xs
xsm
sm
md
lg

People Power Revolution

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

People Power Revolution เป็นศัพท์ที่รู้จักกันดีในวงรัฐศาสตร์โลก หมายถึงการลุกฮือของมวลมหาประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม ลักษณะเดียวกับคำว่า People Uprising

คำว่า People Power Revolution เป็นคำในทางบวก ได้รับการยอมรับจากแวดวงประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนสากล เป็นคนละเรื่องกับคำว่า พรรคพลังประชาชน หรือ People Power Party

People Power Revolution ครั้งสำคัญในช่วงที่คนรุ่นเราจดจำได้ดีก็คือ การลุกฮือโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน อี. มาร์คอส ผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือรวบอำนาจแบบเผด็จการ สร้างเครือข่ายพรรคพวกโกงกินงบประมาณแผ่นดินร่ำรวยเฉพาะกลุ่มอย่างมโหฬาร

การลุกฮือของมวลมหาประชาชนจากเรือนหมื่นเพิ่มแสนล้านเพื่อโค่นล้มมาร์คอส เมื่อปี 1986 (2529) ในครั้งนั้นน่าสนใจมาก เพราะมาร์คอสสร้างอิทธิพลเครือข่ายสามานย์ยาวนานจนเขาขนานนามว่า “ระบอบมาร์คอส” กว่าที่ประชาชนจะร่วมใจกันโค่นล้มได้ต้องอาศัยเวลาเพาะบ่ม ไล่กันข้ามปี นับจากกรณีนินอย- เบนิญโญ อาควิโน ถูกยิงตายคาสนามบินเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2526 ก็เกิดขบวนการสีเหลืองนำโดยคอราซอน อาควิโน ออกมาต่อต้านรัฐบาล

จากปี 2526 ถึงผลสำเร็จใสปี 2529 ปาเข้าไป 3 ปีเต็ม แต่ก็คุ้มค่า เพราะการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนในครั้งนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ที่น่าสนใจในเหตุการณ์ People Power Revolution เมื่อปี 1986 ก็คือ ประชาชนได้รับความร่วมมือจากพลังต่าง ๆ ทั้งพลังของคริสตจักร และยังได้รับการสนับสนุนจากคณะทหาร นำโดย ฮวน พอนซ์ เอ็นไรเล Juan Ponce Enrile รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศกับ นายพล ฟิเดล รามอส รองเสนาธิการทหารที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลสามานย์ไม่ชอบธรรม แม้จะมีกำลังพลไม่มากแต่เมื่อออกมาร่วมมือกับประชาชน ก็มีพลังยิ่งใหญ่

ปัจจัยความสำเร็จของประชาชนฟิลิปปินส์ในครั้งนั้นก็คือ มวลมหาประชาชน ได้รับความร่วมมือจากพลังแผ่นดินกลุ่มต่าง ๆ ทั้งจากศาสนจักรและโดยเฉพาะฝ่ายทหาร ที่กล้ายึดเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งไม่กลัวการถูกสอบวินัยหรือถูกไล่จากราชการ

ผมไม่เคยไม่ฟิลิปปินส์ แต่หากมีโอกาสไปเยือนจะไม่พลาดไปเดินบนถนน EDSA ซึ่งเป็นถนนสายหลักกลางกรุงมะนิลาให้ได้ ถนนสายนี้เป็นถนนประวัติศาสตร์ที่บันทึกการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนฟิลิปปินส์ไปแล้ว เพราะเมื่อมีเหตุสำคัญเรียกร้องของประชาชนครั้งใดในยุคหลังก็มักจะใช้ถนนเส้นนี้เป็นที่ชุมนุมทุกครั้งไป และก็ไม่มีนักการเมืองหรือข้าราชการลิ่วล้อของฟิลิปปินส์คนไหนเคยฟ้องไล่การชุมนุมออกจากถนนเลย

เมื่อครั้งเหตุ People Power Revolution ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ใช้เวลา 5 วันจากวันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ กว่าจะไล่มาร์คอสขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกนอกประเทศได้ ... นายพล ฟิเดล รามอส กับ ฮวน พอนซ์ เอ็นไรเล แถลงว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ แล้วก็ไปปักหลักสู้ในค่ายทหารกลางเมือง 2 ค่าย ซึ่งตั้งอยู่บนถนน EDSA

ถนน EDSA จึงกลายเป็นสถานที่รองรับการปักหลักชุมนุมของคลื่นมหาชน มีการร้องเพลงปลุกใจรักชาติ เช่นเพลง Bayan Ko (My Homeland) ในขณะที่รัฐบาลได้เริ่มส่งกองกำลังทหารมาตรึงในพื้นที่ใกล้เคียงและประกาศผ่านสื่อขู่จะใช้กำลังสลายการชุมนุม

