ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ช่วงนี้สถานการณ์มลพิษในอากาศของไทยย่ำแย่ลง ประชาชนและสำนักข่าวต่างตื่นตัวและจับตาเรื่องของฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นอย่างมาก เพราะในรอบนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและถูกนำเสนอในหน้าข่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ก่อนอื่นสำหรับไทยแล้ว ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีวิธีการและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ทำให้การแก้ไขปัญหาและผลลัพธ์ไม่เป็นรูปธรรมนัก
จีนเป็นหนึ่งประเทศที่มีการจัดการฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างจริงจังและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ผู้เขียนใช้ชีวิตในปักกิ่งมาสิบกว่าปี จำได้ว่าในช่วงปี 2013 เป็นช่วงที่ฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตเมืองตอนเหนือ ปักกิ่ง รวมถึงมณฑลเหอเป่ยมีความรุนแรงมาก ในแต่ละวันแทบไม่เห็นดวงอาทิตย์ มีฝุ่นควันอากาศทุกวัน ในขณะนั้นสื่อจีนก็มีความตื่นตัว ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพและรณรงค์เรื่องการใส่หน้ากากแบบหนาเพื่อป้องกันตัว
ในปี 2015 ภาพยนตร์สารคดีในจีน Under the dome ได้ถูกนำเสนอและหลังจากเผยแพร่ สารคดีเรื่องนี้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเรื่องมลพิษในอากาศอย่างกว้างขวางในสังคมจีน ผู้คนตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในจีน
จนถึงปี 2025 คือปีนี้ เป็นเวลาครบรอบ 10 ปีของการเปิดตัวสารคดีเรื่องนี้ ปัจจุบันคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวของคณะทำงานด้านความร่วมมือด้านนิเวศวิทยาเขตจิงจินจี้ (京津冀:ปักกิ่ง เทียนจินและมณฑลเหอเป่ย) จัดขึ้นที่เมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ย รายงานสภาพอากาศในปี 2024 ว่า ความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 30.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลง 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังคงมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับที่ 2 ของประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2013 ความเข้มข้นของมลพิษ 4 ชนิดในปี 2024 ได้แก่ PM2.5 PM10 NO2 และ SO2 ได้ลดลง 65.9% 50.0% 57.1% และ 88.7% ตามลำดับ
มาตรฐานคุณภาพอากาศในจีนถูกกำหนดโดย "เกณฑ์คุณภาพอากาศสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ" (National Ambient Air Quality Standards - NAAQS) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองระดับหลัก คือ ระดับที่ 1 และ ระดับที่ 2 โดยแต่ละระดับกำหนดค่าความเข้มข้นของมลพิษในอากาศที่ปลอดภัยสำหรับสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
• ระดับที่ 1 ใช้สำหรับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ พื้นที่ชนบทที่มีความสำคัญทางสิ่งแวดล้อม หรือพื้นที่ที่ต้องการคุณภาพอากาศที่ดีที่สุด ตัวอย่างเกณฑ์: PM2.5 ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) PM10 ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) SO2 ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) และ NO2 ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี)
• ระดับที่ 2 ใช้สำหรับพื้นที่ในเมือง เขตอุตสาหกรรม หรือเขตที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเกณฑ์: PM2.5 ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) PM10 ไม่เกิน 70 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) SO2 ไม่เกิน 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี) NO2 ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยรายปี)
ในปี 2024 คุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งได้สร้างสถิติใหม่ คือกรุงปักกิ่งมีจำนวนวันที่อากาศดีเยี่ยมถึง 290 วัน เพิ่มขึ้น 19 วันเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่จำนวนวันที่มีมลพิษหนักลดลงเหลือเพียง 2 วัน ลดลง 6 วันจากปีก่อน หลังจากการดำเนินการควบคุมมลพิษอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี “ท้องฟ้าสีครามแห่งปักกิ่ง” ได้บรรลุเป้าหมาย จีนประสบความสำเร็จในการจัดการมลพิษทางอากาศใช้เวลากว่าสิบปี
หากมองในมุมการแก้ปัญหาระดับมหภาคและจุลภาค การแก้ปัญหาของจีนมีประเด็นสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.การวางนโยบายที่ชัดเจน จีนได้ออกแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ (Air Pollution Prevention and Control Action Plan) ในปี 2013 โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อลด PM2.5 ในเขตเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว พร้อมระบุเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่ต้องทำให้สำเร็จ
2.การปรับโครงสร้างพลังงาน ลดการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมและการผลิตพลังงาน โดยแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ ในกรุงปักกิ่งมีการปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดและเปลี่ยนไปใช้ระบบทำความร้อนด้วยก๊าซธรรมชาติแทน
