หลังจากเรียนจบมาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีหลายครั้งที่ผ่านเข้าออกประตูมอ.แต่ก็วุ่นวายอยู่กับกิจอย่างอื่นเสียทั้งสิ้น เพิ่งจะมีโอกาสขึ้นไปสักการะพระบรมรูปพระราชบิดา “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ที่ลานพระรูปหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ก็ครั้งนี้
ม.อ.เปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีคณะใหม่ๆ ตึกอาคารเรียนใหม่ๆ บรรยากาศเต็มเปี่ยมด้วยสีสันมีชีวิตชีวาของคนรุ่นใหม่ แต่ที่สร้างความประหลาดใจยิ่งกว่าก็คือ ปรากฏมีเครื่องแก้บนอาทิ ไข่ต้ม น้ำแดง พวงมาลัย วางตั้งอยู่บริเวณหน้าแท่นประดิษฐานพระรูป
เฉพาะน้ำแดงซึ่งก็คือแฟนต้าน้ำแดงนี่แหละ วางเรียงกันน่าจะซัก 2 โหลได้ !
สมัยที่ผมเรียนอยู่ไม่มีเช่นนี้ !!
ธรรมเนียมการเอาไข่ต้ม น้ำแดง ตลอดจนพวงมาลัยมาแก้บนพระราชบิดาต้องเกิดขึ้นยุคหลังคือเมื่อประมาณไม่ถึง 20 ปีมานี้อย่างแน่นอน ซึ่งหากจะตรวจสอบสืบค้นจริงๆ คงไม่ยากหรอกแค่สัมภาษณ์นักการ คนทำความสะอาดหรือผู้ดูแลสถานที่อาคารอธิการบดีก็น่าจะได้คำตอบว่าเริ่มกันมาตั้งแต่ยุคใด มีพัฒนาการจากช้างไม้ มาเป็นพวงมาลัย แล้วพัฒนาเป็นไข่ต้ม น้ำแดง ตลอดถึงน้ำอัดลมกระป๋องตามยุคสมัยกันตอนช่วงไหน
จำได้ว่าสมัยที่เรียนอยู่หากใครคิดจะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไปบนบานอะไรมักจะทำกันที่ศาลพระภูมิใหญ่ของมหา’ลัย บริเวณประตูทางเข้าหลักด้านถนนกาญจนวณิชย์ติดกับสถาบันวิจัยยางฯ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเชื่อแบบไทยๆ (คือเชื่อทั้งพุทธ ทั้งผี ทั้งพราหมณ์) ที่หากจะกราบไว้บนบานหรือขอความคุ้มครอง ย่อมต้องไปหา “ผี” ซึ่งก็คือพระภูมิเจ้าที่เป็นเบื้องต้น (เรียกผีน่ะใช้ภาษาโบราณถูกแล้วครับ ผีมีหลายระดับ เทพเทวดาอารักษ์ท่านก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้แต่เป็นผีชั้นสูง)
ค้นดูที่มาที่ไปของพระภูมิหลักประจำมอ. จากเว็บเพจหอประวัติมหาวิทยาลัยฯ ได้ความว่า ศาลพระภูมิหลักตั้งเมื่อ 5 กรกฏาคม 2518 โดยผู้หลักผู้ใหญ่อธิการบดีรองอธิการฯทุกฝ่ายร่วมกันตั้งขึ้น อ.มนัส กันตวิรุฒ ผู้เขียนประวัติระบุว่า เพราะมีนักศึกษาตกน้ำตายในอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งมีเหตุแปลกๆ เช่นเคยมีรถตุ๊กๆ พุ่งชนนักศึกษาบาดเจ็บในวันปฐมนิเทศน์คณาจารย์และบุคลากรจึงร่วมกันตั้งศาลพระภูมิหลักขึ้นมาดังกล่าว
