xs
xsm
sm
md
lg

Change จากอาซาคุระ ถึง อภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ละครซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่อง Change
ขอรายงานตัวว่าผมกลายเป็นแฟนซีรี่ส์ Change นายก (มือใหม่) หัวใจประชาชนของช่องทีวีไทยไปแล้ว พอถึงคืนวันพุธ พฤหัสฯ ต้องนั่งเฝ้าจอคอยเชียร์ อาซาคุระ เคตะ เจ้าชายรัฐสภารูปหล่อมาดนิ่มที่โชคชะตาบันดาลให้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน

สิ่งที่ทำให้เขาฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปทีละเปลาะก็คือความซื่อสัตย์ต่อมโนธรรมทั้งตนเองและต่อชาติบ้านเมือง ความขยันขันแข็งและที่สำคัญคือเคารพต่อประชาชน

ซึ่งแท้จริงคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้วิลิศมาหราอะไรเลย...นักการเมืองทุกคนไม่ว่าญี่ปุ่นหรือไทยควรจะมีเรื่องพวกนี้ติดตัวเป็นพื้นฐาน

กลายเป็นว่า อาซาคุระ คนที่มีคุณสมบัติพื้น ๆ ที่มีเพียงความมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติประชาชนกลับเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสายตานักการเมืองด้วยกัน เช่น การตัดสินใจให้รัฐยอมรับผิดกรณีสร้างเขื่อนทำให้ปลาตาย ชาวประมงในหมู่บ้านเล็ก ๆ แค่ 20-30 ครัวเรือนซึ่งให้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ไปทันที

สิ่งที่ละครได้สะท้อนออกมาทำให้ภาพลักษณ์ของวงการเมืองญี่ปุ่นกลายเป็นยักษ์มาร แก่งแย่งชิงไหวชิงพริบกันระหว่างกลุ่มก๊วน เป็นเกมอำนาจที่เล่นกันเฉพาะวงแคบ ๆ ที่มีนักการเมืองใหญ่ ๆ ไม่กี่คนเป็นผู้เล่น

ญี่ปุ่นนั้นใช้ละครเป็นเครื่องมือสั่งสอน-ปลูกฝังคนในสังคมได้ดีมากชาติหนึ่ง ตั้งแต่ยุค จุง โคชิกะ มาถึง โอชิน และ นายกฯ อาซาคุระ สังเกตได้ชัดว่าเขามีประเด็นที่ต้องการให้สังคมดีขึ้น

สำหรับเรื่อง Change นายก (มือใหม่) หัวใจประชาชน นึกเหมือนกันไหมครับว่า...ดูแล้วเกลียดนักการเมืองขึ้นมาอีกหลายขีดทีเดียว

พร้อม ๆ กันนั้นก็ทำให้เห็นภาพที่จับต้องได้ว่า นักการเมืองและการเมืองแบบที่ประชาชนอยากจะเห็นนั้น - -เป็นเช่นไร !

อาซาคุระ เป็นสัญลักษณ์ที่สังคมญี่ปุ่นวาดขึ้นเพื่อบอกกับนักการเมืองว่า สังคมญี่ปุ่นต้องการการเมือง(ใหม่) โดยเสนอภาพของการเมืองแบบเก่าขึ้นมาเป็นอุปสรรคให้กับตัวเอกของเรื่อง

................................

วงการเมืองไทยดูไปไม่ต่างจากการเมืองในซี่รี่ส์ญี่ปุ่นแหละครับ เป็นเรื่องของเกมช่วงชิงอำนาจของคนเฉพาะกลุ่มก๊วน, ผลประโยชน์ของพวกมาก่อน, เกมการชิงไหวชิงพริบต้องมาก่อน, เรื่องผลประโยชน์ชาติและประชาชน (ถ้ามี) ก็จะมาท้าย ๆ แบบเสียไม่ได้

เมื่อพูดถึงประชาชน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นข้ออ้างบังหน้า-ที่แท้จริงก็คือการทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ลองพิจารณาดูแต่ละเรื่อง ๆ ที่เกิดขึ้นเถิดว่าพวกเขาจริงจังกับการยึดประชาชนเป็นหัวใจกันจริงหรือไม่ ?

อย่างเรื่องร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจคือคณะกรรมาธิการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าจริง ๆ ของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งคือต้องการแก้รัฐธรรมนูญยกแม่น้ำทั้งห้าอ้างถึงวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาทั้งหมดแล้วขมวดรวบยอดว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นจึงต้องแก้โดยเฉพาะมาตราลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ถูกจับผิดว่าโกงเลือกตั้ง !

