xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับปริมณฑลที่ถูกลืม

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ก่อนอื่น... ขออนุญาตทักทายคุณผู้อ่านด้วยประโยคง่ายที่สุด คือคำว่า “สวัสดีครับ...”

ก่อนหน้านี้อาจมีบางคนเคยเห็นงานเขียนของผม กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ มาพอสมควร แต่สำหรับที่นี่ นับเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้มีโอกาสเขียนบทความประจำ หลังจากที่ผมประจำการอยู่ที่บ้านพระอาทิตย์มาได้กว่า 2 ปี

แรกเริ่มเดิมที เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าจะเขียนบทความให้กับที่นี่ แต่ก็เป็นได้แค่คิด เพราะใจหนึ่งมีความรู้สึกว่างานเขียนของเราไม่แข็งแรงพอ อีกส่วนหนึ่งยังกังวลว่า ผู้ใหญ่จะไว้เนื้อเชื่อใจกับงานเขียนของเรามากน้อยแค่ไหน

กระทั่งวันหนึ่ง คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผอ.เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้กรุณาให้ผมเขียนบทความประจำที่นี่ เป็นนัยว่าเพื่อเป็นการฝึกทักษะเพิ่มเติมนอกจากงานข่าว แต่ความกังวลที่ตามมาก็คือ คุณวริษฐ์บอกคอนเซ็ปต์ว่าอะไรก็ได้ ไม่จำกัด

คำว่า “อะไรก็ได้” แม้โดยผิวเผินฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่แต่พอเอาเข้าจริงกลับยากยิ่งกว่า หากจะทำให้สิ่งที่เรียกว่า “อะไรก็ได้” ออกมาเป็นที่พึงพอใจแก่ทุกฝ่าย เมื่อเทียบกับทำอะไรตามกรอบหรือคำสั่ง ที่ใช้เพียงทักษะที่มีอยู่แค่นั้น

คิดดูอีกที ที่ผ่านมาเราเขียนเรื่องเหตุบ้านการเมืองมามากพอสมควร เพราะฉะนั้นผมจึงตัดสินใจว่า อยากจะเขียนอะไรที่เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง ที่เป็นทั้งนักข่าวและมนุษย์เงินเดือนบ้าง

หากแต่สิ่งที่จะถ่ายทอดนั้น คงไม่ได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้คุณผู้อ่านมีความรู้สึกว่าได้อะไรกลับไป ซึ่งสิ่งนี้ผมมองว่าเป็นความยากอย่างยิ่ง

แม้จะไม่รู้ว่าจะได้พบกับคุณผู้อ่านไปอีกนานแค่ไหน ตราบใดที่ในโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แต่เอาเป็นว่า ในเบื้องต้นผมจะพบกับคุณผู้อ่านสัปดาห์เว้นสัปดาห์ไปก่อน หากคุณผู้อ่านมีอะไรแลกเปลี่ยนก็บอกกล่าวกันมาได้ครับ
..........................
ถ้าจะกล่าวถึงกระแสทางการเมืองในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม หรือแม้กระทั่งคดีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก็คงต้องหลีกทางให้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 มี.ค.นี้

แม้จะมีความผูกพันระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑลเล็กๆ อย่างสมุทรสาครบ้านผมมากพอสมควร เพราะต้องเข้า-ออกเพื่อไปทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน แต่ในเมื่อทะเบียนบ้านไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แน่นอนว่าผมคงไม่มีสิทธิ์เลือกใคร

ที่ผ่านมาผมได้อานิสงส์หลายสิ่งหลายอย่างที่กรุงเทพฯ มี เพราะไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ กว่า 5.6 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรแฝงที่มาอาศัยแผ่นดิน และใช้อากาศหายใจร่วมกัน ซึ่งตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ 10 ล้านคน

อาจเปรียบได้ว่า กรุงเทพมหานคร เป็น “ม้าอารี” สำหรับคนไทยทั้งประเทศ ที่ต่างเข้ามาอาศัยเมืองหลวงแห่งนี้ใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งมาทำงาน มาเรียนหนังสือ พร้อมกับพำนักหรือเช้าไป-เย็นกลับ หมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง

หลายสิ่งหลายอย่างที่กรุงเทพมหานครมี และคนต่างจังหวัดได้มีโอกาสใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า รถเมล์ด่วนพิเศษ หรือจะเป็นการทำบัตรประชาชน แม้กระทั่งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เช่น สวนสาธารณะต่างๆ

หากจะนับเฉพาะจังหวัดบ้านผม เท่าที่จำได้ก็คือ โครงการขยายถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เชื่อมต่อกับชายทะเลโคกขาม จากถนนลาดยางแคบๆ ก็ขยายให้กว้างขึ้น หรือจะเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่รองรับคนสมุทรสาครด้วยเช่นกัน

แต่ความเจริญเหล่านี้ ต้องแลกมากับภาษีที่ทุกคนต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการที่มาตั้งสาขาในต่างจังหวัด หรือผู้ใช้รถที่เสียภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ หากจดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร เงินก็จะไหลไปยังกรุงเทพมหานครเสมอ

งบประมาณปีละ 5 หมื่นกว่าล้านบาทที่กรุงเทพมหานครได้รับ ส่วนหนึ่งก็มาจากหยาดเหงื่อของพี่น้องต่างจังหวัด ที่เสียภาษีมาให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้พัฒนาให้เจริญสมกับเป็นเขตปกครองพิเศษซึ่งมักจะมีอะไรที่พิเศษกว่าจังหวัดอื่น