เหตุการณ์เมื่อ 23 ปีก่อนเป็นตัวอย่างของความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างประชาชน ศาสนจักร และ กองทัพ เพราะหลังจากที่ประชาชนปักหลักสู้กลางถนน 4 วันเต็ม พร้อม ๆ กับนายทหารที่ประกาศไม่พายเรือให้โจรนั่งขออยู่ข้างประชาชนซึ่งปักหลักอยู่ในค่ายติดกับถนน EDSA แห่งนั้น

ระบอบมาร์คอสที่ชั่วร้ายทำให้ประชาชนมีเจตจำนงที่แน่วแน่ ด้วยอุดมการณ์ความรักประเทศ ปักหลักอย่างสงบ อหิงสา แม้จะมีกองกำลังติดอาวุธ และรถถังของฝ่ายรัฐบาลพยายามเคลื่อนเข้ามา แต่ประชาชนยืนหยัดนั่งขวาง ไม่เกรงกลัวใด ๆ ในที่สุดกองทัพฟิลิปปินส์ที่ติดอาวุธเหล่านั้นก็ยอมแพ้ให้กับหัวใจของประชาชน และก็ทำให้ มาร์คอส กับครอบครัวเผ่นหนีออกนอกประเทศ ถูกติดตามยึดทรัพย์ที่โกงมา ต้องลี้ภัยจนกระทั่งเขาเสียชีวิต

People Power Revolution เป็นชัยชนะที่แท้จริงของประชาชน โดยความร่วมมือของพลังแผ่นดิน ทั้งฝ่ายพลเรือน ข้าราชการ และทหาร เป็นหนึ่งเดียวกัน

และได้รับการยอมรับจากสากลโลก ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ชอบธรรม !

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะนึกขึ้นได้ว่า เมื่อ 3 ปีก่อนระหว่างที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มก่อตั้ง และกำลังจะมีนัดหมายชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ในช่วงก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยุบสภาหนี คุณ คำนูณ สิทธิสมาน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

เพราะดูการเมืองฟิลิปปินส์แล้ว ต้องเผลอย้อนมานึกเปรียบเทียบกับการเมืองบ้านเราตามประสาอาเซียนด้วยกัน !

กว่าที่นายทหารจะกล้าออกมาปฏิเสธรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องอาศัยการเพาะบ่มสถานการณ์ ซึ่งเมื่อย้อนไปดู 3 ปีก่อนหน้านั้น พลังมวลชนสีเหลืองออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากพลังเล็ก ๆ วิ่งชนกำแพงของระบอบมาร์คอส เติบโตเป็นพลังใหญ่ขึ้น ๆ จนทำให้เกิดเหตุ People Power Revolution สำเร็จ หาใช่การจู่ ๆ นายทหาร 2 คนออกมาเป็นด่านหน้าปลุกคนขึ้นมาร่วมอย่างไรเลย

เปิดบทความของคุณคำนูณ ทำให้อยากพูดถึงคำ ๆ นี้อีกคำหนึ่ง

'อารยะขัดขืน'

ที่แม้จะเป็นศัพท์ที่ใช้ในวงแคบ ๆ มานาน แต่เพิ่งจะได้รับการรับรู้อย่างกว้างขวางหลังจาก คุณสุริยะใส กตะศิลา ประกาศใช้เพื่อเคลื่อนไหวในนามพันธมิตรฯ เมื่อ 3 ปีก่อนนี่เอง

เป็นคำใหม่ของสังคมขนาดที่พิธีการเล่าข่าวชื่อดังยังเอามาอ่านผิดอ่านถูกก็แล้วกัน !

การคัดค้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมของประชาชนมีเครื่องมือไม่กี่อย่าง ที่แน่ ๆ ก็คือการชุมนุม โดยสงบ ปราศจากอาวุธ การเอาข้อมูลมาตีแผ่

อีกอย่างหนึ่งคือการใช้ อารยะขัดขืน แสดงตนไม่ยอมรับอำนาจที่มิชอบ

อารยะขัดขืนมีหลายระดับ ... ก็ไม่แน่ว่า สังคมไทยอาจจะได้เห็นอารยะขัดขืนขั้นสูงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนอีกหน้าหนึ่ง

ในฐานะคนวงนอกผมไม่สามารถคาดเดาแนวทางและยุทธวิธีของ 5 แกนนำพันธมิตรฯ

แต่โดยส่วนตัว อยากจะเห็นอารยะขัดขืน ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ People Uprising ครั้งสำคัญ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น