xs
xsm
sm
md
lg

สายการบินราคาประหยัด ที่พึ่ง (เที่ยว) ยามยาก

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


สมัยก่อนเวลาที่ผมเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างจังหวัด มักจะพึ่งรถทัวร์เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถ้านึกอยากจะลุยขึ้นมาหน่อยก็นั่งรถไฟชั้น 3 ซึ่งก็ได้ชมทัศนียภาพที่แปลกตาไปจากบนท้องถนน กระทั่งผมได้มารู้จักสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งมักจะมีโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินยั่วกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 ผลจากการที่รัฐบาลเปิดเสรีทางการบิน จากเดิมผูกขาดเฉพาะการบินไทย ทำให้มีสายการบินราคาประหยัดเกิดขึ้น โดย “วันทูโก บาย โอเรียนท์ไทย” ของคุณอุดม ตันติประสงค์ชัย เปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ด้วยราคาต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การบินขณะนั้น คือ 999 บาท

จากนั้น “แอร์เอเชีย” ถือกำเนิดขึ้นภายใต้สโลแกน “ใครๆ ก็บินได้” จูงใจให้คนที่ไม่เคยนั่งเครื่องบินได้เดินทางด้วยราคาที่เหมาะสม เที่ยวบินปฐมฤกษ์เกิดขึ้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ในเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หลังเปิดตัวได้ไม่นานก็มี “นกแอร์” จากการบินไทย เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เมื่อ 23 กรกฎาคม 2547 ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

หลังจากที่แอร์เอเชียย้ายฐานการบินจากสนามบินสุวรรณภูมิมายังดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ซึ่งมีนกแอร์และโอเรียนท์ไทยทำการบินอยู่แล้ว ก็เริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น และเนื่องจากแอร์เอเชียมีเที่ยวบินจากต่างประเทศ ทำให้สนามบินดอนเมืองกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น

แต่ภายหลังจากที่โอเรียนท์ไทยหันมาเน้นลูกค้าแบบเช่าเหมาลำ โดยยุบเส้นทางการบินลงเหลือเพียงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้คู่แข่งขันเหลือเพียงสองเจ้าใหญ่ๆ ได้แก่ แอร์เอเชีย และนกแอร์ โดยมีไทยสไมล์จากการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Airlines) โดดลงมาทำการตลาดด้วย

แอร์เอเชียจัดได้ว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสท์แอร์ไลน์ (Low-Cost Airlines) ต่างจากสายการบินทั่วไป ตรงที่ผู้โดยสารจะได้ราคาค่าโดยสารประหยัดที่สุด แต่จะได้เฉพาะที่นั่งที่สายการบินจัดเตรียมไว้ให้ หากต้องการบริการเสริมอย่างเลือกที่นั่ง โหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่อง หรือสั่งอาหารล่วงหน้าจะต้องคิดค่าบริการเสริมเพิ่มหลักร้อยบาท

ครั้งหนึ่งมีคนบ่นในทวิตเตอร์ว่า จากหาดใหญ่ขึ้นมากรุงเทพฯ ปกติจะนั่งเครื่องนกแอร์เป็นประจำ วันหนึ่งมีความจำเป็นต้องนั่งเครื่องแอร์เอเชียกลับกรุงเทพฯ เขาต้องจ่ายค่าโหลดสัมภาระเป็นจำนวน 900 บาท ผมจึงอธิบายกับเขาว่า ถ้าไม่ได้ซื้อน้ำหนักสัมภาระล่วงหน้าก็ต้องจ่ายน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีก 3 เท่า ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็เข้าใจ

ในขณะที่นกแอร์จัดเป็นสายการบินต้นทุนต่ำระดับพรีเมียม เพราะสามารถโหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่องฟรี 15 กิโลกรัม รวมทั้งมีขนมและน้ำดื่มให้บริการฟรี ขณะที่แอร์เอเชียต้องเสียค่าโหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่อง เริ่มต้นที่ 15 กิโลกรัม 300 บาท เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบราคาโปรโมชั่นแล้ว ทั้งสองสายการบินต่างกันเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น

กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อสองปีก่อนผมซื้อตั๋วโปรโมชั่นเที่ยวกลับจากภูเก็ตมากรุงเทพฯ ได้ในราคาเพียง 600 บาท เพราะตอนนั้นสายการบินราคาประหยัดรายหนึ่งจัดโปรโมชั่นบินฟรีวันเกิด ตอนนั้นผมดีใจสุดขีดเพราะจะได้ถือโอกาสลางานไปเยี่ยมญาติที่ภาคใต้ด้วยเลย จากนั้นค่อยไปภูเก็ตโดยจองห้องพักที่ป่าตองไว้ล่วงหน้า

ทีนี้สำหรับตั๋วขาไป ต้องไปลงที่นครศรีธรรมราช ผมเลือกจองตั๋วเครื่องบินของอีกเจ้าหนึ่ง เพราะที่นั่นไม่มีเที่ยวบินของเจ้านั้นให้บริการ ก่อนหน้านั้นผมลองเช็กราคาปรากฏว่าอยู่ราวๆ 1,500 บาทเศษ วันรุ่งขึ้นผมกลับมาเช็กราคาอีกที ราคาพุ่งขึ้นไปเกือบ 1,700 บาท ซึ่งเห็นแล้วต้องรีบจองตั๋วเครื่องบินโดยทันทีเพราะกลัวว่าราคาจะพุ่งขึ้นมากกว่านี้

ในช่วงแรกหลายคนคงไม่เข้าใจถึงรูปแบบของสายการบินราคาประหยัด คิดว่าราคาน่าจะถูก พอซื้อจริงในวันเดินทางกลับมีราคาที่สูง คิดว่าหลอกลวงผู้บริโภค เพราะหลงไปว่าราคาตั๋วเครื่องบินไม่ว่าจองล่วงหน้าหรือจองในวันเดินทางน่าจะราคาเดียวกันเหมือนรถประจำทาง บขส. ที่หมอชิต 2 หรือสายใต้ใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ด้วยความสงสัยว่าทำไมราคาตั๋วเครื่องบินถึงเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จึงค้นข้อมูลดู สรุปได้คร่าวๆ ก็คือ แต่ละสายการบินจะตั้งราคาเริ่มต้นไว้ให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนวันเดินทางนานๆ จะได้ซื้อในราคาโปรโมชั่นตั้งแต่หลักพันบาทต้นๆ ซึ่งราคานี้จะมีที่นั่งมากหรือน้อยก็แล้วแต่สายการบินจะเป็นผู้กำหนด

จากนั้นหากมีผู้โดยสารจองเที่ยวบินนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นมากับคนที่มาซื้อที่หลัง บางสายการบินขยับขั้นละ 100-200 บาท กระทั่งราคาสูงสุดก่อนวันเดินทาง เฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์จะอยู่ที่ 2-5 พันบาท แล้วแต่เส้นทางการบิน วันธรรมดาหรือวันหยุด และฤดูการท่องเที่ยว ฉะนั้นคนที่จองและชำระเงินล่วงหน้าจะได้สิทธิ์นั้นก่อน

ปัจจุบันสายการบินทั้งนกแอร์และแอร์เอเชียจะมีเมนูค้นหาเที่ยวบินราคาประหยัด ซึ่งสามารถตรวจสอบราคาตั๋วเครื่องบินถูกที่สุดในแต่ละวัน ตัดสินใจจองและชำระเงินได้ทันที เหมาะสำหรับคนที่กำหนดวันเดินทางที่แน่นอน ไม่เลื่อน ไม่เปลี่ยนใจไปไหน ซึ่งส่วนใหญ่ราคาถูกที่สุดหากไม่ได้เที่ยวบินแต่เช้าตรู่ ก็ต้องเป็นเที่ยวบินค่ำ ถึงปลายทางช่วงดึก

