xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองใหม่ในระดับพื้นที่ (เล็กง่ายแต่เร้าใจ)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

โดยทั่วไปแล้ว, ไม่ว่าจะที่อเมริกา ยุโรป หรือในประเทศไทย การทำให้พรรคการเมืองประสบความสำเร็จก็คือการพยายามดึงเสียงสนับสนุนประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การเลือกตั้งในอเมริการะยะหลังมักจะพูดถึง ‘เสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ’ หรือพวกพลังเงียบกันมาก เพราะคนกลุ่มนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกันในประเทศไทยดังจะพบว่าเสียงที่กาช่องไม่ตัดสินใจเลือกใครนั้นมีมากจริง ๆ

หลายวันก่อนได้ดูรายการของคุณเติมศักดิ์ แล้วสะดุดความคิดของ อ.ไชยยันต์ ไชยพร ที่บอกในทำนองว่าพรรคพันธมิตร (ที่หมายรวมถึงมวลชนของพนธมิตร) สามารถที่จะทำเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่เฉพาะเรื่องใหญ่เท่านั้นแต่อาจจะมีเรื่องเล็กเช่นเรื่องการข้ามทางม้าลาย เป็นต้น

ผมจำรายละเอียดคำพูดไม่ได้แต่จับความได้ว่าเรื่องประเด็นเล็ก ๆ แบบที่ยกตัวอย่างมาเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ทันทีและเป็นนโยบายเชิงบวก

นั่นก็คือทำลงไปแล้วได้ประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวมเป็นเรื่องที่สังคมทั้งสังคมเห็นด้วย (หรืออย่างน้อยก็ได้ประโยชน์) ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะใส่เสื้อสีอะไร

อะไรก็ตามที่ทำให้คนอยู่ตรงกันข้ามเห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อเขาด้วย เขาก็ไม่ค้าน ในขณะเดียวกันคนที่อยู่กลาง ๆ เห็นว่าสิ่งที่ทำลงไปจับต้องได้ เป็นประโยชน์ให้เห็นชัดเจน

ถ้าชาวบ้านเสื้อแดงเห็นดีเห็นงามกับกิจกรรมดังกล่าวด้วยจะเข้าทำนองดึงศัตรูมาเป็นมิตร

เรื่องบางเรื่องที่พันธมิตรเสนอเป็นประเด็นที่ค่อนข้างและซับซ้อน เช่นคนอีกไม่น้อยนอกกลุ่มพันธมิตรที่ยังสับสนกับคำว่าการเมืองใหม่ เรื่องยาก ๆ เรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรมกรณีโชห่วย นโยบายรัฐวิสาหกิจ การพลังงาน หรือเรื่องปตท. ก็ตาม

พันธมิตรโชคดีที่ได้ฟังคุณสนธิที่ที่นำเรื่องยากมาอธิบายให้เข้าใจง่าย ... แต่คนเสื้ออื่นเล่า !!

นี่จึงเป็นเหตุให้ผมสะดุดกับตัวอย่างเล็ก ๆ ง่าย ๆ ของ อ.ไชยยันต์ ในวันนั้น

การขับเคลื่อนวิถีคู่ขนานกันระหว่างพรรคการเมือง กับ การเมืองภาคประชาชนไปสู่การเมืองใหม่ที่คิดหวังทำกันอยู่เวลานี้...แต่ละวิถีต่างก็มีลัษณะเฉพาะและมีพลังของตัวเอง

อย่างที่ได้เคยแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ว่าการเมืองภาคประชาชนของพันธมิตรนั้นอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มต้น เวลาที่ผ่านมาพลังของมวลชนพันธมิตรอยู่ที่การประท้วง มีวาระใหญ่ที่สุดชัดเจนคือการแสดงออกทางการเมืองเพื่อปฏิเสธผู้ปกครองและนโยบายที่ไม่ชอบธรรม

หากจะพูดว่าแกนนำเป็นหลักในการกำหนดวาระการเคลื่อนไหวก็ได้

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนมีหลายระดับชั้น ตั้งแต่ระดับที่กลุ่มคนเล็ก ๆ ในพื้นที่เป็นผู้กำหนดวาระเอง เรื่อยมาถึง ระดับเครือข่ายจังหวัด ระดับเครือข่ายภาค ร่วมกันกำหนดวาระและร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว หรือรณรงค์