เสียดายที่ไม่ได้ผ่านไปทางประตูหน้าด้านศถาบันวิจัยยางจะได้สังเกตศาลพระภูมิว่ายังมีสภาพรูปทรงดังเช่นที่เคยเห็นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เข้าใจว่าเวลาที่เด็กๆน้องๆ นักศึกษาต้องการที่พึ่งทางจิตใจจะบนบานเพื่อให้สอบผ่านหรืออื่นใดคงไม่มาที่ศาลพระภูมิกันแล้ว มุ่งมาที่พระบรมรูปพระราชบิดาแทน
ค้นอินเตอร์เน็ตคร่าวๆ ดูว่านักศึกษา ม.อ.ปัจจุบันพูดถึงพระรูปพระราชบิดายังไง ก้ได้คำตอบว่า ที่ตรงนี้มีไว้สำหรับการบนบานกันเป็นสำคัญ บ้างก็บนว่าสอบผ่านจะทำความสะอาด ซึ่งก็ดีที่ออกแรงเพื่อประโยชน์สาธารณะ บ้างก็บนว่าจะวิ่งรอบพระรูป นี่ก็ดีอีกเช่นกันที่ได้ออกกำลังกาย
แต่ที่ยังหาไม่พบก็คือเหตุผลว่าทำไมต้องน้ำแดง และทำไมต้องไข่ต้ม เลยได้แต่อนุมานเอาเองจากธรรมเนียมการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถาบันต่างๆ ตลอดถึงธรรมเนียมการถวายน้ำแดงที่สื่อถึง “น้ำหวาน” ให้กับผีอารักษ์ต่างๆ โดยเฉพาะนางกวักเป็นอาทิ
พระบรมรูปพระราชบิดา ที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นศาลพระภูมิสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งประจำมอ ไว้คอยรับการบนบานศาลกล่าวจากเหล่าลูกๆหลานๆ นักศึกษาให้ผ่านการสอบไปซะงั้น
ถามว่า มันผิดปกติตรงไหนหรือ ?
ตอบตามประสาคนวัยกลางที่ได้เห็นสังคมไทยมานานพอสมควรว่า มันก็ไม่ประหลาดนักหรอกหากเอามาตรฐานของสังคมปัจจุบันมากำหนดเปรียบเทียบ เพราะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ยังแปรมาเป็น “เสด็จพ่อร.5” ที่มีความหมายต่างไปจากเมื่อครั้งสร้างพระรูปใหม่ๆ ตอนยุค ร.6-ร.7 …จากพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกร แปรเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นเสด็จพ่อที่มีฤทธิ์ดลบันดาลปัดเป่า เสมือนเทพอีกองค์ขึ้นมา
แต่ถ้าให้ตอบจากความรู้สึกของคนที่เคยพบเห็นสัมผัสที่รู้สึกตัวเสมอว่าเป็นลูกพระราชบิดาคนหนึ่ง (แม้จะไม่เข้าเรียน เกเรหยำเปบ้างแต่ก็รำลึกเสมอว่าสถาบันนี้ปลูกฝังรากฐานจนมีอาชีพเป็นตัวเป็นตนมาทุกวันนี้) ขอตอบตรง ๆ ว่าผมไม่ชอบใจเลย ที่มีไข่ต้ม น้ำแดง ช้างไม้ อยู่หน้าพระแท่น และยิ่งไม่ชอบมากขึ้นที่รู้ว่าการบนบานนั้นก็แค่ให้สอบผ่านเท่านั้น
สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมที่ให้ความสนใจกับเปลือก กับพิธีการ กับการแสดงออกปากเปล่ามากกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นจริง
ปฏิบัติแต่ไม่ศรัทธาจริง !
