เมื่อวันพฤหัสที่ 27 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ผมได้ไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งด้วยแรงยุจากพี่ชายนักวิจารณ์หนังของผมท่านหนึ่ง อย่างพี่อภินันท์ บุญเรืองพะเนา เราเจอกันหน้าลิฟท์และได้สนทนากันไม่มาก แต่บทสนทนานั้น “พี่นันท์” เน้นว่าเรื่องนี้โน้ตควรจะไปดู หนังน่าจะดีและอีกมากมายที่เป็นคำพูดเกลี้ยกล่อมเช้าวันนั้น ทำให้ผมรีบเคลียร์งานให้เสร็จ แล้วออกไปดูหนังเรื่องที่ว่านั้น หนังสารคดีประวัติศาสตร์การเมืองครับ ใช้ชื่อเรื่องว่า “ประชาธิป’ไทย”
เดือนมิถุนายนของทุกปี หลายคนก็มักจะย้อนกลับไปรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปีนี้นับเป็นการครบรอบปีที่ 80 แล้ว การย้อนอดีตการเมืองไทยด้วยการนำเสนอในรูปภาพยนตร์ ก็น่าจะสื่อสารถึงคนดูได้น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง
ระหว่างขับรถและต้องเจอกับฝนตกรถติด ใช้เวลานานกว่าว่าจะไปถึงที่หมาย แต่ก็ทันได้ดูตัวอย่างหนังและได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหนังเพิ่มเติม หนังสารคดีการเมืองเรื่องนี้ เป็นผลงานผู้กำกับสองคน คือ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ เขาทั้งสองใช้วิธีไปสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้รู้และผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ ของการเมืองไทยหลายๆ คน แล้วนำมาตัดต่อ ร้อยเรียง นำเสนอเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองไทย
ก่อนดูหนัง ผมคิดถึงหนังสารคดีการเมือง “ฟาเรนไฮท์ 9/11” ของไมเคิล มัวร์ ที่พูดถึงโศกนาฎกรรม 11 กันยาฯ และสงครามสหรัฐอเมริกากับอิรักและคิดว่าหนังน่าจะเป็นแนวเดียวกัน
ทีแรกคิดว่าจะไม่มีคนดู แต่พอเข้าไปนั่งได้ไม่นาน คนดูกลับแน่นโรง แม้ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจุคนดูราว 100 คนก็ตาม ข้างผมก็เป็นคนดูวัยนักศึกษา ไม่ทราบว่าสนใจการเมือง หรือถูกอาจารย์บังคับหรือแนะนำให้มาดู แต่เอาน่าหนังแบบนี้ คนพอประมาณขนาดนี้ผมถือว่าเจ๋งแล้วนะครับ
หนังใช้วิธีการเล่าเรื่องแบ่งตามช่วงเวลา เพื่อให้เราได้เข้าใจง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง ก่อนปี 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังการเปลี่ยนแปลงปี 2475-2476 คณะราษฎรทำอะไรในเวลานั้น และใครเป็นผู้นำทางความคิดในเวลานั้น สำหรับคอการเมืองคงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว หนังเน้นการเมือง 3 ช่วงเวลาคือ 2475-2490 ช่วงที่สอง 2516-2519 และช่วงที่สาม ตั้งแต่ 2540 จนถึงปัจจุบัน
หนังเล่าเรื่องจากอดีตผ่านหลายมุมมอง ผ่านนักคิดนักเขียนหลายท่าน หลายรุ่นหลายวัยหลายประเภท อาทิ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ส.ศิวรักษ์ ธงชัย วินิจจะกูล สมบัติ บุญงามอนงค์ และอีกหลายคน
