xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมซักฟอกรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า จากเดิมที่เห็นตรงกันว่าเวลาที่เหมาะสมคือ วันที่ ๒๖-๒๗ พ.ย. แต่เพื่อความรอบคอบในการทำหน้าที่ตามกรอบระยะเวลา จึงกำหนดใหม่ให้มีการอภิปรายในวันที่ ๒๕-๒๖ พ.ย. และลงมติในวันที่ ๒๗ พ.ย.ส่วนวันที่ ๒๘ พ.ย.จะประสานให้วุฒิสภาได้อภิปรายทั่วไป รัฐบาลโดยไม่ลงมติได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๑ แต่หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่สามารถเสร็จทันได้ภายใน ๒ วัน จะให้ลงมติในช่วงเช้าวันที่ ๒๘ พ.ย. และช่วงบ่ายให้วุฒิสภาอภิปรายทั่วไป ส่วนการแถลงผลดำเนินการของรัฐบาลครบรอบ ๑ ปี ต้องรอสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีประสานงานมา

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ ๙พ.ย. ส่วนจะอภิปรายวันใดขึ้นอยู่กับวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงกันเองวันใดก็ได้ก่อน ๒๘ พ.ย.ที่จะปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ส่วนวันที่ ๒๘พ.ย.ถ้าส.ว.ต้องการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๑ ไม่ขัดข้องแล้วแต่ส.ว.กับรัฐบาลตกลงกัน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่าจะหารือกับวิปรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่จะให้ฝ่ายค้านอภิปรายในวันที่ ๒๖ พ.ย.เพียงวันเดียวไม่พอ เป็นไปไม่ได้ เพราะน่าจะมีขบวนการเตรียมประท้วงอยู่แล้ว ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ พยายามอ้างว่ามีภารกิจที่แจ้งล่วงหน้าและไม่สามารถเปลี่ยนได้ตนเชื่อว่าสามารถจัดเวลาได้ วิปรัฐบาลเคยยืนยันกับตนว่าช่วงวันที่ ๒๕-๒๘ พ.ย.นายกฯ ไม่มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ การอ้างว่าติดภารกิจเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าร่วมอภิปรายไม่สามารถทำได้ จะเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาหรือไม่ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีแค่ ๑-๒ วัน ต่อปี เท่านั้น หากไม่สามารถให้ความสำคัญได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด หากใช้วันที่ ๒๘ พ.ย. ลงมติก็ได้ ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้วค่อยประชุมวุฒิสภา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯ ก็บอกกับผู้ชุมนุมให้ใช้กระบวนการตรวจสอบในสภา แต่นายกฯ จะออกจากสภา เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้เปิดโอกาสในสภา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนและปฏิบัติกันมาทุกยุค ไม่เข้าใจว่าทำไมนายกฯ ยุคนี้ทำไม่ได้ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงให้การเมืองมีปัญหา นำการเมืองออกจากสภาไปสู่ข้างถนนมากขึ้น เราก็เคยเตือน พ.ต.ท.ทักษิณ หวังว่ารัฐบาลนี้จะไม่เป็นอย่างนั้น ส่วนกรณีที่มีการพูดกันถึงเรื่องปฏิวัติรัฐประหาร ยืนยันว่ายังไม่มีเหตุผลที่จะให้บ้านเมืองไปถึงจุดนั้น

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พรรคประชาธิปัตย์ยินดีให้ตนร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เบื้องต้นอยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะอภิปราย มีอยู่ในใจ ๒ เรื่องคือ ๑.โครงการรับจำนำข้าว ที่มีการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ถูกต้องรวมถึงการออกใบประทวน ๒.การทำงานของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการปราบปรามยาเสพติด ที่ไม่ได้ดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ขอเวลาตัดสินใจอีก ๑-๒ วัน ว่าจะเลือกเรื่องใดมาอภิปราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ตนคงไม่ต้องช่วยนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นคนเก่งอยู่แล้ว และท่านเองก็บอกแล้วว่าพร้อมชี้แจงไม่ได้หนีการอภิปรายอย่างที่ฝ่ายค้านเป็นห่วง ยังเชื่อลึกๆ ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคงได้แต่วาทกรรม ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ เพราะฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลอะไร เมื่อถามว่าถ้าฝ่ายค้านพุ่งเป้ามาที่นายกฯ จะต้องตั้งองค์รักษ์หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมว่าไม่ต้อง เพราะนายกฯ เป็นคนเก่ง จบรัฐศาสตร์บัณฑิตและรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตทางการเมืองมาโดยตรง ทั้งนี้ตนไม่ได้เป็นตัวหลักที่จะช่วยนายกฯ ชี้แจง หากฝ่ายค้านไม่พาดพิงตน ก็พูดไม่ได้ต้องนั่งดู แต่หากใส่ชื่อตนในญัตติก็ได้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า ไม่แน่ใจว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายตนด้วยหรือไม่ อยากท้าให้เอาเลย เดี๋ยวตนจะตกขบวนของฝ่ายค้าน อยากอภิปรายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพุ่งเป้ามาที่ตน แต่อยากเตือนว่าคุณก็ต้องตอบสังคมให้ได้เหมือนกัน เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน ตนยินดีตอบทุกเรื่องและตอบทุกคำถาม และได้เตรียมทุกอย่างไว้แล้ว ฟังคำตอบแล้วจะหนาว คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงไม่มีอะไรมาก เพราะประชาชนไม่ให้ราคา เขารู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองอย่างไร น่าสงสัยว่าม็อบที่มาชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งเป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่ น่าจะเป็นการเรียกแขกก่อนการอภิปราย แสดงว่าการอภิปรายครั้งนี้จะกร่อยหรือเปล่า ม็อบนี้ไม่มีอะไรใหม่ คนรู้ทันกันหมดแล้ว

อนึ่ง สำหรับเรื่องการอภิปรายของวุฒิสมาชิกนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เห็นว่าการที่รัฐบาลจัดสรรเวลาการอภิปรายทั่วไปให้ ส.ว. เพียงหนึ่งวัน คงไม่เหมาะสมเพราะมี ส.ว.จะอภิปราย ๑๐๐ คนอย่างน้อยต้องให้เวลา ๒ วัน รัฐบาลควรขยายเวลาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปอีก ๑ วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น