ในช่วงการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนต้นเดือน มี.ค. ผู้นำจีนส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงหรือผ่อนปรนนโยบายโควิด-19 ทว่า ขณะเดียวกัน จีนก็เผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างหนักหน่วงที่สุดในรอบ 2 ปี จนในช่วงกลางเดือน มี.ค. ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ออกมาย้ำการยึดถือนโยบายโควิดเป็นศูนย์
มาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินใหญ่สุดของประเทศจีน ที่กำลังล็อกดาวน์เมืองอยู่ ช่วง 10 วันก่อนหน้าประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ตัวเลขสะสมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนของเซี่ยงไฮ้พุ่งสูงเกือบ 2 หมื่น
เซี่ยงไฮ้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในคืนวันอาทิตย์ที่ 27 มี.ค. ซึ่งการเป็นการกลับลำกลับคำหลังจากที่ในวันก่อนหน้า (26 มี.ค.) ประกาศว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์เพื่อสยบข่าวลือเรื่องล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ชาวเซี่ยงไฮ้ได้แห่ไปซื้ออาหารข้าวของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ราวกับเกิดศึกใหญ่แย่งชิงสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต จนสินค้าต่างๆเกลี้ยงชั้นวางของในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ก่อนหน้าที่เซี่ยงไฮ้ประกาศปิดเมือง 1 วัน คือในเช้าวันที่ 26 มี.ค. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลับฟู่ตัน นครเซี่ยงไฮ้ นางอู๋ ฟาน (吴凡)ได้กล่าวต่อที่ประชุมเกี่ยวกับปฏิบัติการควบคุมโรคระบาดว่า เซี่ยงไฮ้ไม่อาจที่จะปิดเมือง เพราะเมืองแห่งนี้ไม่ใช่แค่เมืองเซี่ยงไฮ้ของชาวเซี่ยงไฮ้เท่านั้น หากยังมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการรับผิดชอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งประเทศนี้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
มาตรการล็อกดาวน์แบบใหม่ “ปิดและควบคุมแบบหม้อนกเป็ดน้ำแมนดาริน”
ในที่สุด รัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โดยพยายามเลี่ยงใช้คำว่า “ปิดเมือง” (封城)และใช้คำว่า “มาตรการปิดและควบคุม” (封控措施)แทน โดยจัดสูตรที่ถูกเรียกขานกันว่า “มาตรการปิดและควบคุมแบบหม้อเป็ดแมนดาริน” (鸳鸯锅封控)”
ทั้งนี้ “หม้อเป็ดแมนดาริน” จีนกลางเรียก “หม้อยวนยาง” คำว่า ยวนยาง (鸳鸯) แปลว่า นกเป็ดน้ำแมนดาริน เป็นหม้อรูปทรงนกเป็ดน้ำแมนดารินสำหรับเมนูอาหารหม้อไฟ (หรือสุกี้) ตัวหม้อแบ่งเป็น 2 ช่องสำหรับใส่น้ำซุปจืดกับซุปเผ็ด
‘มาตรการปิดและควบคุมแบบหม้อเป็ดแมนดาริน’ ของเซี่ยงไฮ้นี้ใช้แม่น้ำหวงผู่แบ่งเขตปิดและควบคุมซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส พร้อมกับดำเนินการตรวจโควิดแบบปูพรม โดยเฟสแรก ปิดและควบคุมเขตศูนย์การเงินใหม่ผู่ตงทางฝั่งตะวันออกในระหว่างวันที่ 28 มี.ค.ไปถึงวันที่ 1 เม.ย. และผู่ซี ทางฝั่งตะวันตก ปิดและควบคุมจากวันที่ 1-5 เม.ย.นี้
ระหว่างปิดและควบคุมเขตนี้ เจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการสุขภาพเมืองเซี่ยงไฮ้ เรียกร้องผู้อาศัย “อยู่บ้าน” (足不出户)โดยอธิบายนิยามใหม่ล่าสุดของการ “อยู่ในบ้าน” ว่า ห้ามเดินออกนอกประตูบ้าน ทั้งออกไปเดินตามระเบียงตึกหรือทางเดินสาธารณะระหว่างตึกอาคาร บริเวณทิ้งขยะชั้นใต้ดิน บริเวณที่เปิดโล่ง และทำกิจกรรมนอกบ้าน อย่างเช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย จับกลุ่มพูดคุยกัน จูงสัตว์เลี้ยงเดินเล่น หากจะเอาพัสดุไปรษณีย์ด่วน หรือไปทิ้งขยะ ให้คนงานดูแลชุมชนหรืออาสาสมัครช่วยจัดการให้แทน
คำนิยามใหม่ของข้อกำหนด “อยู่บ้าน” นี้ จุดกระแสวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในหมู่ชาวเน็ตเมืองเซี่ยงไฮ้ อย่างเช่น “ผู้สูงอายุจำนวนมากจะมียาไม่พอ” “จะมีอาสาสมัครมากมายพอที่จะมาช่วยหยิบพัสดุไปรษณีย์ด่วน?”
