กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเผยว่า จีน เมียนมา และไทย ได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมสามฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงร่วมหลายด้าน เพื่อเดินหน้ากวาดล้างอาชญากรรมหลอกลวงทางโทรคมนาคมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เช่น เมียววดี และพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นฐานปฏิบัติการสำคัญ
สามประเทศยืนยันจะดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาด อาทิ การทำลายแหล่งกบดานของเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ การจับกุมผู้กระทำผิด และการถอนรากถอนโคนโครงสร้างอาชญากรรมดังกล่าว เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
จากข้อมูลของทางการจีน ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมา สามฝ่ายได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่เมียววดี สามารถจับกุมชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ได้แล้วกว่า 5,400 ราย และส่งตัวกลับจีนเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ
กรณี “จง ฮ่าวปิน” นายแบบจากกว่างโจว ซึ่งถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานในไทยแต่กลับถูกส่งข้ามแดนไปกักขังในเมียนมา สร้างความตื่นตระหนกในสังคมออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเปิดเผยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมว่า ได้ช่วยเหลือนายแบบหนุ่มกลับมาได้แล้วอย่างปลอดภัย
จง ฮ่าวปิน ทำงานเป็นนายแบบมานานกว่า 4–5 ปี เขาได้รับข้อเสนอให้ไปถ่ายแบบขึ้นปกนิตยสาร โดยมีอดีตผู้ว่าจ้างที่เคยร่วมงานติดต่อมาชักชวน เขาจึงเดินทางจากท่าอากาศยานไป่หยุน กว่างโจว มายังสนามบินดอนเมือง ประเทศไทย ในคืนวันที่ 8 มิถุนายน ก่อนจะหายตัวไปหลังจากมีรถยนต์ส่วนตัวมารับตัวที่สนามบิน
น้องสาวของเขาเปิดเผยว่า การติดต่อครั้งสุดท้ายคือการโทรศัพท์มาขอเติมเงินค่าโทรศัพท์ พร้อมพูดว่า “ที่นี่ไม่มีสัญญาณ ไม่มีอินเทอร์เน็ต” ก่อนจะวางสายไป เธอจึงรีบแจ้งตำรวจในกว่างโจว และเดินทางไปประเทศไทยเพื่อตามหา
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน จง ฮ่าวปิน ติดต่อทางวิดีโอคอลกลับมาได้อีกครั้ง และบอกว่าเขาถูกลักพาตัวไปฝั่งเมียนมา แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้
หลังครอบครัวแจ้งความที่จีนและไทย เจ้าหน้าที่สองประเทศจึงเริ่มสืบสวนอย่างเร่งด่วน กระทั่งสามารถช่วยเหลือเขากลับมาได้อย่างปลอดภัย
สถานทูตจีนในไทยยังได้ออกคำเตือนซ้ำอีกครั้งว่า “อย่าหลงเชื่อคำโฆษณางานเงินดีในต่างประเทศ” โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เพราะหลายกรณีคือกับดักของขบวนการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ การทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทยจำเป็นต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ที่มา: กระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีน, สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, 新京报