xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าพวกคุณทำได้ ผมจะไม่ Vote No (ภาค1)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองในประเด็นการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ

1.สังคมไทยเริ่มมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่มอนิเตอร์การทำงานของนักการเมืองในสภาเหมือนในต่างประเทศเขาทำกันดังนั้นสถิติของการเข้าร่วมประชุม สถิติการกระโดดร่ม การลงคะแนน และการทำหน้าที่อื่น ๆ ในทางนิติบัญญัติเริ่มเป็นระบบและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะได้มากขึ้นกว่าเดิมดังจะเห็นว่ามีการแฉส.ส.สันหลังยาวที่ไม่เข้าทำหน้าที่เลยในรัฐสภาชุดที่กำลังจะผ่านพ้น ประกอบทั้งมีสถิติสภาล่มหลายครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติ นี่ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตอบสนองต่อประชาชนเจ้าของเงินภาษี แต่ปรากฏว่าไม่เคยมีนักการเมือง (หน้าไหนหรือตัวไหน) ออกมารับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว พรรคการเมืองก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนที่จะออกมาตรการลงโทษส.ส.ในสังกัด ทำเสมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ลอยผ่าน ๆ ไป พอถึงวาระเลือกตั้งก็ไม่ได้นำสถิติน่าอับอายเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาว่าสมควรส่งเลือกตั้ง(ให้มันโดดประชุมต่อ) พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ที่ตัวเองอาสามาทำหน้าที่แทนและกินเงินภาษีของเขาในกรณีส.ส.โดดประชุม สภาล่ม ส.ส.ไม่ลงคะแนน ฯลฯ ก่อนที่จะเสนอตัวลงสมัครเลือกตั้งรอบนี้

2.นอกจากจะแสดงความรับผิดชอบกรณีส.ส.ที่ไม่ทำหน้าที่ก่อนเลือกตั้งแล้ว
พรรคการเมืองต้องประกาศมาตรการของพรรคกรณีที่ส.ส.ในสังกัด (หากได้รับเลือก) ไม่ทำหน้าที่ ไม่เข้าประชุม ตลอดถึงกระทำผิดจริยธรรม ในสมัยหน้าให้สาธารณะรับทราบเพื่อให้เป็นสัญญาประชาคมก่อนการเลือกตั้งจะเริ่ม ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นก่อนจะอาสาตัวทำงาน

3.ต่อกรณีอ้างอิงที่กล่าวมา นักการเมืองต้องยอมรับร่วมกันให้เกิดมีหน่วยงานมอนิเตอร์การทำงานของรัฐสภาแบบ Real Time (หรือใกล้เคียงที่สุด) เพื่อให้สาธารณะรับทราบว่าขณะเวลานั้นมีสมาชิกรัฐสภามาทำหน้าที่บ้าง และใครขาดประชุม ประชาชนสามารถเข้าถึงสถิติแบบวันต่อวันไม่ต้องให้ร้องขอไป

4.สถิติการทำหน้าที่ของนักการเมืองในรัฐสภาประเภทใครเข้าประชุม ใครลงคะแนน ฯลฯ ในระยะที่ผ่านมาถือเป็นเครื่องสะท้อนความก้าวหน้าของสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลของผู้อาสาทำหน้าที่แทนประชาชน ในต่างประเทศอย่างอังกฤษ ประชาชนของเขาสามารถรับรู้ได้ขนาดว่า ส.ส.หรือส.ว. ใช้เงินภาษีบินฟรีไปยังที่ใดบ้าง เที่ยวบินอะไร เมื่อวันไหน เคยมีข่าวอื้อฉาวที่นักการเมืองเอาเงินไปซ่อมบ้าน ไปทำโน่นนี่ที่ไม่เหมาะสมต้องถูกสังคมกดดันให้ลาออกด้วยซ้ำไป สิทธิเดินทางฟรีของนักการเมืองได้มาเพราะหลักการที่ว่าเขาเดินทางไปทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ล่าสุดที่ใต้ถุนสภาฯ ไม่ได้มีแต่เคาท์เตอร์ของการบินไทยเท่านั้นแต่มีสายการบินโลว์คอสต์อื่น ๆ มาตั้งโต๊ะบริการออกตั๋วบินฟรีให้เขาเหล่านั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องประกาศต่อสาธารณะว่า รัฐสภาในสมัยหน้า (ไม่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นประธานฯ) จะเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินตามสิทธิเดินทางทุกครั้งให้กับสาธารณะ ว่าเดินทางวันไหน ด้วยสายการบินใด เพื่อภารกิจใด อันเป็นการรับผิดชอบเบื้องต้นต่อประชาชน นอกจากจะเป็นการปรามส.ส.โดดประชุมเดินทางกลับในระหว่างการประชุมแล้ว ยังป้องกันการใช้สิทธิเกินขอบเขตเดินทางไปทำกิจส่วนตัวโดยใช้ภาษีประชาชน หมายเหตุ – เมื่อสมัยที่แล้วมีข่าวส.ส.หนุ่มสาวที่มีพื้นเพทางภาคเหนือเดินทางไปสวีทกันที่ภูเก็ต ซึ่งหากใช้สิทธิเดินทางฟรีเพื่อไปทำกิจอย่างว่านอกจากมันทุเรศแล้วมันยังใช้เงินประชาชนไม่ถูกด้วย ถ้าเป็นต่างประเทศถูกบีบออกไปแล้ว

