“เคลาส์ ชวาบ” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum - WEF) ยกย่องจีนคือต้นแบบสำหรับหลายชาติในโลก
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ “เถียน เวย” พิธีกรหญิง ผู้จัดรายการ World Insight ของ CGTN สถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของทางการจีน นอกรอบการประชุมผู้นำภาคธุรกิจเอกชนเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC CEO Summit) ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลก วัย 84 ปีผู้นี้ได้ประกาศยกย่องจีน โดยระบุว่า เขายอมรับนับถือความสำเร็จ “อันยิ่งใหญ่” ของจีน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความทันสมัยได้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และเขาคิดว่านี่คือแบบอย่างให้อีกหลายๆ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายชวาบ ก็มีความเห็นว่า แต่ละชาติควรตัดสินใจเองว่า ต้องการนำระบบใดมาประยุกต์ใช้กับประเทศของตน และควรระมัดระวังอย่างมากในการกำหนดใช้ระบบต่างๆ แต่ถึงกระนั้น โมเดลจีนก็เป็นต้นแบบที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับชาติจำนวนไม่น้อย
ฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่า ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นายชวาบ มิได้อธิบายรายละเอียดว่า เขาประทับใจแง่มุมใดของโมเดลจีน หรือมีอะไรบ้างที่จะก่อประโยชน์ให้ชาติอื่นๆ โดยในปี 2557 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศให้มีการใช้ระบบการจัดอันดับคุณธรรมกับหน่วยงานองค์กรของรัฐ ตลอดจนบริษัท และบุคคล โดยวัดจากความน่าเชื่อถือในสังคม (social credit) ขณะที่นายชวาบ เองเคยเขียนบทความเมื่อปี 2562 โดยพูดถึงการให้คะแนน ESG (environmental, social and governance) ซึ่งเป็นการสร้างระบบความน่าเชื่อถือในสังคมอีกรูปแบบหนึ่งนั้นว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบทุนนิยมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Capitalism) ซึ่งเป็นโมเดลที่เขาเสนอเป็นคนแรกเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน เพื่อทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอยู่ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของสังคม นอกเหนือจากคำนึงถึงแต่ผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว และนายชวาบ แสดงความเชื่อมั่นว่า ระบบทุนนิยมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นโมเดลใหม่ ที่จะใช้รับมือกับปัญหาท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ดีที่สุด