แต่ละช่วงเวลาในหนังเรื่องนี้ มีการตั้งคำถาม และหาคำตอบในเวลาดียวกัน โทนหนังอาจจะดูเครียดไปสักหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับดูแล้วปวดหัวคิดตามไม่ทัน แถมยังมีประโยคเด็ดๆ เจ็บๆ จิกกัดการเมืองไทยจากทัศนะของแต่ละท่าน เช่น อาจารย์ส.ศิวรักษ์ ที่พูดถึงทักษิณ สั้นๆ แต่ได้ใจความ ไม่บอกแล้วกันครับว่าพูดว่ายังไงให้ไปดูเอาเอง
หนังเดินทางค่อนข้างราบรื่น มีสะดุดบ้างเล็กน้อยกับการดูดเสียงและขีดฆ่าข้อความบางส่วน ซึ่งผมมองว่าถ้าอะไรที่มันไม่ควรจะพูด หรือมันพูดไม่ได้ก็เอาออกจากหนังไปเลยดีกว่าใส่เข้ามาแล้วดูดเสียงแบบนี้ แต่สำหรับบางคนอาจ ทำให้อยากดูเวอร์ชั่นอันคัตขึ้นมาก็ได้
มีบางส่วนที่ผมว่าผู้กำกับทั้งสองพลาดเต็มๆ แต่ดันใส่เข้ามาในหนังคือเมื่อมีการเอ่ยชื่อของ คุณประสาร มฤคพิทักษ์ ผู้สัมภาษณ์ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นผู้กำกับหนึ่งในสองคนบอกไม่รู้จักซะงั้น แหมทำหนังประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้งที ไม่รู้จักชายคนนี้ได้ยังไง ไม่น่าพลาดเลยครับข้อนี้ เหมือนคุณทำการบ้านมาไม่ดียังไงไม่รู้
ดูหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจนจบเล่าเยอะไป เดี๋ยวไม่สนุก อยากให้ไปชมกันเองด้วยตาของท่านว่ามันดีไม่ดีอย่างไร แต่ก่อนเข้าชม ผมมีข้อแนะนำให้ทิ้งอคติไว้ที่หน้าโรงหนังก่อน เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นเสื้อเหลืองพันธมิตรหรือคุณจะเป็นเสื้อแดง คุณจะเชียร์เพื่อไทย หรือหนุนหลังประชาธิปัตย์ ในหนังจะมีทั้งคนที่คุณชื่นชมและคนที่คุณเกลียดมานั่งให้ข้อมูล ดังนั้นเราควรดูและฟังอย่างใช้สติและมีเหตุมีผลที่สุดนะครับ
หนังเรื่องนี้เพิ่งทำจบตอนมันยังไม่จบเรื่อง แต่สิ่งที่ผมอยากฝากถึงผู้กำกับทั้งสองท่านคือ คุณต้องเสนอข้อมูลที่หลาหลาย และคงต้องดุลย์น้ำหนักบาลานซ์ให้ดีๆ นะครับ เพราะเพียงแค่การเลือกว่าจะพูดเรื่องไหน ไม่พูดเรื่องไหน จะเลือกสัมภาษณ์ใคร น้ำหนักก็จะเอียงทำหนังเทไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป คุณอาจจะทำให้การเมืองไทยบิดเบี้ยว เกิดความโน้มเอียง คนอีกข้างหนึ่งออกมาโจมตีได้ง่ายๆ เจตนาของพวกคุณดี อันนี้ผมเชื่อ คุณอยากทำหนังให้คนดูที่ตั้งคำถามว่าการเมืองไทยเป็นอะไรไป เกิดอะไรขึ้น ถือเป็นเรื่องดีครับที่มีหนังแบบนี้ออกมา และผมก็นับถือความกล้าของพวกคุณที่ตัดสินใจทำมันออกมาด้วย เพราะเป็นหนังที่ไม่ทำเงินอยู่แล้ว
หนังเรื่องนี้ฉายแบบจำกัดรอบ และจำกัดโรง จำกัดวันฉาย ดังนั้นใครอยากดูควรรีบไปดู "ประชาธิป′ไทย" ซะก่อนจะลาโรงไป กำหนดเข้าฉาย 24 มิ.ย. -3 ก.ค. ที่เอสพลานาด รัชดาภิเษก 14.00 น. และ 20.00 น. และที่สยามพารากอน 14.00 น. และ 20.00 น. หนังเรื่องนี้ไม่จำกัดอายุคนดู เท่ากับว่าเป็นประชาธิปไตย ที่ใครจะไปดูก็ได้ เอาละครับผมวังว่าใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ คงได้คิดอะไรหลายๆ อย่าง แถมหากท่านเคยอยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาก่อนแบบรุ่นพ่อแม่ผม ก็อาจจะอินกว่าคนรุ่นผม
สุดท้ายแล้วจริงๆ ก็ฝากหนังเรื่องนี้เอาไว้ด้วยสำหรับคอการเมืองบ้านเรา