5.ผลประโยชน์ในทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ในคณะกรรมาธิการ การแต่งตั้งเสนอชื่อคนในกรรมาธิการหลายคณะมีประโยชน์แอบแฝงเป็นการแลกเปลี่ยนดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องแสดงความชัดเจนต่อสาธารณะทำตนเองให้โปร่งใสตรวจสอบได้ ด้วยการเปิดชื่อผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับการแต่งตั้งในกรรมาธิการอย่างเปิดเผยเป็นปกติ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานเลขาฯ เปิดบ้างไม่เปิดบ้างหากมองผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นความลักลั่นดังกล่าวได้ชัดเจน พรรคการเมืองต้องแสดงความชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้เปิดเผยการแต่งตั้งบุคคลทั้งภายในและภายนอกตลอดถึงคุณสมบัติในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ต่อสาธารณะ

6.ต่อกรณีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์พื้นฐานดั้งเดิมที่กระทำกันมายาวนาน กรรมาธิการน้อยคณะที่ไปดูงานให้เกิดประโยชน์จริง ซึ่งสะท้อนผ่านโปรแกรมดูงาน บางคณะนำญาติพี่น้องไปเที่ยว บางคนถึงกับนำภรรยาน้อย (ซึ่งเคยมีข่าวว่าพัวพันจนท.รัฐสภาบางคนด้วยซ้ำ) พรรคการเมืองต้องประกาศว่าพร้อมสนับสนุนการเปิดเผยการแต่งตั้งบุคคลในกรรมาธิการ และเปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปดูงานต่างประเทศโดยละเอียดต่อสาธารณะก่อนเดินทางทุกครั้ง ประกอบด้วย วัตถุประสงค์การเดินทาง โปรแกรมเดินทาง ชื่อทัวร์ ราคาค่าใช้จ่าย และรายชื่อบุคคลร่วมคณะ เมื่อกลับมาต้องนำเสนอผลการดูงานให้สาธารณะรับทราบด้วย

ป.ล. สิ่งที่เสนอมาทั้งหมด เป็นเรื่องพื้นฐานที่นานาอารยะประเทศเขาทำกัน ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหาเหตุแต่อย่างใด นักการเมืองบางคนไปดูงานกิจการรัฐสภาหลายประเทศแต่ไม่เคยเอามาใช้จริงในประเทศของเราเพราะถือคติว่าจะมัดมือตัวเองไปทำไม? สภาอังกฤษเขาเปิดเผยขนาดการเบิกจ่ายงบประมาณของสมาชิกรัฐสภาทุกรายการด้วยซ้ำไป ขณะที่การมอนิเตอร์การทำงานของนักการเมืองนั้นเป็นกลไกปกติที่แทบทุกประเทศเขากระทำกันอย่างเปิดเผย ไม่ต้องร้องขอขนาดรัฐสภาต้องประกาศออกมาเองด้วยซ้ำไป สิ่งที่กล่าวมาเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยของเราก้าวทันโลกได้จริงแค่ไหน อย่าไปโทษฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เลย เรื่องนี้นักการเมืองทั้งหลายรวมหัวกันเห็นชอบก็ทำได้ทั้งสิ้น ....ทั้ง 6 ข้อไม่มีข้อไหนยากเลย ต่างประเทศเขาทำกันมาแล้วทั้งนั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น