เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรทดลองที่สามารถสร้างและปล่อยพลาสมาอุณหภูมิสูงพิเศษเพื่อจำลองสภาวะสำหรับปฏิกิริยาฟิวชัน ได้ถูกแยกชิ้นส่วนและบรรจุหีบห่อในนครเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน เพื่อเตรียมจัดส่งออกสู่ไทยในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้
เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคดังกล่าว ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อจากเอชที-6เอ็ม (HT-6M) เป็นไทยแลนด์ โทคาแมค-1 หรือทีที-1 (TT-1) ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน
สถาบันจะบริจาคเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคแก่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ของไทย ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 พร้อมจัดสรรความช่วยเหลือในการติดตั้งและเปิดใช้งาน รวมถึงบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและการพัฒนาพลังงานฟิวชัน
หวงอี้อวิน สมาชิกหลักของโครงการจากสถาบันฟิสิกส์พลาสมา กล่าวว่า เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 462 ชิ้น ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 84 ตัน และจะถูกขนส่งไปยังไทยด้วยตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้ โดยงานแยกชิ้นส่วนและบรรจุหีบห่อกินเวลานานกว่า 1 เดือน และจำเป็นต้องใช้แรงงาน 40 คน
เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวจะถูกขนส่งถึงไทยช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า ขณะทีมงานชาวจีน 3 กลุ่ม จำนวนราว 60 คน จะเดินทางมายังไทยเพื่อช่วยประกอบ ปรับแต่ง และทดสอบการทำงาน ก่อนจะเริ่มการทำงานปกติในช่วงปลายเดือนมีนาคมปีเดียวกัน
อนึ่ง เป้าหมายสูงสุดของโครงการคือการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเหมือนดวงอาทิตย์ โดยใช้ดิวเทอเรียม (deuterium) ที่มีอยู่มากมายในทะเลมาผลิตพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าพลังงานที่ผลิตจากดิวเทอเรียมในน้ำทะเล 1 ลิตร ผ่านปฏิกิริยาฟิวชัน จะเทียบเท่ากับน้ำมันเบนซิน 300 ลิตร
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน คณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวไทย จำนวน 9 คน ได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเข้มข้นในเหอเฝยเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ความรู้ทางทฤษฎีและวิธีการใช้งานเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค
ด้าน ดร.นพพร พูลยรัตน์ หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รับไทยแลนด์ โทคาแมค-1 ทั้งยังมีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อรองรับเตาปฏิกรณ์นี้โดยเฉพาะ