แต่ที่ถือว่าเป็นหมัดเด็ดของแอร์เอเชีย สร้างความฮือฮาที่สุดคงจะเป็นโปรโมชั่นระดับภูมิภาคอย่าง Free Seats หรือ Big Sales ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “โปรโมชั่น 0 บาท” จัดขึ้นปีหนึ่งอย่างน้อย 3-4 ครั้ง บางเส้นทางจ่ายเฉพาะค่าภาษีสนามบินเท่านั้น แต่ต้องจองล่วงหน้าก่อนถึงวันออกเดินทางจริงประมาณ 6-10 เดือน

โปรโมชั่นนี้เป็นที่รอคอยของนักเดินทางหลายคน บางคนยอมนอนดึกเพื่อจองตั้งแต่ 5 ทุ่ม กระทั่งระบบการจองติดขัดเป็นระยะ ภายหลังต้องแบ่งวันจองหรือให้สิทธิ์สมาชิกจองก่อน แต่น่าสังเกตว่าหากเส้นทางไหนจัดราคา 0 บาทแล้วขายดี ก็มีแนวโน้มว่ารอบหน้าจะปรับราคาขึ้นสลับกันไป อาทิ นครศรีธรรมราช เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี ฯลฯ

ผลจากการแข่งขันของสายการบินราคาประหยัด ทำให้สายการบินเต็มรูปแบบต้องปรับตัว อย่างการบินไทย นอกจากผลักดันแบรนด์ย่อยอย่าง “ไทยสไมล์” ชูจุดขายสายการบินราคาประหยัดระดับพรีเมียม ถูกกว่าการบินไทย 10-15% แล้ว เส้นทางในประเทศที่เหลือยังจัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 2 พันกว่าบาท

ส่วน “บางกอกแอร์เวยส์” ของคุณหมอปราเสิรฐ ปราสาททองโอสถ นอกจากที่เว็บไซต์จะจัดให้มีราคา Web Promotion สำหรับจองล่วงหน้าและกำหนดเดินทางแน่นอน ซึ่งมีราคาถูกกว่าปกติแล้ว ล่าสุดก็เพิ่งออกโปรโมชั่นแรงๆ ครบรอบ 45 ปี อย่างเส้นทางในประเทศเริ่มต้นที่ 945 บาทต่อเที่ยว ระหว่างประเทศ 1,945 บาทต่อเที่ยว

นึกถึงเส้นทางเกาะสมุย ที่นั่นมีสนามบินบนเกาะซึ่งบางกอกแอร์เวย์สเป็นเจ้าของ แม้จะมีสายการบินอื่นเฉกเช่นการบินไทยวันละ 2 เที่ยวบิน แต่ก็ตกลงกันว่าห้ามขายตั๋วตัดราคากัน ที่ผ่านมาหากเป็นราคาโปรโมชั่นจะอยู่ที่ประมาณ 3,200 บาทต่อเที่ยว ซึ่งยังนับว่าสูง จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้คะแนนสะสมมาแลก

แต่มาคราวนี้บางกอกแอร์เวยส์กล้าปล่อยราคาโปรโมชั่นเส้นทางเกาะสมุยในเทียบเท่ากับเส้นทางอื่น แม้จะเป็นช่วงโอกาสพิเศษ แต่ก็น่าสังเกตว่าเดี๋ยวนี้สายการบินต้นทุนต่ำหันมาใช้วิธีเปิดเส้นทางเกาะสมุย โดยลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานีหรือนครศรีธรรมราช จากนั้นจะมีรถรับส่งไปยังท่าเรือ ซึ่งนกแอร์ใช้เรือเร็วลมพระยา ส่วนแอร์เอเชียใช้ราชาเฟอร์รี่

