังคม ไม่ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น ทางที่ดีก็ควรนำเสนอทางออกของปัญหาพ่วงไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เสนอไปจะบอกได้ว่าคิดมาดี รอบคอบแล้วหรือยัง ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแนวคิดที่เราว่าดี แต่เจือปนไปด้วยความก้าวร้าว จะตกเหวลงไปแบบไม่มีใครสนใจ
โดยส่วนตัวยอมรับว่าเป็นคนที่ชอบบ่น บางครั้งถึงกับประชดประชันสังคมบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านนี้เมืองนี้พูดอะไรออกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กลายสภาพมาเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง มีแต่การประชดประชันที่ยังดำรงอยู่เคียงคู่สังคมไทยอย่างไม่หายไปไหน ยิ่งนักการเมืองไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาล ส่วนใหญ่ต่างก็มีพฤติกรรมปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ปากบอกอย่างหนึ่งแต่ลับหลังกลับทำอีกอย่าง
ส่วนบรรดานักวิชาการก็ชอบกระแทกแดกดัน มองคนอื่นเหมือนไม่ใช่คน แล้วก็เลือกที่จะเชิดชูคนเหล่านั้นเพราะคิดว่าสิ่งที่กระแทกแดกดันเป็นความรู้โดยไม่ได้แยกแยะเลยว่ามันเป็นความจริงสักเท่าไหร่ ด้วยความที่ผมเบื่อเวลาที่คนเราต่างประชดประชัน จึงต้องประชดประชันเองเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคม แม้มันจะไม่ช่วยจรรโลงสังคมก็ตาม มีแต่จะสร้างความเกลียดชังกันให้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นจากการได้ระบายความในใจในสิ่งที่เป็นส่วนเกินของชีวิต
ถึงกระนั้นผมจะพยายามประชดประชันอย่างมีขอบเขต ครั้งหนึ่งผมเคยใช้คำพูดที่เป็นการเปรียบเทียบกับสัตว์อยู่พอสมควร แต่เมื่อแก่ตัวลงผมกลับมีความรู้สึกว่า ประโยคที่เจือปนไปด้วยคำพูดที่ลดทอนอีกฝ่ายมองดูแล้วเหมือนไม่มีเหตุผล เทียบกับการใช้ประโยคสุภาพประชดประชันแต่มีเหตุผลรองรับ ทุกวันนี้เวลาที่ผมโพสต์ข้อความ ผมจะหลีกเลี่ยงคำว่าควาย แมลงสาบ ฯลฯ แต่จะระบุให้ชัดเจนว่ากล่าวถึงใครก่อนจะอธิบายหรือตำหนิเป็นเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา
ในยามที่การเมืองยังคงร้อนแรง คงไม่มีใครยอมปล่อยให้ตัวเองถูกดูหมิ่นแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจต้องใช้เฮทสปีชเพื่อตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะใช้คำพูดเปรียบเทียบกับสัตว์เพื่อให้รู้สึกสะใจ คงไม่มีใครชอบเวลาใช้คำหยาบคายด่าทอผู้อื่น เพราะเหมือนแค่เราสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่ใส่ใจคนรอบข้าง ว่าฟังดูแล้วจะจรรโลงจิตใจ หรือจรรโลงสังคมได้แค่ไหน คนที่ฟังถ้าไม่ชอบกันจริง ฟังได้ไม่นานคงลุกขึ้นหนี
ตราบใดที่เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตราบนั้นเราคงเห็นเฮทสปีชเจือปนในสังคมมากขึ้น เราคงต้องอยู่ในสังคมที่เรียกหาแต่การปรองดองแบบเอาหน้า และการเรียกร้องเสรีภาพที่เกินขอบเขตไปจากเดิม โดยอ้างว่าการคิดต่างอยู่ร่วมกันได้ แทนที่จะต่างคนต่างอยู่แบบชีวิตใครชีวิตมัน ถึงแม้เราคงหลีกเลี่ยงที่จะประชดประชันสังคมไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะใช้คำพูดให้รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นในสายตาผู้อื่นได้ ซึ่งจะส่งผลดีให้ความคิดของเราดูน่าเชื่อถือ และดูมีเหตุผลขึ้น
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผมคงไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นคนดัดจริตอะไร และคงไม่เรียกร้องให้ทำตาม ผมคิดอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดี เริ่มต้นจากการเปลี่ยนตัวเราเองก่อน ถึงเราจะไม่ใช่คนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณค่า มีเหตุผลในสายตาผู้อื่นได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณผู้อ่านจะกล้าเปลี่ยนหรือไม่?