ตัวอย่างแบบที่ อ.ไชยยันต์ เสนอ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการข้ามถนนทางม้าลาย) สามารถจะหยิบไปทำกันเองได้ตั้งแต่ระดับกลุ่มย่อยสุด ไปจนกระทั่งเครือข่ายระดับประเทศทำพร้อมกัน

ยิ่งทำพร้อมกันยิ่งมีพลังมากขึ้น

นี่แหละครับคือพลังของการเมืองภาคประชาชนที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมในยุคว่างเว้นจากการประท้วงใหญ่ และนี่ยังเป็นวิถีคู่ขนานที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับการเมืองภาคตัวแทนพร้อมกันไป

การเมืองใหม่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ประชาชนพร้อมใจกันผลักดันให้สังคมจับต้องได้

เรื่องทำนองเดียวกับการหยุดรถให้ผู้ข้ามถนนทางม้าลายซึ่งเป็นประเด็นใกล้ตัวยังมีอีกมากมาย เช่น การทำให้การประชุมสภาขององค์กรปกครองท้องถิ่นเปิดเผยเช่นเดียวกับการประชุมของรัฐสภา

ในอเมริกา การปกครองที่เล็กที่สุดคือระดับ Small town เขายังถ่ายทอดเสียง (วิทยุ หรือโทรทัศน์ท้องถิ่น) ให้กับประชาชนได้เห็น ซึ่งแน่นอนล่ะบางคนไม่สนใจดูยกเว้นมีวาระที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง แต่ก็มีการจัดการถ่ายทอดอย่างเป็นปกติทุกนัด

นี่คือการแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของการปกครองแบบมีตัวแทน ซึ่งเป็นรากฐานของการนำไปสู่วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องเปิดเผย โปร่งใส เปิดประตูให้กับประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ถามว่า การพยายามผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ว่า อบต. หรือ เทศบาล ถ่ายทอดการประชุมสภาผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุชุมชน เสียงตามสาย หรือแม้แต่โทรทัศน์ชุมชนที่กำลังมีความพยายามผลักดันเป็นไปได้หรือไม่ ? ตอบว่า หากประชาชนไม่เรียกร้องเป็นเรื่องยากที่นักการเมืองจะหยิบยื่นให้เอง

แน่นอนการประชุมแบบปิดย่อมทำมาหากินได้ง่ายกว่าแบบเปิด

และนักการเมืองที่คดในข้อย่อมต้องการประชาชนที่ขาดข้อมูลมากกว่าประชาชนที่ฉลาด

หากมีการรณรงค์ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ ทุกนัดได้สำเร็จจะเป็นมิติใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของวงการการเมืองไทยเพราะเป็นการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติใหม่จากระดับล่างสุดขึ้นมา

มีการหารือจะสร้างถนนคอนกรีตสายใหม่ในพื้นที่ตำบล ก็ต้องถ่ายทอดการหารือนั้น

จะมีการสร้างบ่อน้ำ หรือ เดินระบบประปาใหม่ ฯลฯ ทุกเรื่องถูกสังคมบังคับให้ถ่ายทอดสดบอกกล่าวกับประชาชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงทราบตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึงวงเงินงบประมาณที่คิดทำกัน

แบบนี้แหละครับคือรากฐานของการเมืองใหม่

การรณรงค์ประเด็นเหล่านี้ เป็นการรณรงค์เชิงบวก ไม่ซับซ้อน และตอบสนองต่อความต้องการได้ทันทีเช่นเดียวกับตัวอย่างเรื่องทางม้าลายของ อ.ไชยยันต์

ซึ่งแม้แต่คนเสื้อแดงในพื้นที่ก็ยากที่จะปฏิเสธเพราะนี่คือประโยชน์โดยตรงที่เขาจะได้รับ ขณะเดียวกันนี่คือการแสดงให้พลังเงียบที่ซ่อนตัวอยู่จับต้องการเมืองแบบใหม่ ..แบบที่พลังของสังคมนั้น ๆ ต่างช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับสังคมด้วยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

การเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนแบบคู่ขนานมีวิถีและมีพลังของตัวเองได้อย่างแน่นอน !
กำลังโหลดความคิดเห็น