xs
xsm
sm
md
lg

การรบครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ก่อนหน้าการชุมนุมเพื่อนฝูงหลายวงการซึ่งรวมถึงคนที่ทำงานด้านงานข่าวและความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตถึงการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ รอบนี้ในทำนองว่า จะมีมวลชนเข้าร่วมน้อย หรือ เงื่อนไขยังไม่สุกงอมพอ บ้างก็มองว่า พันธมิตรฯนั้นหมดพลังไปเยอะ

ส่วนใหญ่แสดงความไม่แน่ใจถึงพลังการขับเคลื่อน !

พวกเขาอยู่กับงานการข่าว ติดตามการเมืองมานาน..จะว่าไปก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะหากเทียบการชุมนุมเหมือนกับการยกทัพออกไปรบ กองทัพของพันธมิตรฯนั้นเริ่มต้นด้วยความไม่พร้อมของเสบียง ไม่พร้อมทั้งฤดูกาลที่เป็นหน้าฝน

กองทัพเดินด้วยท้อง กองทัพต้องมีค่าใช้จ่าย !! อันนี้จริง เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เอเอสทีวี.นั้นอยู่ในภาวะยากลำบากมาหลายเดือนแล้ว

นอกจากนั้น ไหนจะภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีภาระต้องทำมาหากิน จะมีเวลามานั่งชุมนุมข้ามคืน เป็นวัน ๆ ได้อย่างไร ... นี่ก็ถูกของเขา

สุดท้ายคือเงื่อนไข หรือ ประเด็นการต่อสู้ ที่พวกเขามองว่า ยังไม่สุกงอมพอ

เมื่อปี 2549 การขายชินคอร์ปฯ ให้กลุ่มเทมาเส็ก เป็นเสมือนเชื้อไฟที่สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน ตลอดถึงประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมันชัดเจน จนถือเป็นเงื่อนไขได้

แต่รอบนี้ เป็นเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ !!

เพื่อนนักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่า เป็นเรื่องที่อธิบายให้เข้าใจยาก แม้ สุริยะใส กตะศิลา จะพยายามสร้างวาทกรรมให้ดูง่ายขึ้นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับฟอกโจร แต่นั่นเอง..มันก็ยังเหมือน ๆ ว่าเป็นเรื่องไกลตัว

แต่ที่สุดแล้ว เมื่อถึงวันกำหนดนัด จำนวนประชาชนที่เป็นมวลชนเสื้อเหลืองออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง แน่นถนนราชดำเนิน เต็มพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การพยายามใช้อันธพาลทั้งแบบเดินเท้า สมทบด้วยแก๊งมอเตอร์ไซด์มาป่วน ทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม เป็นกลยุทธ์ที่ดูไม่ซับซ้อน แต่หากทำสำเร็จก็อาจจะสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ..เอาชนะได้ในวันเดียว-ได้เช่นกัน

แต่ที่สุดก็ไม่สำเร็จ พันธมิตรฯ สามารถชุมนุมยืดเยื้อ ปักหลักพักค้างได้ด้วยปริมาณผู้ชุมนุมมากขึ้น ๆ

สวนทางกับแนวทางวิเคราะห์ของทั้งนักสังเกตการณ์ หรือแม้แต่ฝ่ายตรงกันข้าม

ปัจจัยหลักที่พวกเขา ทั้งนักสังเกตการณ์ฝ่ายที่เอาใจช่วย และ ฝ่ายตรงกันข้าม กอดคอกันประเมินผิด ก็คือ มวลชน !!

เขาประเมิน มวลชนพันธมิตรฯ ผิดพลาด !!!

นับจากปลายปี 2548 โดยเฉพาะปี 2549 เกือบทั้งปี การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เปรียบได้กับการเปิดโรงเรียนการเมืองครั้งใหญ่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เคยถูกนักเคลื่อนไหวในยุคทศวรรษที่แล้วปรามาสว่าเป็นกลุ่มที่โลเล ไม่แน่นอน เอาแต่ประโยชน์กลุ่มตนเป็นที่ตั้ง ฯลฯ

การทำรายการที่ สนธิ ลิ้มทองกุล เรียกว่า ให้ปัญญานั้น แท้จริงแล้วก็คือ โรงเรียนสอนหลักสูตรการเมืองภาคประชาชน ทั้งแบบในห้องเรียนและแบบปฏิบัติจริงควบคู่กันไป

เมื่อปี 2549 มวลชนของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ อาจจะเป็นแค่กลุ่มคนที่ไม่พอใจทักษิณ ชินวัตร ไม่พอใจรัฐบาล หรือกลุ่มที่โกรธแค้นการขายดาวเทียมให้เทมาเส็ก

แต่ 2 ปีผ่านไป พวกเขาเหล่านั้นได้ยกระดับจากมวลชนที่เคลื่อนไหวจากอารมณ์ความรู้สึก มาสู่ ความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น ( Active Citizen) อย่างเต็มตัว

อันที่จริง Active Citizen ไม่ได้หมายเพียงความกระตือรือร้นเท่านั้น ยังหมายรวมถึง การต้องการมีส่วนร่วมและถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบสังคม ตลอดถึงการไม่สามารถนิ่งดูดายต่อปัญหาชาติบ้านเมืองได้

เป็นประชาชนเจ้าของประเทศที่มีสำนึกพลเมืองเต็มเปี่ยม !!

