xs
xsm
sm
md
lg

“เสียวหมี่” ค่ายมือถือแดนมังกรประกาศสู้ หลังถูกอินเดียอายัดทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร้านสมาร์ทโฟนของ เสียวหมี่ บริษัทสัญชาติจีนในนครมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 - ภาพรอยเตอร์
รอยเตอร์ - “เสียวหมี่” บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนของจีน แสดงความผิดหวังที่ถูกทางการอินเดียสั่งอายัดทรัพย์จำนวน 682 ล้านดอลลาร์ (ราว 25,922 ล้านบาท) โดยประกาศเดินหน้าปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทต่อไป

หน่วยงานผู้มีอำนาจอุทธรณ์ของอินเดียระบุเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ย.) โดยยืนยันตามคำสั่งเมื่อเดือน เม.ย. ของหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินของรัฐบาลกลางอินเดีย และอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ให้ยึดเงินจำนวน 55,510 ล้านรูปี ของบริษัทเสียวหมี่ หลังจากผลการสอบสวนพบว่า บริษัทเสียวหมี่มีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวอย่างผิดกฎหมายไปให้แก่นิติบุคคลในต่างประเทศ 3 ราย โดยหลอกให้เข้าใจว่า เป็นการจ่ายค่าลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม เสียวหมี่ชี้แจงในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (2 ต.ค.) ว่า ร้อยละ 84 ของเงินที่ถูกอายัดนั้นเป็นการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ “ควอลคอมม์กรุ๊ป” (Qualcomm Group) บริษัทผู้ผลิตชิปเซ็ตของสหรัฐฯ

“เราจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชื่อเสียงและผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือผลประโยชน์ร่วมของเราต่อไป” ค่ายสมาร์ทโฟนแดนมังกรรายนี้ประกาศ

เสียวหมี่ระบุว่า “เสียวหมี่อินเดีย” (Xiaomi India) เป็นทั้งบริษัทในเครือและเป็นหนึ่งในบริษัทของเสียวหมี่กรุ๊ป โดยบริษัทของเสียวหมี่กรุ๊ปมีการทำข้อตกลงอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อขออนุญาตใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของ “ควอลคอมม์กรุ๊ป” ในการผลิตสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ในอินเดีย ดังนั้น ทั้งเสียวหมี่ และควอลคอมม์จึงเชื่อว่า การที่ “เสียวหมี่อินเดีย” จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ควอลคอมม์ ย่อมเป็นการดำเนินธุรกรรม ที่ชอบด้วยกฎหมาย

จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ตลาดเทคโนโลยี “เคาน์เตอร์พอยต์รีเสิร์ช” (Counterpoint Research) เสียวหมี่ และซัมซุงต่างมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18 เมื่อรวมกันจึงเท่ากับเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนแดนภารตะ ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในโลก รองจากจีน

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน ซึ่งนำไปสู่การปะทะระหว่างทหาร 2 ฝ่ายในปี 2563 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสองตึงเครียด และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจีนหลายรายในอินเดีย โดยแอปพลิเคชันของจีนกว่า 300 ราย ถูกอินเดียสั่งห้ามเข้ามาในประเทศ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งติ๊กต็อก (TikTok) นอกจากนั้น อินเดียยังบังคับใช้กฎระเบียบในการเข้ามาลงทุนของบริษัทแดนมังกรอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น