ก็คล้ายๆ กับที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ล้างเท้าขึ้นธรรมาสน์ ไปพูดให้คนไทยที่ปารีสฟังว่าให้ถือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นแหละมันน่าขำเพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้เพียงแค่แปะคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในนโยบายไว้แถลงต่อสภาเท่านั้น ไม่สะท้อนปรัชญานี้ออกมาจริงในทางปฏิบัติ แต่ดันมาพูดสั่งสอนให้คนเชื่อ พูดเพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของนายกฯ ที่ดี - ใครจะเชื่อ
ผมคิดว่ามันน่าเสียดายมาก หากเด็กรุ่นหลังเคารพบูชาพระราชบิดาแบบเดียวที่ยิ่งลักษณ์พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือบูชาเพียงเพื่อตนได้ประโยชน์จากการสอบผ่าน ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงหัวใจที่เป็นพระจริยวัตรของการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม
สมเด็จพระราชบิดาทรงเป็น “เจ้าฟ้า” ชั้นเอกอยู่ในลำดับขึ้นเสวยราชสมบัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้หลังจากสิ้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ไปน้ำหนักทางการเมืองจะโยกมาทางสายพระพันปีแต่ลำดับศักดิ์ของพระองค์ก็ยังอยู่ในข่าย
ในบรรดาเจ้านายชั้นสูงยุคโน้นทั้งหมด สมเด็จพระราชบิดาท่านเป็นลำดับแรกๆ ของเจ้านายที่ติดดิน ไม่ติดกับความเป็นเจ้านาย มุ่งกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สาธารณะจริงๆ
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ท่านเรียกสมเด็จพระราชบิดาว่า “ทูลหม่อมอาแดง” และได้เขียนถึงพระองค์ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ไว้ชัดว่า
“ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยมากแล้วว่า ทูลหม่อมอาแดงนั้นทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่งในบรรดาเจ้าฟ้าด้วยกัน แต่ท่านทรงระมัดระวังกระเหม็ดกระแหม่ในการใช้จ่ายเป็นที่สุด แทนที่จะเสด็จไปประทับโฮเต็ลชั้นเอกกลับประทับโฮเต็ลชั้นซอมซ่อที่สุดใกล้ๆ สถานทูตอันเป็นทำเลที่ไม่หรูหราเสียเลยในกรุงลอนดอน การที่ทรงกระเหม็ดกระแหม่เช่นนั้นก่อความเข้าใจผิดในระหว่างคนที่ไม่รู้จักท่านดีเสียว่าท่านเป็นคนเหนียวจัด แต่หาเป็นจริงเช่นนั้นมิได้ ท่านต้องการจะเก็บรายได้ของท่านไว้เป็นส่วนมากเพื่อทำการกุศลอย่างมากมาย”
ซึ่งบรรดาการกุศลที่พระเจ้าจุลจักรพงษ์กล่าวถึงในหนังสือส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการแพทย์และพยาบาล เพราะทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มากมายเพื่อพัฒนากิจการด้านนี้อีกทั้งทุนการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรการแพทย์พยาบาลของประเทศอีกด้วย
มีครั้งหนึ่งที่เสด็จมาทำงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่ จนชาวบ้านเรียกท่านว่า “หมอเจ้าฟ้า” เสด็จประทับแบบง่ายๆ อยู่เรือนไม้บังกะโลของโรงพยาบาลแสดงความ “ติดดิน” อย่างแท้จริง ท่านที่สนใจพึงทราบว่าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคยังเก็บรักษาบูรณะบ้านหลังนั้นเอาไว้จนบัดนี้
ยอมรับครับว่า ตอนเรียนอยู่ผมไม่เคยสนใจประวัติความเป็นมา ที่มาของชื่อเรียก “ม.อ.”ที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่รู้จักสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์รู้แค่เพียงเป็นพระบิดาของในหลวง แม้แต่เรียนยังไม่ค่อยเข้าเรียน วันๆ ขลุกอยู่แต่ชมรมอาสาฯ ที่คาเฟต แต่พอจบไปทำงานกลับรู้สึกผูกพันประทับใจต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาอย่างลึกซึ้ง
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เปนที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เปนกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
ผมจึงรู้สึกเสียดายที่น้องๆ รุ่นหลังเลือกที่จะเคารพนับถือพระราชบิดาของชาว ม.อ. ในแบบเทวดาผู้ทรงดลบันดาลให้สอบผ่านแล้วเอาน้ำแดง-ไข่ต้มมาถวายท่านเป็นการตอบแทนในลักษณะเดียวกับศาลพระภูมิที่เห็นกันทั่วไป
ผมไม่เคยบนบานครับ... แต่ก็ไม่ดูหมิ่นถิ่นแคลนความเชื่อศรัทธาของผู้ใด ขอได้ไหมว่า หากจะนับถือพระราชบิดาจริงๆ ช่วยเจริญรอยตามแนวทางอุทิศตนเพื่อส่วนรวม เปลี่ยนน้ำแดง ไข่ต้มที่ไม่มีที่มาที่ไป (ถ้าจะเกี่ยวก็แค่ชื่อเล่นของพระราชบิดาชื่อแดงเท่านั้น) เปลี่ยนของเหล่านี้มาเป็นการบริจาคเลือด บริจาคเงินให้คนไข้อนาถาโรงพยาบาล ม.อ.หรือกิจอื่นใดที่เป็นประโยชน์สาธารณะกันน่าจะดีมั้ย
ไหนๆ จะบนบานทั้งที เลือกบนบานที่ได้ประโยชน์สาธารณะและยังสมพระประสงค์ตรงพระปณิธานของพระบิดา - -ไม่ดีกว่ากันหรือ !