xs
xsm
sm
md
lg

อาร์โก้... การเมือง…ภาพยนตร์..ออสการ์

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้ไปเดินร้านขายดีวีดีและซีดี ร้านแบบนี้ไปทีไรก็ต้องเสียเงินในกระเป๋าเสียทุกที เดินวนรอบร้านอยู่สองสามรอบ ในใจก็คิดว่าจะหยิบดีไหมนะ เอาเรื่องไหนดีละ สุดท้ายก็หยิบมาหนึ่งแผ่นอย่าได้เสียเวลา แผ่นที่ผมหยิบมา เป็นหนังซึ่งเพิ่งออกใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ อย่าง Argo หนึ่งในหนังที่ถูกเสนอชื่อชิงออสการ์ปีนี้ (ตอนซื้อผลยังไม่ประกาศ)

ที่หยิบมากนอกจากจะอยาก ดู ยังมีแรงยุมากมายจากเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์ ยุมาเป็นระลอกๆ ว่าต้องดูนะเรื่องนี้ เรื่องนี้เจ๋งวะ สุดยอดเลยอย่าพลาด หลายคำยุผ่านเข้ามาในโสตประสาทหูผม มานับแต่วันที่หนังเข้าโรง จนหนังออกจากโรงไป มาเป็นแผ่นแล้ว สุดท้ายก็ได้ดูหนังเรื่องนี้จากแผ่นที่ซื้อมา

การประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือหนังเรื่อง Argo แผนฉกฟ้าแลบลวงสะท้านโลก มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะรางวัลใหญ่อื่นๆทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำยอดเยี่ยม เป็นของภาพยนตร์เรื่องอื่น ในขณะที่อาร์โก ดูเหมือนจะเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และลงท้ายด้วยการเมือง เมื่อผู้มอบรางวัลนี้บนเวทีออสการ์คือ มิเชล โอบามา

อาร์โกเป็นหนังที่ ได้นำเค้าโครงของเรื่องจริงที่เกี่ยวกับการอยู่รอดหรือความตายที่แลกกับการรอดชีวิตของ 6 ตัวประกันชาวอเมริกันที่ถูกชาวอิหร่านจับตัวไป เรื่องจริงนี้ไม่มีใครรู้มาเป็นทศวรรษแล้ว Argo หนังที่สร้างขึ้นจากการอ้างอิงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1979 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ 6 ตัวประกันชาวอเมริกันที่โดนพวกอิหร่านจับตัวไป และเพื่อที่จะไปช่วยเหลือเหล่าตัวประกันเหล่านั้น ทางเจ้าหน้าที่ CIA ได้ปลอมตัวทำทีว่าไปอิหร่านเพื่อที่จะถ่ายหนัง

เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 เกิดการปฏิวัติของชาวอิหร่านขั้นรุนแรง ฝูงชนได้จู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตห์ราน มีการจับชาวอเมริกัน 52 คนเป็นตัวประกัน

ท่ามกลางความโกลาหลภายในสถานทูตในวันนั้น ชาวอเมริกัน 6 คนหลบหนีออกจากสถานทูต ไปหลบลี้ภัยในบ้านของเอกอัครราชทูตแคนาดา โทนี่ เม็นเดส (แอ็ฟเฟล็ค) ซีไอเอที่ได้รับฉายาพิเศษว่า “จอมสกัด” ได้กำหนดแผนเสี่ยงภัย เพื่อพาพวกเขาหลบหนีออกจากอิหร่านกลับสหรัฐอเมริกาอย่างปลอดภัย

สำหรับหนังที่สร้างจากเรื่องจริงเรื่องนี้ ไม่ใช่หนังที่มีฉากบู๊ดุเดือด ไม่มีการไล่ล่าไล่ยิงกัน แบบที่หนังสายลับส่วนมากในตลาด แต่หนังเรื่องนี้มันสนุกและตื่นเต้น ตรงที่มีเหตุการณ์ที่บีบ คั้น มีเวลาที่จำกัด มีปฏิกิริยาของแต่ละคนในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทำให้คนดูต้องลุ้นระทึกตลอดเวลา

อาร์โก้ เป็นชื่อหนัง ที่ CIA วางแผนเข้าไปถ่ายทำในอิหร่าน เป็นการ ทำหนังปลอมๆเพื่อช่วยคนอเมริกาที่ลี้ภัยอยู่ในสถานฑูตแคนาดา หกคนให้สามารถออกนอกประเทศ ด้วยการปลอมแปลงเอกสารให้คนทั้งหกเป็นทีมงานในการสร้างหนังอาร์โก เช่น เป็นคนเขียนบท เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ เป็นตากล้อง ฯลฯ

ประเทศระดับมหาอำนาจของโลก ลงทุนทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากๆ เพื่อคนของเขาไม่กี่คน พูดไปแล้วก็สะเทือนใจไปถึงบ้านเราเหมือนกันนะครับ แผนแหกตาด้วยหนังปลอมๆเรื่องหนึ่ง มันอาจจะดูไม่น่าเชื่อ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว

ที่ว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วสะเทือนใจกับเรื่องในบ้านเรา อย่างกรณีคุณวีระ คุณราตรีที่ถูกเขมรจับไป ทั้งๆที่ไม่ได้มีความผิด เพราะถูกจับในผืนแผ่นดินไทยแท้ๆ แต่รัฐบาลไทย(ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์)ในเวลานั้น กลับไม่ทำอะไรให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามีการพยายามช่วยเหลือให้ทั้งสองคนได้กลับบ้าน แต่ต้องถูกขังในคุกกัมพูชามาหลายปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อนำเจ้าหน้าที่สถานทูตทั้งหกคนให้สามารถออกจากอิหร่านกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะทางลับหรือทางเปิดเผย

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ เป็นประเทศที่หลายๆคนมองว่าพยามทำตัวเป็นตำรวจโลก หาผลประโยชน์ต่างๆนาๆ รุกรานเขาไปทั่ว บุกอีรัก โจมตีอัฟกานิสถาน แต่เขาก็ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของเขาในเวลาที่พวกเขาเดือดร้อน หรือเผชิญอันตรายในต่างแดน ได้จากบทพูดของพระเอกอย่างโทนี่ เมนเดส ที่พูดว่าเขาไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง เขาจะพาทุกคนกลับบ้าน ประโยคแบบนี้ ท่าทีแบบนี้เราไม่เคยเห็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำ หรือแม้แต่รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ก็เถอะ ไม่มีใครยืดอกออกมาทำอะไรแบบนี้ ขนาดนายกยังไม่ออกมากองทัพหรือตำรวจก็คงไม่ต้องพูดถึงแล้วละครับงานนี้

ในหนังยังสะท้อนว่า การที่พระเอกเข้าไปช่วยชีวิตหกคนนั้น มันก็กลายเป็นการช่วยแก้ปัญหาของตัวเองด้วย เมื่อเขาช่วยเจ้าหน้าที่ทางการทูตหกคนนี้สำเร็จ ทำให้ภรรยาซึ่งไม่เข้าใจงานของเขาเลย เห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเขามีผลให้ครอบครัวเขากลับมาเข้าใจกันได้ครั้งหนึ่ง

หากลองเอามาเชื่อมโยงกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา จะเห็นได้ชัดเลยว่าประเทศอเมริกานั้นดูแลฮีโร่ของพวกเขาดีมากๆ ไม่ว่าจะสายลับอย่างโทนี่ เมนเดส หรือทหารที่ไปรบในสมรภูมิต่างๆ พวกเขาจะกลับมาอย่างฮีโร่ที่น่าภาคภูมิใจของประเทศชาติ และได้รับการดูและเป็นพิเศษ อย่างทหารผ่านศึกแล้วกลับมาบาดเจ็บหรือพิการ ประเทศอเมริกาไม่เคยทอดทิ้งคนพวกนี้เลยแถมจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

แต่เมืองไทยทหารที่ไปรบ บาดเจ็บล้มตาย ถึงจะมีการดูแลและเยียวยา แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แถมเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการปะทะกันระหว่างโจรใต้กับทหารนาวิกโยธิน รัฐบาลกลับออกมาบอกว่าจะเยียวยาให้ครอบครัวโจรใต้ซะอย่างงั้น กรณีนี้ไม่มีการยกย่องเชิดชูเกียรติอะไรกับนาวิกโยธินที่ทำหน้าที่เสี่ยงชีวิต โดยทางทหารไม่มีการสูญเสียเลยด้วยซ้ำไป ตรรกะของรัฐบาลนี่แปลกจริงๆ

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา กับประเทศมุสลิมอย่างอิหร่าน และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับมิตรประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ทำให้เห็นว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงรู้สึกว่าแคนาดามีบุญคุณกับประเทศสหรัฐมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วีรกรรมครั้งนี้ของท่านทูตแคนาดาประจำเตห์ราน ที่เสี่ยงภัยช่วยเหลือชาวอเมริกันทั้งหกคน

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมคงต้องของพูดถึงผู้กำกับ และนักแสดงนำของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่าง เบน แอฟเฟล็ค ชายที่เราหลายๆคนจำเขาได้จากภาพยนตร์อย่างอัมมาเก็ตดอน หรือหนังฮีโร่อย่างแดร์ เดวิล ชายซึ่งผมต้องยอมรับเลยละครับว่าผมไม่เคยคิดว่าเขาจะกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ประสบความสำเร็จ แถมทำหนังออกมาได้ดีจริงๆครับ โดยเฉพาะกับการเดินเรื่องที่ทำให้เรื่องเครียด ดูแล้วไม่น่าเบื่อแถมได้ลุ้นระทึกอีกต่างหาก งานนี้ต้องขอปรบมือดังๆให้เบน แอฟเฟล็คยาวๆ หนังคว้ารางวัลใหญ่แบบนี้ผมเชื่อว่าชายคนนี้คงกลายเป็นผู้กำกับมือดีอีกคนบนโลกใบนี้แน่ๆ

ดูหนังชมภาพยนตร์ลองดูให้ดีๆเราอาจจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่สะท้อนออกมาบนแผ่นฟิล์ม สะท้อนต่อสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าหนังจะมาจากจุดเริ่มต้นทางการเมือง การหวังผล ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นหนังที่อยากให้ทุกคนลองหามาดูกันนะครับ

หมายเหตุ ถ้าคุณซื้อดีวีดีมาดู อย่าลืมดูสารคดีเกี่ยวกับหนังที่เขาไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยจะเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น