น่าคิดว่า หากจุดหมายปลายทางใดมีสายการบินราคาประหยัดเข้ามา สายการบินเต็มรูปแบบก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับการแข่งขัน แม้จะทำการบินในกรุงเทพฯ คนละสนามบิน แต่เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ก็จะตัดสินใจได้เองว่าสายการบินไหนให้บริการในราคาที่คุ้มค่ากว่า

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ส่วนตัว ก่อนหน้านั้นเคยจองตั๋วเครื่องบินแบบชนิดที่ว่าบ้าระห่ำมาก คือที่ไหนราคาถูกชนิดที่ว่า 0 บาทก็ซื้อ โดยที่ไม่ได้ดูว่าเมื่อจองแล้วเราจะมีโอกาสได้ไปหรือไม่ เพราะการไปเที่ยวต่างจังหวัดแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมา อาทิ ค่าเดินทางเข้า-ออกสนามบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเที่ยว ซึ่งเยอะกว่าค่าตั๋วเครื่องบิน

ผมได้เห็นข้อคิดจากเจ้าของนามแฝง “ยุ่งชะมัด...สัตวแพทย์” ที่เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง บอกว่า เราต้องจองตั๋วเครื่องบินด้วยความพอดี เพราะโปรโมชั่นแบบนี้สายการบินจัดมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว และเมื่อจองแล้วเราอาจจะต้องประเมินว่าเราไปเที่ยวไหวมั้ย ไม่ใช่ว่าแค่ตั๋วเครื่องบินถูกฉันก็จะจองๆ ไว้ก่อน

ผมลองประเมินตัวเองจากที่จองตั๋วเครื่องบินไว้หลายที่ พอเอาเข้าจริงในแต่ละปีผมไปเที่ยวต่างจังหวัดตามโปรโมชั่นสายการบินได้เพียงแค่ครั้ง-สองครั้งต่อปี สาเหตุใหญ่ๆ คือ วันที่จองตั๋วเครื่องบินตรงกับช่วงที่มีหน้าที่การงานรัดตัว กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ เก็บเงินไปเที่ยวไม่ทัน ครั้นจะหยิบเงินอนาคตมาใช้ แลกกับการเป็นหนี้ก็ได้ไม่คุ้มเสีย

ก่อนจะตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินในช่วงโปรโมชั่น ต้องดูว่าปกติบริษัทอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ลาพักผ่อนประจำปีได้กี่ครั้ง พร้อมกับลองวางแผนโปรแกรมท่องเที่ยวว่าจะไปไหน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และระยะเวลาเก็บเงิน อาจเปิดบัญชีธนาคารสักเล่มหนึ่ง เวลาเงินเดือนออก หรือมีรายได้พิเศษก็โอนเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาเที่ยวค่อยถอนออกมาใช้

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ให้คิดก็คือ เมื่อเป็นสายการบินราคาประหยัด ก็ต้องทำใจล่วงหน้าว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” บางครั้งมักจะเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้ากว่าปกติ หากไม่เช่นนั้นอาจจะเจอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ยุบเที่ยวบินแล้วให้ไปอีกเที่ยวบินหนึ่ง เลวร้ายที่สุดก็คือยุบเส้นทาง เนื่องจากแต่ละสายการบินต้องบริหารต้นทุนให้คุ้มค่า

สายการบินราคาประหยัด แม้จะเปิดโอกาสให้คนเราได้โดยสารเครื่องบินเพื่อประหยัดเวลาในราคาที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ควรเอาจริงเอาจังกับราคาโปรโมชั่น หากไม่ได้คิดเผื่อค่าใช้จ่ายซึ่งเยอะกว่าค่าตั๋วเครื่องบิน ถ้าเป็นไปได้เมื่อเราพร้อม เวลาพร้อม เงินพร้อม ค่อยๆ หาโอกาสไปเที่ยวเพื่อเก็บประสบการณ์จะดีกว่า.



กำลังโหลดความคิดเห็น