ฮ่องกงเสนอมาตรการจูงใจนักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย ภาษี และเงินทุนสนับสนุนธุรกิจยุทธศาสตร์ วางตัวเป็น “ประตูสู่จีน” เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area)
สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง และสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง ได้จัดงาน Thailand-Hong Kong Business Forum เมื่อวันที่ 18 มีนาคม วิทยากรได้เล่าถึงการปรับยุทธศาสตร์ของฮ่องกงเพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงโอกาสในการเชื่อมโยงกับธุรกิจของไทย
หลังจากประเทศจีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ฮ่องกงก็ถูกมองว่าเป็น “ประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่” และทุกวันนี้เมื่อเศรษฐกิจในจีนเติบโตมากขึ้น ฮ่องกงก็ยิ่งต้องเชื่อมโยงกับจีนมากขึ้น โดยรัฐบาลจีนได้ออกยุทธศาสตร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area (粵港澳大灣區) ซึ่งครอบคลุมฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองของมณฑลกวางตุ้ง มีประชากรในพื้นที่มากกว่า 68 ล้านคน และขนาด GDP รวมกันมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
พื้นที่ Greater Bay Area มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกัน เช่น สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า และรถไฟความเร็วสูงจากเมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้ง ไปยังสถานีเวสต์ เกาลูนในฮ่องกง
Ms.Alpha Lau อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (Invest Hong Kong) ระบุว่า ฮ่องกงมีระบบเศรษฐกิจที่เสรีที่สุดในโลก ภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” มีกฎหมายและการเงินที่เอื้อต่อการทำธุรกิจอย่างมาก รวมถึงระบบภาษีในอัตราต่ำและเรียบง่าย โดยฮ่องกงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินปันผล ภาษีผลกำไรจากลงทุน หรือ capital gain ส่วนภาษีศุลกากรมีเฉพาะ บุหรี่และสุราดีกรีสูง
ในปี 2566 ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมเกือบ 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนด้านการลงทุน ฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ด้วยการลงทุนในไทยกว่า 23,000 ล้านบาท
ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ธุรกิจไทยที่โดดเด่นในฮ่องกงคือ อาหาร นอกจากนี้ในเรื่องของ Soft power ที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังโปรโมต ไทยเรามีโอกาสในเรื่องนี้กับฮ่องกงเช่นเดียวกัน
“ในเรื่องของแฟชั่น เมืองไทยมีดีไซเนอร์ที่ดีและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดี ดาราและอินฟลูเอนเซอร์ของไทยก็เป็นที่นิยมของทางฮ่องกงด้วยเช่นกัน จะเป็นส่วนสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ที่จะเข้าไปทางฮ่องกงและเข้าไปสู่จีนได้ และในมุมกลับกัน ประเทศไทยจะเป็นช่องทางให้จีนเพื่อเข้าสู่ตลาดเอเชียและรวมถึงตะวันตกด้วย”
ทางการฮ่องกงได้ปรับตัวเพื่อดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ และรักษาศักยภาพการแข่งขัน จึงได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดึงดูดธุรกิจยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีชีวิตและสุขภาพ วิทยาศาสตร์ข้อมูลและเอไอ เทคโนโลยีการเงินมเทคโนโลยีพลังงานใหม่และการผลิตชั้นสูง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ ให้คำปรึกษา รวมถึงมีเงินทุนสนับสนุนเพื่อดึงดูดนวัตกรรม และบุคลากรที่มีความสามารถด้วย
คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งคุ้นเคยกับการสนับสนุนนักธุรกิจของไทยให้ไปบุกเบิกตลาดในฮ่องกงและจีน ให้ความเห็นถึงโอกาสของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ว่า
“สตาร์ทอัปสามารถขอเงินทุนสนับสนุนจากทางฮ่องกงได้ และสำหรับธุรกิจ SMEs ฮ่องกงมีโอกาสที่ดีในการเปิดตลาด หาพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงเปิดอีคอมเมิร์ซ หรือโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มของฮ่องกงกับจีน นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีโอกาสในการลงทุนที่หลากหลาก ทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีการเงิน ตลอดจนการตั้งบริษัทและสำนักงาน”
ล่าสุด ฮ่องกงมีนโยบายผลักดัน “เศรษฐกิจกิจกรรม” (盛事經濟) ด้วยการจัดอีเวนต์นิทรรศการ การประชุมนานาชาติ งานศิลปะ การแสดงของศิลปินระดับโลก คอนเสิร์ต รวมทั้งการแข่งขันกีฬา
สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือ HKTDC ได้สนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในทุกประเภทแทบทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี ทั้งอาหาร ของเล่น เพชรพลอย ภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง จนถึงอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น ส่วนการประชุมใหญ่ๆ มีอยู่ตลอด เวทีที่ได้รับความสนใจมาก เช่น Asia Financial Forum ที่จัดไปเมื่อ 24-25 มกราคม มีผู้เข้าร่วมการประชุมมากถึง 3,600 คน จาก 50 ประเทศและดินแดน และมีวิทยากรชั้นนำมากกว่า 140 คน
Mr.Ronald Ho ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง ระบุว่า ในปี 2566 GDP ของฮ่องกงขยายตัวขึ้น 3.2% จากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนและจากการลงทุน ภาคการค้าปลีกเติบโตขึ้น 16.2% ภาคสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่นขยายตัว 41% โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 นี้เศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัวได้ถึง 3.5%
คุณเชาว์ชัย เจียมวิจิตร ประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนด้านจีนตอนใต้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ฮ่องกงวางตัวเองชัดเจนในการเป็นที่ปรึกษา และช่องทางเพื่อเข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการเงินของฮ่องกงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การทำธุรกิจทั้งในฮ่องกง และขยายธุรกิจไปยังจีนประสบความสำเร็จร่วมกันได้.