“ชุมชนที่ไม่มีลิฟต์ อาสาสมัครต้องขึ้นมาทีละชั้นๆ มาเก็บขยะ ส่งสิ่งของต่างๆ เหนื่อยตาย...จะทำได้จริงไหม?” “สุนัขจะฉี่ ทำไง?” “อาสาสมัครจะช่วยพาสุนัขไปเดินเล่นไหม?”
ระหว่างการปิดและควบคุมเขตเมืองนี้ บรรดาผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบขึ้นมา ยาที่มีอยู่อาจจะไม่พอ หรือการรักษาหยุดชะงักไป ชาวเน็ตคนหนึ่งเล่าว่า เดือนที่แล้วแม่ของตนมีอาการเลือดออกในสมอง ตอนออกจากโรงพยาบาล โควิดก็ระบาดหนัก แม้โรงพยาบาลอยู่ห่างจากบ้านแค่ 50 เมตร แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่โรงพยาบาลก็หยุดทำการรักษาชั่วคราวและงดจ่ายยา ตอนนี้แม่หยุดยามาครึ่งเดือนแล้ว ชาวเน็ตอีกคนเล่าว่าคนในบ้านของเขาไม่สามารถไปล้างไต โรงพยาบาลบอกให้รออยู่บ้าน
ความพยายามประคองเศรษฐกิจ
รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวเผยว่าในวันอังคาร (29 มี.ค.) เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศ 21 มาตรการสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการหน่วยธุรกิจ โดยคาดว่ามาตรการช่วยเหลือด้านภาษีนี้จะสามารถลดภาระของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในเซี่ยงไฮ้ราว 1.4 แสนล้านหยวน (ราว 7.38 แสนล้านบาท) ในปี 2022
กลุ่มสื่อเทศยังเผยมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าให้กลุ่มธุรกิจของรัฐในเซี่ยงไฮ้ กลุ่มธุรกิจเอกชน กิจการส่วนบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กที่ทำกิจการด้านการผลิตจะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 3 เดือนในปี 2022 เป็นต้น
เซี่ยงไฮ้ เป็นขุมพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยมีสัดส่วน 3.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีจีน สำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างอิง หลิว เพ่ยเชียน นักเศรษฐศาสตร์จีนประจำบริษัทด้านการธนาคารและประกันภัยของอังกฤษ NatWest Group Plc ประเมินว่าการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ 8 วัน อาจหั่นอัตราเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสที่แรก และไตรมาสที่ 2 ของจีนหดลงไป 0.4 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนหน้า
ล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ทำให้ห่วงโซ่อุตสากรรมโลกหยุดชะงักไหม
สื่อทางการจีน เจี่ยฟ่างเดลี่ รายงานในวันอังคาร (29 มี.ค.) ย้ำว่าเซี่ยงไฮ้ยังเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกอย่างไม่มีปัญหาใด โดยหน่วยการผลิตทั้งหมดของเมืองท่าเซี่ยงไฮ้ยังทำการผลิต 24 ชั่วโมงต่อวันตามปกติ ในช่วงไม่นานมานี้การขนส่งคอนเทนเนอร์ต่อวันโดยเฉลี่ยยังรักษาระดับสูงที่ 140,000 TEUs ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ยังให้บริการขนส่งสินค้าหลากหลายรูปแบบ โดยคอนเทนเนอร์สินค้าสามารถถูกขนส่งตรงไปยังท่าเรือไท่ชาง หรือท่าเรือซูโจวเพื่อรวบรวมสินค้า จากนั้นขนส่งไปยังท่าเรือหยังซัน หรือท่าเรือไหว้เกาเฉียว ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงขั้นตอนขนส่งทางบกในเซี่ยงไฮ้
ทางด้านศุลกากร เซี่ยงไฮ้ จุดทำการ 14 แห่งถูกปิด เจ้าหน้าที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหายุ่งยากในการเดินทางไปทำงานที่เขตแนวหน้าด่านศุลกากรระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน แต่มีการจัดระบบงาน AB class ไว้ก่อนหน้านี้แล้วเพื่อรับประกันการดำเนินงานที่ราบรื่นและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ กลุ่มบริษัทและโรงงานต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ซัปพลายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อย่างเช่น สำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างอิงแหล่งข่าวเผยว่า โรงงานผลิตรถยนต์เทสล่าในเซี่ยงไฮ้หยุดงาน 4 วัน นับจากวันจันทร์ที่ 28 มี.ค. และได้แจ้งแก่คนงานและซัปพลายเออร์ แต่สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า เทสล่า เซี่ยงไฮ้ ยังไม่ได้แจ้งคนงานว่าจะมีการขยายเวลาหยุดงานอีกหรือไม่
นอกจากนื้ในภาคเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันหลายรายที่ตั้งโรงงานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และ TSMC ก็มีโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว ในซงเจียงของเซี่ยงไฮ้ ความสามารถการผลิตต่อเดือนราว 60,000 ชิ้น และคนงานราว 2,000 คน ทางบริษัทประกาศว่าทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรการของทางการ โรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ เซมิคอนดักเตอร์ เหอจิง เผยว่า ขณะนี้ยังไม่เกิดผลกระทบใดต่อการทำงานของสต๊าฟและการผลิตของโรงงานในเซี่ยงไฮ้ แต่การขนส่งอาจมีปัญหา เป็นต้น