3.การพัฒนาขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการใช้ยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicles - NEVs) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจำกัดการใช้รถยนต์ที่ปล่อยควันพิษสูง การขยายระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟใต้ดินและรถบัสไฟฟ้า
4.การเพิ่มมาตรฐานการปล่อยมลพิษในอุตสาหกรรม การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เช่น เหล็กกล้า ซีเมนต์ และเคมี การปิดโรงงานที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่
5.การร่วมมือระดับภูมิภาค เขตจิงจินจี้ (ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย) ได้ร่วมมือกันในการลดมลพิษ โดยแบ่งหน้าที่และเป้าหมายที่ชัดเจนระหว่างภูมิภาค การตรวจสอบและประเมินผลอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ
6.การมีส่วนร่วมของประชาชน การรณรงค์และให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การลดขยะ การใช้พลังงานสะอาดในบ้านเรือน เป็นต้น
สิบปีก่อนจีนยังอยู่ในระยะของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง เช่นเดียวกับลอนดอนในศตวรรษที่ 18 และลอสแองเจลิสในศตวรรษที่ 19 ดังนั้นการพัฒนาอย่างรวดเร็วต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นายชิวเฉิงเฉิง นักวิจัยจากองค์กรวิจัยพลังงานและอากาศแห่งชาติจีน เคยกล่าวว่า ปัญหาหมอกควันมักจะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น การเกิดชั้นบรรยากาศกลับด้าน (Inversion Layer) และสภาพอากาศที่นิ่งและคงตัว ทำให้ความสามารถในการกระจายตัวของอากาศลดลง ส่งผลให้มลพิษสะสมตัวง่ายขึ้นและเกิดเป็นความเข้มข้นสูง นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวของจีน ความต้องการพลังงานสำหรับทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเผาไหม้ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน กิจกรรมอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นสูง รวมถึงการปล่อยควันจากการจราจร ส่งผลให้ระดับมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ยังมีพายุทรายเกิดขึ้นบ่อยครั้งยิ่งทำให้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ตอนเหนือของจีนรุนแรงยิ่งขึ้น
สาเหตุของหมอกควันมาจากสองปัจจัยหลัก คือปัจจัยจากมนุษย์ และปัจจัยจากธรรมชาติ นักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ CAS เคยเผยข้อมูลการวิจัยในปี 2013 ที่งานประชุม Beijing International Energy Expert Club ว่า 90% ของหมอกควันมีต้นกำเนิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ในขณะที่มีเพียง 10% ที่มาจากการปล่อยสารตามธรรมชาติ
จากการวิเคราะห์เหตุการณ์หมอกควันรุนแรง 5 ครั้งในช่วงปี 2013-2014 พบว่ามลพิษทางอากาศในปักกิ่งและเมืองโดยรอบประกอบไปด้วย คาร์บอนอินทรีย์ (Organic Carbon) คาร์บอนธาตุ (Elemental Carbon) ซัลเฟต (Sulfate) ไนเตรต (Nitrate) แอมโมเนียม (Ammonium) และฝุ่นละออง (Dust) ในปักกิ่ง ยานพาหนะเป็นแหล่งมลพิษหลัก คิดเป็น 25% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมด รองลงมาคือ การเผาไหม้ถ่านหิน 19% และมลพิษที่พัดพามาจากภายนอก 19% สำหรับพื้นที่เขตที่กว้างออกไปครอบคลุมปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย แหล่งมลพิษหลักมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน 34% ยานพาหนะ 16% และ อุตสาหกรรม 15%
อันตรายของหมอกควันที่พบในจีนคือ ความเข้มข้นของ NO2 ในอากาศมีสูงและมีความเข้มข้นของไนเตรต (Nitrate) ที่เพิ่มขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ และยังมีการทำปฏิกิริยาของ SO2 และซัลเฟตในความเข้มข้นในปริมาณสูง เพราะเหตุนี้ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด จีนได้ลดความเข้มข้นของ PM2.5 ลงถึง 57% ระหว่างปี 2013-2022
นอกจากนี้ จีนได้ออกนโยบายระยะยาวหลายฉบับ เช่น “แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ” “แผนปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อท้องฟ้าสีคราม” และ “แผนปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง” นโยบายเหล่านี้ผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินมาตรการควบคุมมลพิษอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในคุณภาพอากาศของจีน ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความก้าวหน้าของจีนในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถในการบูรณาการนโยบาย การปฏิบัติจริง และการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วคือ ระบบการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้บริหารจัดการสามารถทำได้เด็ดขาดและทันที ซึ่งต่างจากไทยเรา
ดังนั้น ไทยอาจจะต้องกลับมาดูว่า ขณะนี้ที่กำลังแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กันอยู่แก้อย่างตรงจุดหรือยัง การวิเคราะห์ถึงต้นเหตุในเชิงลึกและแก้ปัญหาที่ต้นตอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนมองว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะกระทบกับสุขภาพของประชาชนโดยตรงและเป็นวงกว้าง แต่อีกความท้าทายหนึ่งก็คือการแก้ปัญหาต้องใช้ระยะเวลา การมีแบบแผนชัดเจนและความเด็ดขาดของหน่วยงานผู้ดูแล