xs
xsm
sm
md
lg

ติดใจอะไรนักหนา? ซีอีโอฟอร์ดบอกขับ Xiaomi SU7 แล้วไม่อยากเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายจิม ฟาร์ลีย์ ประธานและซีอีโอบริษัทฟอร์ดมอเตอร์เข้าร่วมงานแถลงข่าวงานแสดงรถยนต์นานาชาติอเมริกาเหนือ (North American International Auto Show) ที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 - ภาพ : รอยเตอร์
นายจิม ฟาร์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเปิดใจ ขับรถเสี่ยวหมี่ SU7 (Xiaomi Speed Ultra 7) มาได้ครึ่งปีแล้ว

“ผมไม่ชอบพูดถึงการแข่งขันมากนัก แต่ผมขับเสี่ยวหมี่” ฟาร์ลีย์บอกกับโรเบิร์ต ลีเวลิน พิธีกรชาวอังกฤษในรายการ “The Fully Charged Podcast” พ็อดแคสต์ที่ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (21 ต.ค.)
 
เขาเล่าต่อไปว่า รถคันนี้ขนมาทางเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้ถึงชิคาโก และเขาขับมาได้ 6 เดือน ถึงตอนนี้ยังไม่อยากเลิกขับเลย

SU7 เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) คันแรกของเสี่ยวหมี่ ซึ่งผลิตจำหน่าย 3 รุ่นด้วยกันคือ SU7 SU7 Pro และ SU7 Max


ฟาร์ลีย์ไม่ได้ระบุว่า เขาขับรุ่นไหน

 
“มันสุดยอดเลยล่ะ พวกนั้นขายได้เดือนละ 1 หมื่น-2 หมื่นคัน ขายเกลี้ยงภายใน 6 เดือน” ฟาร์ลีย์พูดถึงความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีเลือดมังกรเจ้านี้ในบทสัมภาษณ์ อีกทั้ง
ยกย่องรถเสี่ยวหมี่ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม เป็นแบรนด์แกร่งเหนือค่ายรถอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าวบิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ SU7 ต้องแลกมาด้วยการขาดทุน โดยเสี่ยวหมี่รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมว่า แผนกอีวี มียอดขาดทุนที่ปรับแล้ว 252 ล้านดอลลาร์ นั่นหมายถึง SU7 ซึ่งจัดส่งทั้งหมด 27,307 คันในไตรมาสนี้ ขาดทุนราวคันละ 9,200 ดอลลาร์ โดย SU7 จำหน่ายในราคาพื้นฐานที่ 215,900 หยวน ราว 30,000 ดอลลาร์ หรือ 1,013,100 บาท และมีจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น


โฆษกของเสี่ยวหมี่ชี้แจงกับบิสซิเนสอินไซเดอร์ว่า อีวีรุ่นแรกเป็นรถเก๋งไฟฟ้าล้วน การลงทุนจึงใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง แต่บริษัทเล็งขยายแผนกรถอีวีเพื่อลดต้นทุนการผลิต


เสี่ยวหมี่บริษัทเทคโนโลยีจีนจัดงานเปิดตัว Speed Ultra 7 (SU7) รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์กล่าวว่า นับเป็นการเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีนที่มีการแข่งขันสูงและท้าทาย - ภาพ : ไชน่าเดลี
ด้านหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า คุณภาพรถอีวี เมดอินไชน่า ทำให้ฟาร์ลีย์กับจอห์น ลอว์เลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฟอร์ดทึ่ง หลังจากได้ทดสอบรถ SUV ไฟฟ้าของ ฉางอันออโตโมบิล ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจระหว่างอยู่ในประเทศจีนช่วงต้นปี 2566

“จิม นี่มันไม่เหมือนเมื่อก่อนเลยนะ”


“พวกเขาแซงหน้าเราไปแล้ว” ลอว์เลอร์พูดกับฟาร์ลีย์ ตามรายงานของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล


ฟาร์ลีย์ไปเยือนจีนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เมื่อกลับมาก็บอกกับบอร์ดผู้บริหารว่า อุตสาหกรรมรถยนต์แดนมังกรเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของฟอร์ด


ฟาร์ลีย์แสดงความคิดเห็นท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนยังคงครองตลาดอีวีทั่วโลก โดยข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี ABI Research ระบุว่า ค่ายรถจีนครองสัดส่วนร้อยละ 88 ของตลาดอีวีในบราซิล และร้อยละ 70 ในไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2567


ในขณะที่ค่ายรถมะกันอย่างฟอร์ดรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทร่วง


ในการกำหนดแนวทางเข้าสู่ตลาดอีวี การแข่งขันกับบรรดาคู่แข่ง เช่น เสี่ยวหมี ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียวสำหรับฟอร์ด


ฟอร์ดกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อีวี และจะเปลี่ยนเอารถไฮบริดมาแทนรถเอสยูวีไฟฟ้าที่เคยวางแผนก่อนหน้าว่าจะผลิต ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจต้องใช้ทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์


“ผมพยายามขับรถทุกยี่ห้อที่เราแข่งขันด้วย ทำมาตลอดอาชีพของผม”


“สเปกสินค้าบอกเรื่องราวได้บางส่วน แต่คุณต้องอยู่หลังพวงมาลัยจึงจะเข้าใจและเอาชนะคู่แข่งได้อย่างแท้จริง” ฟาร์ลีย์โพสต์ข้อความใน X เมื่อวันพุธ (23 ต.ค.) เพื่อชี้แจงข่าวที่เขาติดใจขับรถเสี่ยวหมี่ไม่เลิก


ที่มา : Business Insider



กำลังโหลดความคิดเห็น