xs
xsm
sm
md
lg

กัดดาฟี...จอมเผด็จการขวางโลกทุนนิยม หรือ วีรบุรุษผู้รักชาติแห่งลิเบีย ???(ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าเรื่องกัดดาฟีแห่งลิเบียค้างไว้ วันนี้ขอเล่าต่อแล้วกันนะครับ

กัดดาฟีเป็นผู้นำประเทศลิเบีย ประเทศเล็กๆในกลุ่มอาหรับในอัฟริกาตอนเหนือ ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก เขาถูกรุมสกรัมในปี 2535 และ 2536 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 748 (1992) และ 883 (1993) คว่ำบาตรลิเบีย ซึ่งมีมาตรการต่างๆ รวมทั้ง การอายัดทรัพย์ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจของลิเบียในต่างประเทศ การห้ามการขายเครื่องบินและยุทธภัณฑ์แก่ลิเบีย การห้ามส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ในการขนส่งและกลั่นน้ำมันแก่ลิเบีย และการเรียกร้องให้นานาประเทศลดระดับและจำนวนผู้แทนทางการทูตในลิเบีย

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมาย Iran-Libya Sanctions Act หรือ D’ Amato Act ในปี 2539 ห้ามบริษัทต่างประเทศลงทุนในภาคน้ำมันในลิเบียในโครงการมูลค่าเกิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ลิเบียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และหันไปใช้แนวทางโดดเดี่ยวตนเองจากประชาคมระหว่างประเทศ

ลิเบียเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการเมืองของตนในปี 2546 โดยยอมมอบตัวนาย Abdelbaset Ali Mohamed al-Megrahi และนาย Al Amin Khalifa Fhimah ผู้ต้องสงสัยชาวลิเบียในคดี Lockerbie ไปขึ้นศาลที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อศาลได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนาย Megrahiส่วนนาย Fhimah ถูกตัดสินให้พ้นผิด ลิเบียได้แสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเงินสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลให้ลิเบียเริ่มได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมากขึ้น

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรลิเบียเมื่อเดือนกันยายน 2546 ต่อมาในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พันเอกกัดดาฟี ได้ประกาศยุติโครงการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงและประกาศจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพ พร้อมทั้งยินดีที่จะให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งการประกาศต่อต้านการก่อการร้ายและให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้หลายประเทศในยุโรปรวมทั้งอิตาลีและอังกฤษหันไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับลิเบีย

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้มาตรการตามกฎหมาย D’ Amato Act ต่อลิเบียในปี 2547 และถอนชื่อลิเบียออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย ต่อมา ปี 2549 สหรัฐฯ ได้ยกระดับความสัมพันธ์ โดยเปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นทั้งสองฝ่าย

พันเอกกัดดาฟี ยังได้เดินทางเยือนฝรั่งเศสและสเปน เมื่อเดือนธันวาคม 2550 และ รัฐมนตรีต่างประเทศลิเบีย เดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2551 ถือเป็นการเยือนสเปนและสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษของบุคคลระดับสูงของลิเบีย

จะเห็นได้ว่าลิเบียมีประวัติไม่ลงรอยกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี มานานแล้ว และรอยร้าวก็แตกหักจนได้เมื่อมีการโจมตีลิเบียของประเทศพันธมิตรในเดือนมีนาคม 2554 แต่งานนี้ก็ทำให้หลายๆประเทศไม่พอใจและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่เห็นได้ชัดคือ จีนและรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาพูดโจมตีสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศเยอรมนีที่ถอนกำลังออกจากทัพพันธมิตรกลับไป

การสู้รบครั้งนี้ มีการกล่าวอ้างว่าเป็นสงครามครูเสด ซึ่งหมายถึงสงครามศาสนาระหว่างคริสต์และอิสลามที่เกิดขึ้นในปลายยุคกลางของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 ใช้เวลาถึง 200 ปี กัดดาฟีพยายามให้โลกมุสลิมออกมาต่อต้านการกระทำของสหรัฐและประเทศพันธมิตร แต่เรื่องมันคงไม่ใช่เรื่องของศาสนา เพราะยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

ข่าวสารเกี่ยวกับกัดดาฟีและลิเบีย ส่วนใหญ่โลกจะได้ข่าวสารจากสื่อของฝ่ายมหาอำนาจตะวันตก ทั้งอเมริกาและยุโรป ซึ่งมักจะเป็นข่าวสารคนละด้านกับสำนักข่าวของโลกอาหรับ หรือมิตรของกัดดาฟีอย่างจีนและรัสเซีย เราจึงต้องวิเคราะห์ข่าวสารอย่างรอบด้านจากหลายฝ่าย

