xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นไทยไทย

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมนั่งอ่านรายงานการจัดลำดับของสถาบันนานาชาติ เพื่อการพัฒนาการจัดการระหว่างประเทศ (International Institute for Management Development : IMD) พบว่าเมื่อปี พ.ศ.2551 ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของไทยอยู่ในลำดับ 43 จาก 55 ประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 37 จาก 55 ประเทศ ถัดมาอีกสองปี ในปี 2553 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของไทยหล่นไปอยู่อันดับที่ 40 จาก 58 ประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของไทยก็ฮวบไปเป็นอันดับที่ 48 จาก 58 ประเทศ อ่านแล้วก็เกิดความสะทกสะท้อนใจ เกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าทำไมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน? เกิดอะไรขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ไทย?

ก่อนจะตอบคำถามเบื้องต้น ผมคิดว่า เราต้องหาให้พบเสียก่อนว่า อะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี? นักวิทยาศาสตร์ไทยตระหนักหรือรับรู้ถึงปัจจัยนี้หรือไม่? และสิ่งใดที่เป็นจุดด้อยและจุดเด่นของสังคมไทยต่อปัจจัยดังกล่าว?

จากมุมมองของผม ปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นของความสำเร็จในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือการค้นคว้าวิจัย นี่คือหลักสากลที่ทุกประเทศทุกสังคมต้องยอมรับ การค้นคว้าวิจัยจะดีได้ก็ขึ้นอยู่กับนักวิจัย ความจริงข้อนี้ คงไม่มีใครเถียง

ในส่วนของนักวิจัยนี้ ต้องเน้นที่คุณภาพ เราต้องพูดกันให้ชัดเจนเสียก่อนว่า จะเป็นนักวิจัยที่แท้จริงและมีคุณภาพนั้น ต้องมีสมบัติอย่างไรบ้าง และต้องอาศัยการเอื้อและสนับสนุนจากองค์ประกอบรอบข้าง (ซึ่งผมขอเรียกว่าสังคมและวัฒนธรรม) อย่างไร จึงจะผลิตงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพได้

คุณภาพของนักวิจัยอยู่ที่ฝีมือและจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย ทั้งสองสิ่งนี้ไม่สามารถจะใช้หลักสูตรสั้นๆ ฝึกอบรมให้เสร็จได้ภายในหนึ่งหรือสองอาทิตย์ มีแต่เวลาและความจริงจังเท่านั้นที่จะสร้างนักวิจัยขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยที่ทำงานเดี่ยว เช่น นักฟิสิกส์ชื่อดัง ไอน์สไตน์ เซอร์ รามาน หรือนักวิจัยที่ทำงานเป็นทีมเช่นในปัจจุบัน ไอสไตน์ใช้เวลาในช่วงบ่ายหลังจากเลิกงานประจำ นั่งคิดค้นคว้าวิจัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ เพียงลำพัง อาวุธของไอสไตน์มีเพียงกระดาษ ดินสอ และโต๊ะเขียนหนังสือ แต่ผลที่ได้ออกมาทำให้โลกตะลึง ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่สั่นคลอนความเชื่อดั้งเดิมของฟิสิกส์เช่นเดียวกับ เซอร์ รามานของอินเดีย ซึ่งใช้เวลาช่วงก่อนไปทำงานและหลังเลิกงานมาศึกษาค้นคว้าการกระเจิงของแสงผ่านสารประกอบชนิดต่างๆ ตามลำพังและทุ่มเท ผลงานของทั้งสองท่านได้รับรางวัลโนเบลซึ่งเป็นเกียรติคุณสูงสุด และเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า คนเพียงคนเดียวก็สามารถทำงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพหากมีจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัยคือความมุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับงาน

ปัจจุบันถ้าลองไปศึกษาหรือสังเกตการณ์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แบบฉบับการฝึกนักวิจัยจะดำเนินไปตามขบวนการที่คล้ายคลึงเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งสิ้น เมื่อศึกษาจบขั้นปริญญาเอกแล้ว ก็จะต้องทำงานฝึกวิจัยหลังปริญญา โดยทำหน้าที่เป็นนักวิจัยผู้ช่วย (research associate) ตามกลุ่มวิจัยต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัย ใช้เวลาในการฝึกอย่างต่ำ 2 ปีขึ้นไป หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็นอาจารย์ชั่วคราวตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรืออาจารย์ผู้ช่วย มีเวลา 4-5 ปี ที่จะแสดงฝีมือในด้านการสอนและวิจัย ซึ่งจะไปรอดได้ ก็ต่อเมื่อได้ทุ่มเทเวลาและความรู้ความสามารถให้เต็มที่เท่านั้น

ในประเทศทางยุโรปและญี่ปุ่น ผู้ช่วยระดับนี้แทบจะไม่มีโอกาสได้ขึ้นเป็นผู้บรรยายเลย ส่วนใหญ่จะช่วยสอนอยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้สัมผัสงานด้านบริหาร หน้าที่ส่วนใหญ่ก็คือทำวิจัยผลิตผลงานทางด้านวิชาการล้วนๆ ออกมา เมื่อครบ 4-5 ปีแล้ว ก็จะได้รับการประเมินจากอาจารย์ระดับอาวุโสว่าจะได้รับบรรจุให้อยู่ในตำแหน่งประจำหรือไม่ และแม้เมื่อได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ประจำแล้ว งานที่ทำยังต้องเน้นหนักในเรื่องการทำวิจัยต่อไปอีก จนกระทั่งได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นศาสตราจารย์

ในสหรัฐอเมริกาถ้าฝีมือถึงผลงานถึงก็จะได้รับการเลื่อนขั้นทันที แต่ในยุโรปหรือญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่ต้องรอจนมีตำแหน่งว่างเสียก่อน สรุปแล้วก็คือ กว่าจะได้เติบโตขึ้นมาถึงขั้นนี้ นักวิจัยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 40 ปีขึ้นไป นั้นคือ ผ่านการฝึกปรืองานสอนและวิจัยมาไม่น้อยกว่าสิบห้าปี จึงจะมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย หรือมีส่วนร่วมในงานบริหารบ้าง ผลงานดังกล่าวของนักวิจัยที่มีผลต่อการประเมิน จะเน้นเฉพาะแต่ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับเท่านั้น (มีค่า impact factor สูง)

ขบวนการเช่นนี้ไม่ปรากฏในขั้นตอนของการฝึกนักวิทยาศาสตร์ไทย กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ไทยไม่เคยถูกฝึกให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง และเฝ้ารอดูผลของการเจริญเติบโตของงานวิจัยของตนด้วยความอดทน อันเป็นผลพวงที่ได้จากช่วงเวลาของการ “ฝึก” เพื่อปลูกฝังความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในแวดวงวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัย หรือในหน่วยวิจัยตามศูนย์วิจัยต่างๆ ก็ดี เราแทบไม่ได้ฝึกคน และเลื่อนอันดับชั้นคนตามผลงานวิจัยที่เป็นระบบ แล้วเราจะคาดหวังถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น