xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์ในสถานการณ์คับขัน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์กำลังอยู่ในช่วงคับขันที่สุด ไม่ใช่เพราะกระแสพรรคกำลังตกต่ำในการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หรือว่าผลโพลต่างๆ ที่สำรวจแล้วพรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคเพื่อไทยทุกโพล

แต่ในทางส่วนตัวภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น

ขณะที่สื่อหัวสีนั้นจะลงภาพยิ่งลักษณ์ทุกวันเหมือนบอกใบ้ว่าเธอกำลังจะมาเป็นนายกฯ คนต่อไป และเป็นสื่อที่หนุนให้แรงเชียร์อย่างออกนอกหน้า

ภาพนายอภิสิทธิ์ลงสื่อหัวสีเป็นเพียงการหาเสียงธรรมดาๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ กระแสของยิ่งลักษณ์ยังคงมาแรง ดังจะเห็นได้ว่า ผลสำรวจครั้งล่าสุดครั้งที่สามของเอแบคโพล ซึ่งทำเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นว่ากระแสที่สื่อให้ภาพรวมว่ายิ่งลักษณ์นั้นกำลังนำหน้าอภิสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องไม่เกินความจริงเลย

ในการสำรวจตามโพลเอแบคนั้น ยิ่งลักษณ์มีอัตราเพิ่มจากฐานเมื่อคิดจากการสำรวจครั้งแรกมาก เรื่องอารมณ์ ความอดทนอดกลั้น เพิ่มจาก ๙.๗ เปอร์เซ็นต์เป็น ๓๑.๖ เปอร์เซ็นต์ ด้านการยอมรับจากในและต่างประเทศจาก ๑๑.๓ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๒๙.๓ เปอร์เซ็นต์ ด้านความเป็นผู้นำเพิ่มจาก ๑๒.๙ เป็น ๓๒.๕ เปอร์เซ็นต์

ถือว่าดีกว่าผลสำรวจเดิมมาก

ผิดกับนายอภิสิทธิ์ในฐานะที่ได้เปรียบเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ด้านความเป็นผู้นำลดลงจาก๔๒.๘ เปอร์เซ็นต์ลงมาเป็น ๓๖.๐ เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขด้านอื่นๆ ของนายอภิสิทธิ์ล้วนแต่ลดลงไม่ก็ประคองตัวเท่าเดิมเท่านั้น

ในแง่ตัวพรรคประชาธิปัตย์ ผลสำรวจเกือบทุกโพลก็บ่งชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหา

พรรคเพื่อไทยนำหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกโพล เช่น สวนดุสิตโพลให้เพื่อไทยได้ ๔๑.๒๒ เปอร์เซ็นต์ ปชป.ได้ ๓๖.๘ เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจครั้งแรก ครั้งที่สองเพื่อไทยได้ ๔๓.๑๖ ต่อปชป. ๓๗.๔๕

ม.กรุงเทพโพล สำรวจปลายเดือนพฤษภาคม พรรคในระบบบัญชีรายชื่อ อันดับหนึ่งเพื่อไทย ๒๕.๘ เปอร์เซ็นต์ ประชาธิปัตย์ ๑๔.๗ เปอร์เซ็นต์ และในระบบแบ่งเขตเพื่อไทยก็ชนะอีกในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ๒๖.๓ และ ๑๕.๒

โพลเดียวกันคนต้องการยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ๒๖.๙ เปอร์เซ็นต์ ต้องการอภิสิทธิ์แค่๑๗.๔ เปอร์เซ็นต์

นิด้าโพลสำรวจต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อไทยมีคะแนนนิยม ๑๖.๖๗ ประชาธิปัตย์มีแค่ ๙.๑๙ เท่านั้น

ผลสรุปของโพลเหล่านี้แม้จะไม่ได้ให้คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็บ่งบอกถึงแนวโน้มส่วนข้างมากว่าพรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างถึงที่สุดแล้วในขณะนี้

และเป็นสถานการณ์ที่ต้องพลิกยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน

แต่จะทันและพรรคจะทำหรือไม่ก็ต้องดูกัน

ข้อจำกัดของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตรงที่เป็นพรรคอนุรักษ์

คือไม่กล้าพลิกอะไรง่ายๆ ปรับตัวได้ช้าและไม่ยอมรับอะไรใหม่

ดังนั้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ๆ ในขณะที่กำลังหาเสียงอยู่นั้นจะเปลี่ยนม้ากลางลำธารจึงเป็นไปได้ยาก

ระบบทีมงานของพรรคที่จัดหามานั้นแม้จะจ้างทีมมืออาชีพและเน้นความยิ่งใหญ่อลังการ แต่ก็ทำได้ตามกรอบของความเป็นประชาธิปัตย์ที่คงรูปแบบอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

ยิ่งในหัวเลี้ยวหัวต่อ อภิสิทธิ์ก็ไม่หลีกหนีจากการขายภาพลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือการขายความ “หล่อ” พอใจที่จะไปไหนๆ แล้ว มีสาวๆ มากรี๊ด

ในการหาเสียงที่เขตยานนาวาเมื่อกลางเดือนมิถุนายกจึงมีหล่อใหญ่ หล่อกลาง และหล่อจิ๋ว คือนายก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล เดินหาเสียงอย่างพร้อมเพรียงกันตามการวางแผนของทีมงานที่ขาย “ความหล่อ”

ดังนั้น นอกจากไม่มีขอใหม่แล้วนายอภิสิทธิ์ยังตั้งรับมากกว่ารุก ตั้งรับคือการใช้วาทกรรมเป็นตัวเดินหน้า เช่น ปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องเครือข่ายหมู่บ้าน “สีแดง”ในภาคเหนือและภาคอีสานรวมทั้งข่าวลือที่ว่าหมู่บ้านเหล่านั้นมีการจัดตั้งเครือข่ายมวลชนสีแดงจนรัฐบาลอาจปกครองไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธและไม่แสดงออกคือ เรื่องที่ยิ่งลักษณ์เสนอให้มีการทำประชามติเรื่องการนิรโทษกรรม โดยนายอภิสิทธิ์เบี่ยงหรือเฉไฉไปว่า ควรหาเรื่องอื่นทำหรือว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกมากกว่า เป็นต้น

การที่ไม่ตอบตรงๆ แสดงถึงความไม่กล้าที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา และเขาเกรงว่าหากตอบไปก็อาจจะสร้างความชอบธรรมให้กับเรื่องนิรโทษกรรมในสายตาของประชาชน

นี่คือสถานการณ์ที่นายอภิสิทธิ์ตกอยู่ในความคับขัน และหาทางออกจากภาวะนี้ไม่ได้ ไหนจะเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองตกต่ำ ไหนจะเรื่องพรรคตกต่ำตามการสำรวจของโพล

นอกจากนั้นจากการสำรวจของพรรคประชาธิปัตย์เองก็รู้ดีว่า ผลของการโหวตโนมีต่อพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคอื่นๆ ทำให้คะแนนของพรรคในหมู่ชนชั้นกลางหดหายไปมาก

ดังนั้น เมื่อพลิกยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไม่ทันในโค้งสุดท้าย

อภิสิทธิ์ไม่น่าจะหลุดจากภาวะคับขันนี้ไปได้เลยจนถึงวันเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น