“วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลา” กลายเป็นประเด็นถกเถียงเผ็ดร้อนอีกครั้งในโลกโซเชียลแดนมังกร หลังมีข่าวว่า บริษัทคอนเทมโพรารี แอมเพเร็กซ์ เทคโนโลยีจำกัด (Contemporary Amperex Technology Co. Limited - CATL ) ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บังคับพนักงานทำงานตามสูตร 896 ซึ่งหนักหน่วงกว่า 996
แคมเปญ “การทำงานหนัก 100 วัน” ("100 days of hard work") ของ CATL ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์
โซหูไฟแนนเชียล รายงานว่า ภาพหน้าจอการแชตในหมู่พนักงานแสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้องของบริษัทที่ให้พนักงานนำ “ตารางการทำงาน 896” มาปรับใช้ กล่าวคือเข้าทำงาน 8 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 100 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในแชตของพนักงานระบุว่า พนักงานระดับกลาง-ระดับอาวุโส และทีมงานด้านเทคนิคโดนด้วย
พนักงานคนหนึ่งบอกกับไฉเหลียนเพรสส์ ว่า ตารางงาน 896 ได้มีการแจ้งให้ทราบด้วยวาจาในระหว่างการประชุมแผนกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน
แม้ในการรายงานของสื่อหลายสำนักไม่ระบุชื่อบริษัท แต่เป็นที่รู้กันได้ว่าคือ CATL
พนักงานอีกคนบอกกับไฉซินมีเดีย ว่า แม้ไม่มีการบังคับอย่างเป็นทางการ แต่พวกลูกจ้างมักทำงานตามตารางที่ว่านี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกวิจัยและการพัฒนา ซึ่งการทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม บุคคลวงในของ CATL ได้ชี้แจงกับเฉิงตูอีโคโนมิกเดลี ว่า “โมเดลการทำงาน 896” เป็นแค่ข่าวลือที่กุกันขึ้นมา แต่บริษัทประกาศการรณรงค์ “การทำงานหนัก 100 วัน” จริง หวังให้พนักงานพากเพียรทำงานเพื่อให้เติบโตในอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟูนี้
โมเดล 996 เข้าทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม วันละ 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันไม่จบสิ้นในจีน ก่อนจะมีข่าวโมเดล 896 โดยมีผู้หยิบยกประท้วงครั้งแรกเมื่อปี 2562 บนแพลตฟอร์มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก GitHub ของไมโครซอฟท์ เขาโต้แย้งว่าโมเดล 996 คุกคามสุขภาพของพนักงานด้านเทคโนโลยี
กระนั้นก็ตาม คนทำงานมักรู้สึกว่าควรทำงานล่วงเวลา เพราะถือเป็น “กฎที่ไม่ได้เขียนไว้” แรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
เดือนสิงหาคม 2564 ศาลสูงสุดของจีนตัดสินว่านโยบาย 996 เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ในทางเทคนิค กฎหมายแรงงานของจีนห้ามให้พนักงานทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ทำงานล่วงเวลาไม่ควรเกิน 36 ชั่วโมงต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์สำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า พนักงานในจีนบางคนยอมอดทนทำงานล่วงเวลานานๆ ถ้าได้ค่าตอบแทนที่ดี
ฟู่ เผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์นอร์ทอีสต์ ระบุว่า คนหนุ่มสาวในจีนเต็มใจทำงาน แต่ถ้าไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมก็ไม่อยากทำ
“ถ้าได้รับค่าจ้างมากกว่าปกติ 10 เท่า คนหนุ่มสาวจะทำงานล่วงเวลาจนกว่านายจ้างจะล้มละลายกันไปข้าง” เขากล่าว
นักสังเกตการณ์คนหนึ่งเห็นด้วยกับฟู่
“เราไม่กลัวการทำงานหนัก แต่กลัวทำงานเกินค่าตัวต่างหากล่ะ” เขาระบุในเวยปั๋ว
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ / โกลบอลไทมส์