สมาคมวางแผนครอบครัวของจีนเปิดตัวโครงการสร้างสรรค์วัฒนธรรมการสมรสและการเลี้ยงดูบุตร “ยุคใหม่” หวังกระตุ้นให้หญิงแดนมังกรสละโสดและมีลูก
มีการประกาศโครงการก่อนหน้าวันครอบครัวสากลวันที่ 15 พ.ค. เพียงหนึ่งวัน นับเป็นกลยุทธ์ล่าสุดที่ทางการจีนคิดขึ้นมา เพื่อพยายามเพิ่มอัตราการการเกิดของประชากร ซึ่งอยู่ในทิศทางขาลง โดยได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 20 เมืองในปี 2565 รวมทั้งในกรุงปักกิ่ง ฮับอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเมืองกว่างโจว และที่เมืองหานตาน ในมณฑลเหอเป่ย
โครงการมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนแต่งงานและมีลูกเมื่อถึงวัยอันเหมาะสม สนับสนุนให้พ่อแม่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกร่วมกัน ลดค่าสินสอดที่สูงเกินไป เลิกค่านิยมการจัดงานแต่งที่หรูหราฟุ่มเฟือย การตัดขนบประเพณี ที่ล้าสมัยบางอย่างออกไป รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคม ที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร
เหอ หยาฟู นักประชากรศาสตร์ระบุว่า สังคมจำเป็นต้องมีการชี้นำความคิดในเรื่องการแต่งงานและการมีบุตรให้คนหนุ่มสาวมากขึ้น
นอกจากโครงการนำร่องเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศโน้มน้าวใจให้อยากเลี้ยงลูกแล้ว หลายมณฑลยังประกาศมาตรการอื่นๆ ออกมากันอย่างคึกคัก เพื่อสนับสนุนการมีบุตร เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย และการให้เงินอุดหนุนการศึกษา หรือให้เล่าเรียนฟรีสำหรับลูกคนที่ 3 ของครอบครัว
หลายเมืองยังประกาศรับจดทะเบียนสมรสในวันเสาร์ที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างยุคใหม่ของวัฒนธรรมการสมรส โดยวันที่ 20 พ.ค. เป็นวันที่คู่บ่าวสาวชาวจีนนิยมไปจดทะเบียนสมรสกันมากที่สุดวันหนึ่ง
การบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปี 2523-2558 เป็นต้นตอของปัญหาท้าทายด้านประชากรศาสตร์ในประเทศ จนทำให้ประชากรจีนลดจำนวนลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และอินเดียแซงขึ้นมาเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทน
ด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายที่ปรึกษาด้านการเมืองของรัฐบาลจีนจึงได้มีการเสนอให้สตรีโสดที่ยังไม่แต่งงาน สามารถเข้ารับบริการแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ และการทำเด็กหลอดแก้วได้ เพื่อส่งเสริมอัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศ
ปัจจุบัน มีผู้หญิงมากมายในจีนตัดสินใจเลื่อนการมีลูกเพิ่มออกไป หรือไม่มีเลย เนื่องจากปัญหาภาระค่าเลี้ยงดูที่สูงขึ้น และต้องลาออกจากงาน เพื่ออยู่เลี้ยงลูกที่บ้าน ซึ่งการเลือกปฏิบัติทางเพศยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่
ที่มา : รอยเตอร์ / โกลบอลไทมส์