มวลชนที่ออกมาชุมนุม เป็นผู้ที่เข้าใจถ่องแท้ว่า หากไม่ออกมาแสดงพลังและความต้องการของตนรอบนี้เพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว หมายถึง การยอมยกบ้านเมืองให้กับกลุ่มคน-กลุ่มทุนหน้าเดิม ๆ แบบที่ยากจะทัดทานใด ๆ ได้อีก

ฝ่ายตรงกันข้ามของพันธมิตรฯ .. อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องดังกล่าวดีพอ

บางคนยังคงประเมินว่า พันธมิตรฯมารอบนี้ เงินน้อย กลุ่มผู้สนับสนุนน้อยกว่าเดิม ฯลฯ ประเดี๋ยวก็หมดแรงไปเอง

เขาประเมินว่า คนในเมือง แถมส่วนใหญ่ยังมีอายุวัยกลางคนขึ้นไป มีรายได้พอสมควร จะทนลำบาก นอนกลางดินกินกลางทราย แถมมีข่าวปล่อยเรื่องความปลอดภัยเป็นระยะ จะทนตากแดดตากลมไปได้สักกี่น้ำ

นั่นคือการประเมิน กลุ่มมวลชนที่ถูกเกณฑ์เพื่อประโยชน์ชั่วครั้งคราวแบบที่พวกเขาเคยสัมผัส

ถ้าพวกเขาแพ้ศึกนี้ ก็เพราะไม่เข้าใจว่า มวลชนผลประโยชน์ ต่างจาก มวลชนอุดมการณ์ ยังไง

นี่เป็นการรบครั้งสุดท้ายจริง ๆ !

เพราะฝ่ายหนึ่ง แสดงเจตนาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือคดีความเจ้านาย และช่วยปลดพันธนาการพวกพ้อง แบบเดินหน้าลุย ไม่แยแสเรื่องอื่นใด ...และหากแก้สำเร็จนี่จะเป็นกติกาการปกครองประเทศที่พวกเขาสามารถครอบครองประเทศนี้ไปได้อีกยาวนาน

และด้วยความถึงพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร ทุน และมวลชนซึ่งล่าสุดได้มวลชนกลุ่มสนับสนุนประเด็นศาสนามาเป็นแนวร่วม

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านอันมีการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นหัวหอก อยู่ในสภาวะหลังพิงฝา

การต่อสู้ของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น มีข้อจำกัดในตัวเอง สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ และยังต้องรักษาระดับพลังเอาไว้ให้สม่ำเสมอ-ปริมาณมวลชนต้องไม่ลดลง

หมายความว่ามวลชนจะต้องเสียสละตัวเอง ทนลำบากมาร่วมชุมนุมสม่ำเสมอ

ผู้ที่มีสำนึกพลเมืองเท่านั้น ที่จะสู้ยืดเยื้อในสงครามนี้ได้

ผู้ที่มีอุดมการณ์เท่านั้น ที่จะยืนหยัดอยู่ได้

การรบรอบนี้ ดูเหมือนจะมีกลยุทธ์ต่าง ๆปรากฏออกมาทั้งการข่าว ข่าวลือ ข่าวปล่อย ลูกขู่ ลูกปลอบ ลูกถ่อย ตลอดถึงเกมในครม. และ ในสภาฯ... เกมทั้งหมดเป็นเรื่องของฝ่ายต้องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ขณะที่แนวทางการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรฯ มีเพียงกระบวนท่าเดียวเท่านั้น

ยืนหยัดและเชื่อในความถูกต้องชอบธรรม โดยมีประชาชนเจ้าของประเทศออกมาแสดงเจตนารมณ์ผ่านการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและมีพลัง

ปัจจัยชี้วัด-พันธมิตรฯ จะแพ้หรือชนะในสงครามนี้ ไม่ใช่ด้วยกลยุทธ์ หรือด้วย แม่ทัพ

แต่ด้วยหัวใจอันแข็งแกร่งของมวลชนพลเมืองล้วน ๆ !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น