xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนแม่วงก์ เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือขนมหวานนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสร่วมทริปเดินทางของคณะสื่อมวลชนสัญจร ไปยังจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของการสร้างเขื่อนแม่วงก์

สำหรับคนรุ่นใหม่น่าจะรู้จักเขื่อนแม่วงก์จากกรณีเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯหนักเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะว่า ป๋าเติ้งหรือคุณบรรหารได้ออกมาพูดถึงเขื่อนแม่วงก์ ว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เขื่อนนี้สามารถรับน้ำไว้ได้มากพอจะหยุดความสูญเสียและเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ได้

ป๋าแกคงได้ที เอาเรื่องน้ำท่วม มาอ้างเหตุผลักดันการสร้างเขื่อน นักการเมืองไทยชอบกินถนน กินเขื่อนกันนะครับ เพราะกินได้คำโตๆ

มาทำความรู้จักกับเขื่อนแม่วงก์กันก่อนนะครับโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกรมชลประทานมาตั้งแต่ปี 2525 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรและการป้องกันอุทกภัยที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

เขื่อนดังกล่าวมีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ ในอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่บางส่วนในอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในขณะนั้นคือ 4,043 ล้านบาท

นักการเมืองไทยชอบโครงการเมกะโปรเจกต์เป็นพิเศษ หลังน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลฉวยโอกาสที่คนไทยยังหวาดผวากับภัยวิกฤตินน้ำท่วม อ้างป้องกันน้ำท่วม ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จำนวน 13,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาการก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 –2562

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอของกรมชลประทาน เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาไม่รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อผืนป่าหลายหมื่นไร่

กรมชลประทานได้พิจารณาเลือกก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่วงบริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นป่าต่อเนื่องผืนเดียวกับป่าตะวันตกของประเทศ

สภาพพื้นที่ป่ามีมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 549 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา และสัตว์ป่าหายากหรือใกล้สูญพันธ์อีกหลายชนิด เช่น กระทิง วัวแดง หมาจิ้งจอก ค่างแว่นถิ่นเหนือ เสือโคร่ง เสือดำหรือเสือดาว เป็นต้น

เนื่องจากผมไปลงพื้นที่กับกรมชลประทาน ก็แน่นอนละครับว่ากรมชลประทานเป็นหน่วยงานราชการที่อยากจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ใจจะขาด พยายามยืนยันเป็นการใหญ่ ว่าเขื่อนนี้มีความสำคัญมีประโยชน์มากมาย สามารถช่วยชะลอและลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพด้วยได้

การเดินทางครั้งนี้ผมได้พูดคุยกับชาวบ้านหลายคน ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งบอกกับผมว่า คนที่นี่รอคอยเขื่อนแม่วงก์มาเกือบทั้งชีวิต ออกแนวเขื่อนนี้ที่รอคอยเลยทีเดียว

ตัวผู้ใหญ่บ้านเองอายุสี่สิบกว่าแล้ว เขาได้ยินเรื่องเขื่อนนี้ตั้งแต่เด็กๆ จนตอนนี้กว่าสี่สิบปี เรียกได้ว่ารอตั้งแต่เด็กจนโตเลยทีเดียว

คุณยายอีกท่านหนึ่งที่บอกว่ารอคอยโครงการนี้ตั้งแต่สมัยสาวๆ จนตอนนี้ยายแก่มากแล้ว โครงการนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย

คนในพื้นที่แถวนี้เกือบทุกหลังคาเรือนทำนา และหน้าแล้งก็จะแล้งมาก ทุกวันนี้ทำนาได้กันปีละครั้งหรือสองครั้ง แถมครั้งที่สองยังต้องลุ้นหนัก ว่าจะได้ผลผลิตหรือไม่ บางครั้งแทบไม่ได้เลยเพราะแล้งมาก

ผมว่าวิธีการของกรมชลประทานในการนำสื่อมวลชนสัญจร การเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะได้ผล สังคมต้องการความจริงรอบด้าน ต้องการข้อมูลความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งด้านผลดีและผลเสียจากการสร้างเขื่อน และต้องเอามาชั่งตรองกันว่า ผลที่ได้คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่

สื่อมวลชนมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการเสนอข่าวสารความเป็นจริงและข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญกระบวนการในการตัดสินใจต้องโปร่งใสและประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัฐบาลชุดนี้รีบร้อนลงมติอนุมัติงบประมาณ ทั้งๆที่นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบคัดค้านต่อต้าน และคนในสังคมไม่เชื่อว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะเป็นเขื่อนพื้นที่ต้นน้ำและกั้นแม่น้ำเพียงสายเดียว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ได้ยื่นต่อศาลปกครอง ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย อนุมัติการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง นำมาซึ่งความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติครม.10 เมษายน 2555

ผมว่าสังคมต้องพูดความจริงทั้งหมดอย่างรอบด้าน ไม่ใช่การพูดด้านเดียว ไม่ใช่การพูดความจริงบางส่วน ไม่ใช่การพูดความเท็จ และไม่ใช่การพูดโกหกสีขาว

นักการเมืองจะรีบร้อนตะกละตะกลามกันไปถึงไหน กินทั้งถนนกินทั้งเขื่อน ระวังอิฐหินปูนทรายมันจะติดคอตำท้องเข้าสักวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น