สบส.ลุยทบทวนร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ แก้ปัญหาขบวนการรับจ้างเป็นธุรกิจ พบเทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์สร้างรายได้กว่า 4.5 พันล้านบาท สกัดการมีคนกลาง นายหน้า เพิ่มอัตราโทษ
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หลัง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีผลบังคับใช้ สบส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานพยาบาลที่มีข้อมูลเบาะแสว่า มีความเชื่อมโยงกับการรับจ้างอุ้มบุญ ลงนามบันทึก MOU กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยกระดับคดีอุ้มบุญเป็นคดีพิเศษ เพื่อนำผู้กระทำผิด ทั้งชาวไทยและต่างชาติมาดำเนินการตามกฎหมาย แต่ยังพบรายงานข้อมูลหญิงรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายเป็นระยะ ซึ่งมักทำเป็นขบวนการเกี่ยวเนื่องกันทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น สบส. จึงทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงบางมาตราให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
"สาระสำคัญ คือ การกำหนดนิยามของผู้อนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่ หนังสือรับรองมาตรฐาน การห้ามผู้ใดกระทำการเป็นคนกลาง นายหน้า ให้เกิดการรับจ้างตั้งครรภ์แทน ทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย การเพิ่มอัตราโทษปรับ และจำคุก แก่ผู้รับจ้างตั้งครรภ์แทน คนกลาง หรือนายหน้า เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย" นพ.สุระกล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสถานพยาบาลรัฐและเอกชนซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 108 แห่ง แบ่งเป็นรัฐ 16 แห่ง และเอกชน 92 แห่ง มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึง 46% ให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา ผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา สร้างรายได้กว่า 4,500 ล้านบาท จากมูลค่ารายได้ อีกทั้งผู้ร่วมขบวนการอุ้มบุญเป็นกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้จ้าง หญิงรับจ้าง นายหน้าต่างๆ โดยมิได้คำนึงด้านกฎหมายและจริยธรรม การทบทวนร่าง พ.ร.บ.ให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน จะช่วยยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย อุดช่องว่างมิให้เกิดการทำธุรกิจอุ้มบุญผิดกฎหมาย ช่วยส่งเสริมให้คู่สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายได้มีบุตรตามที่มุ่งหวัง