สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากสาเหตุอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น หรือภาวะโลกร้อน คือมหันตภัยสำหรับมวลมนุษยชาติ แต่ในความโหดร้ายของธรรมชาติก็ยังหลงเหลือความปรานี
คณะนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (ซีเอเอส) พยายามประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความเข้มข้นของเกลือในทะเลสาบบนที่ราบสูงทิเบต และพบว่า น้ำจากธารน้ำแข็งละลายและหยาดน้ำฟ้า (precipitation) ซึ่งตกลงมามากขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้ทำให้ความเข้มข้นของเกลือในทะเลสาบลดลง ทะเลสาบมีความเหมาะสมในดำรงชีวิตของพืชและสัตว์น้ำมากกว่าเดิม นำไปสู่แนวโน้มเกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำ
ผลการศึกษาตีพิมพ์เมื่อเดือน ก.ค.2566 ใน “อินเตอร์เนชันแนล เจอร์นัล ออฟ ดิจิทัล เอิร์ท” (International Journal of Digital Earth) ซึ่งเป็นวารสารลงบทความวิชาการ ที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายจู ไล่ผิง นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบตในสังกัดซีเอเอส และเป็นผู้รับผิดชอบการเขียนผลการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า ปริมาณน้ำในทะเลสาบบนที่ราบสูงทิเบตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในช่วง 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา จาก 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2533 เป็น 9 แสน 6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรในปัจจุบัน
ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้ทะเลสาบลดความเค็ม ซึ่งยังลดความเสี่ยงที่ทะเลสาบจะมีแร่ธาตุและสารอาหารอุดมสมบูรณ์ จนส่งผลให้สาหร่ายที่มีอันตรายเติบโตเต็มทะเลสาบ
นอกจากนั้น นายจู ระบุว่า ความเข้มข้นของเกลือที่ลดลงยังอาจช่วยให้ภูมิภาคแห่งนี้มีน้ำสำหรับดื่มมากขึ้นอีกด้วย โดยน้ำบาดาลในบางพื้นที่อาจดื่มได้ และสามารถทดน้ำจากทะเลสาบทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลสาบยัมโจหยุมโค (Yamzho Yumco) ทะเลสาบใหญ่สุดแห่งหนึ่งในทั้งหมด 3 แห่งในเขตปกครองตนเองทิเบต
ที่ราบสูงทิเบตมีพื้นที่ทะเลสาบคิดเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทะเลสาบ ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศจีนนั้น โดยกว่า 1,400 แห่งมีขนาดใหญ่กว่า 1 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 4,000 เมตร ซึ่งมีการประกอบกิจกรรมของมนุษย์น้อยที่สุด
ผลการศึกษาชิ้นนี้พบว่า ทะเลสาบที่มีการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของเกลืออย่างมีนัยสำคัญนั้น ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลางและภาคเหนือของที่ราบสูงทิเบต
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์