ไม่นับรวมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดปริมณฑล เมื่อกรุงเทพฯ ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำเน่าเสีย การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เบียดเบียนชีวิตเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา กระทั่งต้องใช้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นการล้อมคอก

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้ หากผมไล่เรียงดูนโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ส่วนใหญ่ต่างชูจุดขายส่วนตัวแบบกว้างๆ หรือไม่เช่นนั้นก็ประกาศนโยบายลอยๆ ชนิดที่ว่าสัญญาไว้ก่อน ชนะเลือกตั้งแล้วค่อยแก้บน

จะหาความสำคัญถึงการพัฒนาจังหวัดปริมณฑล ที่เป็นรอยต่อกับกรุงเทพฯ ว่าจะทำอะไรบ้างก็ไม่มี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป้าหมายของผู้สมัครแต่ละคนมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งก็คือคนกรุงเทพฯ 4.3 ล้านคนเท่านั้น

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถูกผูกโยงไปถึงการเมืองระดับชาติเกือบทุกยุคทุกสมัย การหาเสียงหรือปราศรัยของผู้สมัคร หรือการบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดียมักจะพูดถึงเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องนโยบาย

นอกจากสารพัดสงครามน้ำลาย และสงครามข่าวสาร แน่นอนว่าบรรดากองเชียร์ของผู้สมัครแต่ละฝ่าย ต่างก็ใช้ช่องทางนี้ถาโถมข้อกล่าวหาต่างๆ ของผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ใครมีแผลก็ย่อมถูกฉีก ยิ่งถ้าเป็นหน้าใหม่ก็จะถูก “รับน้อง” เป็นพิเศษ

พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ถึงขั้นลงทุนนำสีเสื้อเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการนำผู้ปราศรัยฝีปากกล้า เจ้าของวลี “เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” มาโน้มน้าวคนกรุงเทพฯ ที่เคยถูกเผาจนน้ำตานองหน้ามาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน

หรือจะเป็นกองเชียร์ผู้สมัครอีกรายหนึ่ง โพสต์ข้อความทำนองว่า เลือกตั้งเที่ยวนี้อย่าลงคะแนนเพื่อความมัน แปลก แตกต่าง อย่ามุ่งปัจเจกจนลืมภาพรวมผืนใหญ่ อย่าเป็นมือหนึ่งที่ส่งมอบหยิบยื่นประเทศไทยป้อนใส่ปาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

ด้วยความที่ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ ถึงขั้นบงการรัฐบาลทั้งประเทศได้ ทำให้ภาพในอดีตของผู้สมัครบางคนที่ถ่ายภาพร่วมกับ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดียพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

หรือจะเป็นผู้สมัครอิสระลงสมัคร ถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ก็จะถูกมองแบบเหยียดหยามว่า มาทำไม มาเพื่อตัดแต้มหรือยังไง ด้วยความกลัวเสียงแตก หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นคนของใครก็มี ถ้าไม่มีประเด็นอะไรก็จะขุดเรื่องมโนสาเร่มาโจมตี

อาจมีหลายคนถามว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้จะเลือกใครดี ซึ่งหากเป็นมวลชนของสีเสื้อหรือพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็มักจะชักชวนให้เลือกคนที่ตัวเองสนับสนุนทั้งนั้น

ถ้าไม่ใช่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ก็เป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ จะมีคนเชียร์ผู้สมัครในนามอิสระ อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หรือจะเป็นคุณสุหฤท สยามวาลา ก็พอมีบ้าง

และด้วยความที่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกผูกโยงไปถึงการเมืองระดับชาตินั่นเอง ผมสงสัยอย่างหนึ่งว่า ทุกวันนี้เราเลือกผู้ว่าฯ กทม. เพื่อมาบริหารเมืองหลวงของประเทศนี้ หรือเพื่อมาคานอำนาจรัฐบาล?

ผมเข้าใจดีครับว่า ฝั่งหนึ่งก็อยากจะให้ผู้ว่าฯ ทำงานกับรัฐบาลได้อย่างไม่ติดขัด อีกฝั่งหนึ่งก็ไม่อยากเอาอำนาจ กทม. ป้อนใส่ปาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ทำนองว่าถ้าคนๆ นั้นยึดประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ แล้วเราจะไม่เหลืออะไรเลย

แต่สงสัยว่าเรากำลังตกอยู่ในความกลัวอะไรบางอย่างมากเกินไปหรือไม่ ถึงได้ผูกโยงการเมืองระดับชาติ และความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์มามีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีโอกาสจัดการตนเองมากกว่า

คนจังหวัดปริมณฑลอย่างผมยังนึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะส่งใครที่น่าอเนจอนาถก็คือ จังหวัดบ้านผมมักจะส่งข้าราชการแก่ๆ มาอยู่เพื่อรอวันเกษียณ เสมือนสวางคนิวาสก็มิปาน

ผมมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าสักวันหนึ่ง คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกใครสักคนเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ด้วยนโยบายหรือแนวคิดที่จะบริหารกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเลือกเพราะพรรคนิยม อิทธิพลทางความคิด หรือความหวาดกลัวใดๆ

ต้องทำใจว่าสิ่งที่ผมเชื่อนั้นอาจเป็นไปไม่ได้เลยในยุคนี้ ตราบใดที่เราอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งและความกลัวเช่นนี้ แต่ก็แอบหวังในใจว่า จะมีพลังคนกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งที่ต้องการหลุดพ้นจากภาพที่มีอยู่แบบเดิมๆ อยู่บ้าง






กำลังโหลดความคิดเห็น