โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ผู้เขียนเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี (EV) กันเป็นจำนวนมากเนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริโภคหลายคนหันมาใช้รถยนต์อีวีกันแล้ว ในขณะที่บางคนยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะซื้อใช้เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ อยากจะรอดูไปก่อนสัก 2-3 ปีว่ารถยนต์อีวีจะมีข้อเสียหรือปัญหาอะไรที่ชัดเจนหรือไม่ ราคามือสองจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
สำหรับคนที่ติดตามเรื่องวงการรถยนต์จะทราบดีว่าในช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา รถยนต์แบรนด์จีนรุกตลาดไทยหนักและทำยอดขายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจีนค่ายบีวายดี (BYD) ปัจจุบันขึ้นแท่นรถยนต์อีวีอันดับหนึ่งในไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดไปแล้ว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์อีวีในไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันระหว่างกันของรถยนต์แบรนด์จีนในไทยคงจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
มีรายงานหนึ่งที่น่าสนใจจากการเก็บข้อมูลสถิติของสถาบัน Canalys กล่าวว่า ในจีนมีการแข่งขันด้านรถยนต์อีวีที่รุนแรงมาก แต่ไม่มีค่ายรถยนต์รายไหนเลยที่ครองส่วนแบ่งตลาดจีนได้เกิน 10% จากสถิติในครึ่งปีแรกของปีนี้มี 7 ค่ายรถยนต์อีวีของจีนที่มียอดขายมากกว่า 1 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4 โรงงาน ในจำนวนนี้รถยนต์บีวายดี (BYD) เป็นแบรนด์เดียวที่มียอดขายมากกว่า 1 ล้านคัน โดย 5 อันดับแรกของผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายครึ่งปีนี้มากที่สุดมีดังต่อไปนี้
1) บีวายดี มียอดขาย 1.082 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 89.4%
2) เทสลา (Tesla) มียอดขาย 287,119 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 44.9%
3) SAIC มียอดขาย 275,521 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 13.5%
4) GAC GROUP มียอดขาย 222,942 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
127.2%
5) GEELY AUTO มียอดขาย 202,737 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 114.1% โดยผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 5 นี้มียอดขายรวมกัน 69.1% ของยอดขายรถยนต์อีวีในจีนทั้งหมด
ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าตลาดในจีนมีการแข่งขันสูง และแต่ละแบรนด์พยายามที่จะสร้างจุดยืนและลักษณะพิเศษเฉพาะของตน ในฐานะแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ อย่างบีวายดีมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดรถยนต์อีวีของจีน สาเหตุของความสำเร็จของบีวายดีมีหลายปัจจัย เช่น การเข้าสู่ตลาดอีวีตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นผู้บุกเบิก และบีวายดีมีกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง และสุดท้ายบีวายดีมีชื่อเสียงที่ดีในกลุ่มผู้ใช้
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลยุทธ์สงครามราคาของเทสลาได้สร้างความท้าทายต่อแบรนด์รถยนต์อีวีจีน เนื่องจากอิทธิพลของแบรนด์ระดับโลกและความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีของเทสลา การลดราคาอย่างดุเดือดของเทสลาทำให้บริษัทรถยนต์อีวีแบรนด์เล็กของจีนตกอยู่ภายใต้ความกดดันมากขึ้น
การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังสร้างแรงกดดันในการยกระดับเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน
ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์อีวีของจีนยังคงมีจุดอ่อนบางประการในด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เทคโนโลยีมอเตอร์ เทคโนโลยีการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์
ด้วยการพัฒนาของการใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีอัจฉริยะ รถยนต์ได้เปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมไปเป็น “ผลิตภัณฑ์ทางเทคนิค” ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อีวีต้องปรับปรุงความสามารถด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของตัวเองด้วย
เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายและโอกาสที่มากมายพร้อมกันเหล่านี้ ผู้ผลิตรถยนต์จีนจึงจำเป็นต้องนำกลยุทธ์เชิงรุกมาใช้ พวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ในทางกลับกันพวกเขายังจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือกับซัปพลายเออร์ระดับโลก แบ่งปันทรัพยากร ลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน เช่น ระบบการประกอบพื้นด้านหลังของเทสลาโมเดลวาย ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีการหล่อขึ้นรูปแบบรวมเพื่อให้ได้การหล่ออย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา วิธีหล่อแบบนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตของเทสลาลดลงอีก 40%
ในขณะที่เทสลากำลังหาวิธีการพัฒนาใหม่ๆ พร้อมการลดต้นทุนการผลิต บริษัทรถยนต์ในจีนเริ่มวางแผนของตนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตรถยนต์จีน ค่าย NIO ประสบความสำเร็จในการทดสอบทำชิ้นส่วนหล่อขนาดใหญ่ได้ในปี 2021 และอีกหลายบริษัทรถยนต์อีวีจีนแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อแบบครบวงจร
การกระโดดเข้ามาในตลาดรถยนต์อีวีไม่ใช่มีเพียงแค่กลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์ดั้งเดิมเท่านั้น บริษัทใหญ่ในภาคอื่นๆ เห็นศักยภาพของตลาดที่มีมาก ก็กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดกับเขาด้วย อย่างเช่น หัวเว่ย (Huawei) เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ไป๋ตู้ (Baidu) ต่างกำลังพัฒนาและขายรถยนต์อีวีของตนเอง และเพราะการแข่งขันในประเทศที่รุนแรงทำให้ก่อนหน้านี้มีประเด็นร้อนเกี่ยวกับ “รถยนต์อีวีในจีนปัจจุบันโอเวอร์ซัปพลาย” โดยในรายงานระบุว่าปัจจุบันมีรถยนต์อีวีทั่วประเทศจีนค้างสต๊อกอยู่ 1 ล้านคัน และสาเหตุที่ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นของรถยนต์อีวีอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นโอเวอร์ซัปพลายนี้เกิดจาก 3 ประการด้วยกันคือ หนึ่งถูกขับเคลื่อนโดยนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุน สองกระแสฮิตการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี และสามอุปสรรคด้านเทคนิคน้อยทำให้ผลิตได้ง่าย
การที่มีนโยบายสนับสนุนภาครถยนต์อีวีเป็นสิ่งที่ดีแต่นำมาซึ่งผลด้านลบ เช่น บางโรงงานเน้นผลิตเยอะเพื่อต้องการได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอะๆ แต่มองข้ามเรื่องคุณภาพและการพัฒนาศักยภาพ ต่อมาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีกำลังเป็นเทรนด์ในจีน ทำให้การลงทุนเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อย่างรวดเร็วทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว สุดท้ายเมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม อุปสรรคทางเทคนิคของตลาดรถยนต์อีวีค่อนข้างต่ำ เทคโนโลยีหลักของรถยนต์อีวี ได้แก่ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีเหล่านี้มีการใช้และพัฒนาอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้นการเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจึงเข้ามาได้ง่าย ดึงดูดบริษัทใหม่จำนวนมากให้เข้ามา นำไปสู่ปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน
นายติง หรงจุน นักวิชาการของ Chinese Academy of Engineering ระบุว่ายอดขายรถยนต์อีวีทั่วโลกจะมากกว่า 10.824 ล้านคันในปี 2023 ในจำนวนนี้จะมียอดขายในจีน 6.88 ล้านคัน คาดว่าภายในปี 2025 ยอดขายรถยนต์อีวีทั่วโลกจะเกิน 25 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้จีนจะมีสัดส่วนสูงถึง 15 ล้านคัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์พลังงานใหม่ในตลาดโลก ซึ่งยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ยังบ่งชี้ว่าจีนจะเข้าสู่ยุคพลังงานใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์อีวีของจีนมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมล่าสุดของ BYD เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะของค่ายรถ Xiaopeng เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ของ NIO เป็นต้น
ผู้เขียนสังเกตว่าในทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนมีการผลัดใบเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว “วงจรของธุรกิจค่อนข้างสั้นเพราะการแข่งขันที่รุนแรง”
ในประเด็นของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีในจีนนั้นมีคนบอกว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะ “การแข่งขันในวงล้อ” กันแล้ว เพราะสงครามราคา การเปลี่ยนแปลงของการอุดหนุนของภาครัฐ รวมทั้งภาวะโอเวอร์ซัปพลาย ทำให้หลายโรงงานรถยนต์อีวีจีนประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้วคงเหลือไม่กี่เจ้าที่ครองตลาดได้อย่างยั่งยืน