จากการได้พูดคุยกับนักข่าวรุ่นเก๋าๆหลายคน ทำให้ผมได้ข้อมูลมาว่าฝ่ายต่อต้านกัดดาฟีนั้นได้เงินทุนและอาวุธบางส่วนจากสหรัฐอเมริกาในทางลับเสียด้วยซ้ำไป

ผู้ปกครองเผด็จการอำนาจนิยม ที่ครองอำนาจนานๆ ย่อมนำไปสู่การกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ประชาชนที่อยู่ใต้อำนาจย่อมต้องการสิทธิและเสมอภาคทั้งทางการเมืองและการจัดสรรทรัพยากร ถึงชาวลิเบียจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวจะสูงราว 16,407 ดอลลาร์สหรัฐ (สูงกว่ามาเลเซีย ซึ่งมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 6,760 ดอลล่าร์สหรัฐ) แต่ก็เป็นรายได้โดยเฉลี่ยทั้งคนรวยและคนจน ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้ปกครองที่มั่งคั่งร่ำรวย ยังห่างไกลกับรายได้ของประชาชน

พูดก็พูดเถอะ ผมว่า การเรียกร้องประชาธิปไตย การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชน เพื่อโค่นอำนาจการเมืองเผด็จการอำนาจนิยมที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 42 ปี อย่างในลิเบีย และเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ย่อมเกิดขึ้นได้

ลิเบียเป็นประเทศที่มั่งคั่งรำรวย มีทรัพยากรน้ำมันคุณภาพดี ที่อยู่ใกล้ยุโรปมาก รายได้หลักของประเทศ 95%มาจากการส่งออกน้ำมันละก๊าซธรรมชาติ บริษัทต่างชาติทั้งของสหรัฐอเมริกา อังกฤษเยอรมัน สเปน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ล้วนมีสัมปทานบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในลิเบีย

ผลประโยชน์จากการครอบครองแหล่งพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญในกรณีลิเบีย ที่ประเทศมหาอำนาจทุนนิยมทั้งหลายไม่อาจปล่อยมือได้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร สงครามครั้งนี้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแอบแฝงอยู่แน่นอนครับ
แะ Royal Dutch Shell ของเนเธอร์แลนด์ ได้เข้าไปรับมันในลฝ
ฝ่ายพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี เองก็ลงทุนในธุรกิจโลกมากมายผ่านกองทุนต่างๆ ทั้งโรงแรม และห้างร้านใหญ่ๆหลายประเทศ หรือผ่านบริษัทมากมาย รวมถึงให้เงินทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากหลายๆประเทศได้ไปเรียนในอียิปต์และประเทศอื่นๆในกลุ่มอาหรับ

ลูกชายคนที่สามของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่มีชื่อว่า อัลซาดิ อัล กัดดาฟี( Al - Saadi al – Gaddafi ) เป็นนักธุรกิจและนักกีฬา เขาเป็นอดีตกัปตันทีมชาติลิเบีย และเคยลงทุนซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลในอิตาลี อย่างสโมสรเปรูจา ซึ่งเป็นทีมขนาดเล็กๆในอิตาลี และตัวเขาเองก็ได้ไปเล่นกับทีมนี้ด้วย ถ้าคนที่เป็นคอกีฬาจะพอทราบว่าเป็นทีมที่มีอดีตซูเปอร์สตาร์เอเซียอย่าง ฮิเตโตชิ นากาตะ กองกลางทีมชาติญี่ปุ่นก็เริ่มโด่งดังกับทีมนี้

รวมความแล้ว เหตุการณ์ในลิเบียครั้งนี้ มีความความซับซ้อนอยู่มากทีเดียวครับ การรับข้อมูลข่าวสารก็ต้องพินิจพิเคราะห์กันมากๆ ต้องฟังความจากหลายด้าน ในสายตาโลกมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก และฝ่ายต่อต้าน กัดดาฟีคือเผด็จการอำนาจนิยม แต่ในสายตาของโลกอาหรับชาวลิเบียที่ภักดี กัดดาฟีคือวีรบุรุษผู้รักชาติ

อย่างไรก็ตาม ผมว่าปัญหาภายในของประเทศใดก็ตาม ประชาชนในประเทศนั้นๆควรจะมีสิทธิเลือกทางเลือกของพวกเขาเอง มหาอำนาจไม่ควรเข้าไปแทรกแซง อีกอย่างผมว่า ศึกสงครามไม่เคยมีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้ ผมหวังว่าการเปิดศึกรอบนี้จะยุติลง ไม่ทำให้ เกิดการขยายตัวลุกลามจนประชาชนและทหารต้องบาดเจ็บล้มตายสูญเสียไปมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น