xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีจีนหนุน ‘ศิริราช’ มุ่งสู่ ‘โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่รถพยาบาลสาธิตการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในรถพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 ก.พ.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 24 มี.ค. - ในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครที่สภาพการจราจรหนาแน่น เจ้าหน้าที่รถพยาบาลเปิดกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูงที่ติดอยู่บนหน้าอก เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องแสดงสัญญาณชีพ และประวัติการรักษาให้แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G เพื่อฟังแนะนำการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในขั้นเบื้องต้น

เมื่อไม่นานนี้ รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า เวลาทุกวินาทีมีความหมายต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมาก และนับตั้งแต่มีการเริ่มใช้งาน “รถพยาบาล 5G” อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง “รถพยาบาล 5G” เป็นส่วนหนึ่งในโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G ของไทย โดยโครงการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และนำร่องโดยโรงพยาบาลศิริราช

 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ 5G ในโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 ก.พ.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
โครงการข้างต้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คลาวด์ (Cloud) และ 5G ของหัวเหว่ย สร้างสรรค์รถพยาบาล 5G การตรวจวินิจฉัยที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วย และการแพทย์ทางไกล ทำให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถปรับเปลี่ยนการบริการสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังนับเป็นโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G ที่หัวเว่ยร่วมดำเนินงานอย่างเป็นทางการโครงการแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยหัวเว่ยยังวางแผนกระจายแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ของไทยในปีนี้ด้วย

โรงพยาบาลศิริราชในวันนี้ได้ใช้งานยานพาหนะไร้คนขับรับส่งยาระหว่างอาคาร ซึ่งช่วยลดการติดต่อสัมผัสในยุคโรคระบาดใหญ่ แพทย์สามารถรับผลซีทีสแกนความละเอียดสูงและสั่งจ่ายยาได้อย่างฉับไว และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรมาพบหมอถึงโรงพยาบาลเหมือนแต่ก่อน

แพทย์ใช้เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ 5G ในโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 ก.พ.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้ว่า การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของไทยไม่เท่ากัน พื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนทรัพยากรการแพทย์ ซึ่งเครือข่ายสัญญาณ 5G จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยหัวเว่ยได้ใช้เทคโนโลยีอันทรงพลังช่วยให้การแพทย์อัจฉริยะ 5G ในไทยกลายเป็นจริง

การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางไกลจำเป็นต้องมีการส่งสัญญาณภาพที่ชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งเครือข่ายสัญญาณ 4G ไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้ แต่สัญญาณ 5G ช่วยให้ดาวน์โหลดภาพ หรือคลิปวิดีโอทางการแพทย์ที่มีความละเอียดสูงในไม่กี่วินาที ทำให้การแพทย์ทางไกลมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

เจ้าหน้าที่บรรจุกล่องยาเข้ายานพาหนะไร้คนขับ 5G ในโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 ก.พ.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
นพ.ประสิทธิ์ เสริมว่า ด้วยความร่วมมือกับหัวเว่ยในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้แพทย์ใช้เวลาวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละรายลดลงจาก 15 นาที เหลือเพียง 25 วินาทีเท่านั้น และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำของผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกนให้สูงถึงร้อยละ 97

หัวเว่ยช่วยโรงพยาบาลศิริราชสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายสัญญาณ 5G และไฮบริด คลาวด์ ที่รับรองความปลอดภัยทางข้อมูลและสนับสนุนการอบรมบุคลากร โดยโครงการข้างต้นดึงคนรุ่นใหม่จากหัวเว่ย โรงพยาบาล และสตาร์ตอัปไทยมาร่วมพัฒนาการแพทย์แบบตรงจุดและบริการที่ดียิ่งขึ้น

ด้าน เติ้งเฟิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายที่ดี แต่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ยังอยู่ในขั้นต้น โดยโรงพยาบาลแห่งต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G มาช่วยเหลือผู้ป่วย

รถพยาบาล 5G ที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 ก.พ.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
หัวเว่ยยังคาดหวังจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อัจฉริยะ 5G ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อบุกเบิกการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G บล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ในทางการแพทย์ รวมถึงสร้างระบบนิเวศดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย เช่น เมืองอัจฉริยะ การขนส่ง พลังงาน และการศึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กระตุ้นรัฐบาลไทยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชน

ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของจีนจะเป็นประโยชน์กับไทย และเราเฝ้ารอการเข้ามามีส่วนร่วมเชิงลึกของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีจีนในการพัฒนา 5G ของไทย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ การสนับสนุนการใช้งานในหมู่ผู้บริโภค และขยับขยายเส้นทาง 5G ของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น