แล้วต่อมาก็ทะเลาะกันเรื่องกรอบเวลา ฝ่ายค้านที่ต้องการเร่งรัดแก้อยากให้เร็วที่สุดก็ลงตัวที่ 45 วันภายใต้การแถลงสวยหรูว่าจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พ่อเจ้าพระคุณรุนช่องเอ๋ย... นี่ก็อ้างประชาชนอีกแล้วเวลาเพียงแค่นี้มันจะทำให้กว้างขวางเป็นที่ประจักษ์ เข้าใจชัดเจนกันถ่องแท้ทั่วถึงได้อย่างไรเชียว

ย้อนหลังกลับไปตอนที่ประชาธิปัตย์เสนอจะมีการปฏิรูปการเมืองเสนอกรอบเวลา 6 เดือน 8 เดือนซึ่งก็แน่อยู่แล้วว่าฝ่ายค้านต้องออกมาบอกว่านานเกินไป รัฐบาลซื้อเวลา

แต่ที่น่าประหลาดใจคือคอลัมน์และบทวิเคราะห์การเมืองในหน้าสื่อมวลชน กลับมุ่งไปที่ประเด็นการชิงไหวพริบทางการเมือง พุ่งไปที่ประเด็นซื้อเวลาหรือไม่เท่านั้นเอง ทั้ง ๆ ที่สื่อมวลชนยุคนี้น่าจะหลุดให้พ้นจากกรอบคิดว่านี่เป็นเกมของนักการเมืองล้วน ๆ มาสู่ ความคิดว่าจะพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนอย่างไร นี่คือเกมที่มีประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผลประโยชน์ประชาชนจึงต้องเป็นส่วนสำคัญขององค์ประกอบในการวิเคราะห์

กรอบคิดของเรื่องดังกล่าวอยู่ที่การจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนกับการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวาง-ทั่วถึงและได้ประสิทธิภาพนั้นควรจะใช้เวลาขนาดไหนเป็นสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่ฝ่ายค้านบอกสั้น ๆ รัฐบาลบอกควรจะนาน ๆ แล้วมาหาจุดลงตัวกันสองฝ่าย !

สภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเยอะแล้ว

............................

นายกฯ อภิสิทธิ์ โชคดีกว่านายกฯ อาซาคุระ ในละครมากมาย อย่างน้อยก็ไม่ใช่นักการเมืองมือใหม่ที่ไม่ประสากับ “การเมือง” ในเชิงของเกมอำนาจ การชิงไหวพริบ แถมยังเตรียมตัวมาพอสมควรอย่างน้อยก็ได้ศึกษาฐานข้อมูลสำคัญต่อเนื่องในระหว่างเป็นฝ่ายค้าน

นายกฯอภิสิทธิ์ ได้เสียงเชียร์จากประชาชนเหมือนอาซาคุระตรงที่สังคมเชื่อในความซื่อสัตย์ต่อมโนธรรม และต่อชาติประชาชน การกวาดเอาปัญหาใหญ่ ๆ นอกสภามาอยู่ที่กรรมการสมานฉันท์เป็นความคิดที่ถูกแล้ว เพราะโดยหลักการของการปกครองแบบรัฐสภาก็ควรที่จะให้ตัวแทนของประชาชนมาร่วมแก้ปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์ กับ อาซาคุระ ยังเหมือนกันอีกตรงที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของวงการเมืองแบบเก่า ที่บุคลากรส่วนใหญ่ยังมุ่งไปที่เกมอำนาจ และผลประโยชน์พวกพ้อง ประชาชนมาทีหลังในแทบทุกเรื่องไป

ดังนั้นหากนายกฯอภิสิทธิ์ หวังจะให้เวทีสภาฯประสบผลสำเร็จ เป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาได้จริง อาจจะต้องสร้างปรากฏการณ์แบบอาซาคุระในละคร...เปลี่ยนความคิดของนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติประชาชนเป็นสำคัญ

แต่นี่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่นิยาย

โจทย์ถามว่า ให้กรรมการหาปมปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองจลาจลเกิดปัญหาการเมืองระยะ 3-4 ปีมานี้

แทนที่เขาจะตอบว่า ปัญหาอยู่ที่นักการเมืองและนายทุนการเมืองโกงชาติ ไม่ทำตามกรอบกติกา หาประโยชน์พวกพ้อง จริยธรรมการเมืองต่ำกว่ามาตรฐาน ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ขึ้นมา บอกกล่าวกับสังคมว่าแบบใดผิด แบบใดถูก

แต่พวกเขากลับชี้ไปที่ รัฐธรรมนูญฯ ว่ามันคือสาเหตุของปัญหา !!

ละครเรื่องนี้ถ้าจะยาว ก็ต้องดูกันว่าเหล่าตัวร้ายจะเอายังไงกับแก้รัฐธรรมนูญสมานฉันท์ในตอนต่อไป.
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น