xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive: มรสุมโควิด มรสุมการเมือง เมื่อชาวจีนสุดทน “โควิดเป็นศูนย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนเผชิญการระบาดของโควิดระลอกใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังการผ่อนปรนมาตรการ “Dynamic Zero Covid” รัฐบาลจีนต้องหาทางทั้งหยุดยั้งโรค และดับความไม่พอใจของประชาชน

จีนกำลังเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่หนักหนาที่สุด จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ เฉลี่ยวันละเกือบ 3,700 คน และถ้ารวมผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการจะมีมากถึงเกือบ 40,000 คนต่อวัน เมืองที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ ฉงชิ่ง กว่างโจว ปักกิ่ง ที่ขณะนี้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด จนสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขนาดนี้ หากเป็นในอดีตจะต้องมีการ “ล็อกดาวน์” แบบที่ทั้งเมืองไม่มีรถราและผู้คนที่ออกนอกบ้านเลย แต่ขณะนี้การล็อกดาวน์ห้ามประชาชนออกจากพื้นที่ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่การปิดพื้นที่ในวงกว้าง โดยปิดเฉพาะจุดที่พบผู้ติดเชื้อ และระยะเวลาการปิดพื้นที่สั้นลง ผู้คนยังออกนอกบ้านได้แต่ถูกจำกัดด้วยมาตรการตรวจเชื้อที่เข้มงวด

โรงแรมแห่งหนึ่งถูก ล็อกดาวน์ หลังพบผู้ติดเชื้อ
ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจาก เมื่อวันที่ 11 พ.ย. คณะทำงานควบคุมโรคของคณะรัฐมนตรีจีนได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรการควบคุมโรคที่เรียกว่า “บัญญัติ 20 ประการ” ที่มีการผ่อนปรนหลายอย่าง

อ่านที่ : Exclusive : บันทึกจากเขต “เฉาหยาง” เมื่อโควิดกระหน่ำปักกิ่ง

แต่ทว่า การปรับปรุงมาตรการนี้ดูเหมือนยังไม่มี “พลวัต” มาเพียงพอ เพราะประชาชนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับการถูกกักอยู่ในบ้าน ภาคธุรกิจก็รับไม่ไหวที่จะถูกล็อกดาวน์ปีละ 2 ครั้ง ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ มีการชุมนุมประท้วงในหลายเมืองทั้งเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หนานจิง ฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุเหตุไฟไหม้อพาร์ตเมนต์ในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 9 ราย โดยเชื่อว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้มานานหลายเดือน คือต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหนีออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ได้

กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

รัฐบาลจีนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โดยประชาชนจำนวนไม่น้อย "สุดจะทน" กับมาตรการเข้มงวด แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มผู้สูงอายุและชาวชนบทที่แสดงความเห็นว่า การผ่อนปรนตามมาตรการ “บัญญัติ 20 ประการ” คือการ “นิ่งเฉย” ดูดายให้ประชาชนต้องเสี่ยงชีวิตจากโรคร้าย  ยิ่งเมื่อมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ก็มีทั้งกลุ่มที่บอกว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่ก็มีผู้ที่กลัวจะติดเชื้อและแย้งว่า โควิดมีความไม่แน่นอนสูงมาก ผู้ป่วยที่มีอาการหนักและเสียชีวิตก็มีเช่นกัน

สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่งมีแต่ความเงียบเหงา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุกับผู้สื่อข่าว MGR Online ประจำกรุงปักกิ่งว่า “การระบาดของโรคในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นเรื่องปกติ” และคิดว่า “ถ้าไม่ถึงที่สุดจริง ๆ รัฐบาลจีนคงจะไม่ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์” เนื่องจากสังคมจีนมีความกลัวความเสี่ยงอย่างมาก (High Risk Aversion) การจะเปิดประเทศอย่างเต็มที่เหมือนกับนานาชาติ โดยที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้วน่าจะเป็นไปได้ยาก

ผู้สื่อข่าวประเมินว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนยังมีความระแวดระวังอย่างมาก โดยเชื่อว่าการล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่บ้านดีกว่าให้เสี่ยงติดเชื้อ และผลกระทบต่อธุรกิจเกิดจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของประชาชน ไม่ใช่จากมาตรการควบคุมโรค

ผู้กำหนดนโยบายควบคุมโรคของจีนยังเชื่อมั่นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนนั้นเกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ ไม่ใช่จากตัวนโยบาย โดยรัฐบาลจีนได้ย้ำว่าจะจัดการกับการใช้มาตรการที่เกินเลย และไม่สอดคล้องกับ “บัญญัติ 20 ประการ”

การล็อกดาวน์ขณะนี้จำกัดเฉพาะอาคารที่พบผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่การปิดพื้นที่ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรับรู้ว่า เมื่อเทียบกับเมื่อเดือนพฤษภาคมที่กรุงปักกิ่งแทบจะกลายเป็น “เมืองร้าง” รัฐบาลจีนมีการผ่อนปรนมาตรการจริง แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่า มีความไม่พอใจจากประชาชนอย่างมากเช่นกัน เพราะนโยบายเช่นนี้ใช้มานานเกือบ 4 ปีแล้ว และยังเหลือจีนเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังใช้นโยบายเข้มงวดนี้

หากรัฐบาลจีนรับฟังความไม่พอใจของประชาชนจะรู้ว่า กระแสความไม่พอใจได้ขยายจากการนโยบายควบคุมโรค ไปถึงตัวประธานาธิบดี “สีจิ้นผิง” และ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน”  รัฐบาลจีนจำเป็นต้องหาสมดุลในมาตรการควบคุมโรค และพิสูจน์ให้ได้ตามคำกล่าวในการประชุม “สมัชชา 20” ที่ว่า “ประเทศคือประชาชน ประชาชนคือประเทศ”  江山就是人民, 人民就是江山.



กำลังโหลดความคิดเห็น