xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิง’ VS วิกฤตหนี้ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ต้องหาทางออกที่สมดุลขั้นเทพ เพื่อสกัดความวุ่นวายสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธงชาติจีนโบกสะบัดใกล้กับภาพโลโก ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ในนครเซี่ยงไฮ้ ภาพวันที่ 22 ก.ย.2021 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
‘ปัญหาหนักอกสุดๆของประธานาธิบดี สีจิ้นผิงในเวลานี้เห็นจะเป็นวิกฤตหนี้สินของยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ที่เป็นข่าวครึกโครมน่าหวาดเสียวด้วยหนี้สินบานเบอะ 305,000 ล้านเหรียญ การล้มของไชน่า เอเวอร์แกรนด์นั้นจะส่งผลให้หลายฝ่ายล้มพังพาบไปด้วย โดยเฉพาะบรรดารัฐบาลท้องถิ่นที่มียักษ์ใหญ่อสังหาฯเป็นตัวทำเงินทำรายได้เข้าคลังรายได้


สิ่งแรกที่สี จิ้นผิงต้องฝ่าทางตันไปให้ได้คือการจัดระเบียบภาคการเงินเพื่อสกัดความวุ่นวายในสังคม

รัฐบาลสนับสนุนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ “กู้ยืมเพื่อก่อสร้าง” ของเอเวอร์แกรนด์ และเก็บเกี่ยวรายได้จากการขายโครงการฯ แต่ดูเหมือนไม่อยากเข้าไปสะสางปัญหาภาระหนี้สินที่นับวันยิ่งบานปลาย เพราะกลัวว่าจะทำให้ราคาล้มครืนซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่โตระดับชาติเนื่องจากอสังหาฯ มีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ในสินทรัพย์ของครัวเรือน

ป้ายกลางแจ้งแสดงแผนที่จีน และโปรเจ็ทตามเมืองต่างๆของ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
ขณะนี้สีจิ้นผิงกำลังชูธงสโลแกนสร้างความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน (common prosperity) บุกตะลุยปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมและสังคมครั้งใหญ่ พร้อมกับประกาศก้องว่าจะแก้ไขปัญหาการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นติดจรวดที่ได้รับแรงขับดันจากราคาอสังหาฯที่พุ่งสูงไม่หยุดหย่อนขณะที่หนี้สินบานตะไทสั่งสม

แต่การรับผิดชอบร่วมแก้ไขวิกฤตปัญหาเอเวอร์แกรนด์ และความวิตกกังวลถึงการล้มครืนจะส่งแรงกระเพื่อมไปอย่างกว้างขวาง ทำให้การตัดสินใจชะตากรรมของเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากและการสะสางปัญหาเป็นงานหินสุดๆ โดยเอเวอร์แกรนด์นั้นมีหนี้สินถึง 305,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะต้องจ่ายให้กับบรรดาเจ้าหนี้ รวมทั้งการจ่ายดอกเบี้ยให้กับกลุ่มผู้ถือใบหุ้นกู้ รวม 83 ล้านเหรียญสหรัฐ

“รัฐบาลก็มีส่วนในการสร้างปัญหาในเอเวอร์แกรนด์ด้วย” Andrew Collier กรรมการผู้จัดการบริษัทการวิจัย Orient Capital Research กล่าวโดยอ้างถึงการกำหนดเพดานอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ที่เรียกว่า “สามเส้นแดง” ออกมาบังคับใช้กับกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯในปี 2020 ซึ่งทำให้เอเวอร์แกรนด์เครียดหนักและเป็นการบีบให้ขายสินทรัพย์

รัฐบาลได้กำหนดเพดานดังกล่าวด้วยความวิตกกังวลฟองสบู่ในภาคอสังหาฯหลังจากผ่อนปรนนโยบายการเงินเพื่อต้านผลกระทบจากโดรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การขายคึกคักขึ้นและเกิดสัญญาณการเก็งกำไรที่สูงเกินของกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ

เขตก่อสร้างโครงการคอมพาวด์ที่พักอาศัยหรูของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ในปักกิ่ง ภาพวันที่ 22 ก.ย.2021 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
แต่การควบคุมราคาอสังหาฯนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากความสัมพันธ์พึ่งพาทางการเงินของภาคอสังหาฯกับกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น บริษัทวิจัย Orient Capital Research ประมาณว่า บรรดารัฐบาลท้องถิ่นได้นำเงินกว่า 40 เปอร์เซนต์ของรายได้ที่ได้จากการขายกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2020 มาหล่อเลี้ยงการใช้จ่ายของรัฐบาลถึง 89 เปอร์เซ็นต์

“พวกนักพัฒนาอสังหาฯต้องเผชิญกับเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งมักจะนำไปสู่การตัดสินใจที่แย่ๆหลายต่อหลายครั้งมาก เพราะพื้นฐานการลงทุนของพวกเขาต้องคอยจับตาดูทิศทางลมบนเวทีการเมือง มากกว่าการประเมินสภาพการณ์ที่แท้จริงในภาคธุรกิจ” Fraser Howie ผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับ ระบบการเงินจีน กล่าว
รากที่หยั่งลึก

“รากเหง้าปัญหาหนี้สินของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่มาจากการปฏิรูประบบภาษีในปี 1994 ซึ่งช่วยระดมเงินเข้าคลังงบประมาณของรัฐบาลกลาง แต่ปล่อยให้กลุ่มรัฐบาลกลางต้องหารายได้จากที่ดิน” รองศาสตราจารย์ Alfred Wu แห่งภาควิชานโยบายสาธารณะ ของ Lee Kuan Yew School ในสิงคโปร์ กล่าว และว่าสภาพเงื่อนไขดังกล่าวได้ดันราคาอสังหาฯสูงขึ้น พร้อมกับกระตุ้นการเติบโตของนักพัฒนาอย่าง เอเวอร์แกรนด์ ที่ลุยบุกเบิกโครงการในกลุ่มเมืองชั้นสาม และกลุ่มเมืองชั้นสี่ของจีน

“เอเวอร์แกรนด์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทำรายได้ให้กับกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น หากเอเวอร์แกรนด์ต้องล้มไปแล้วล่ะก็ บรรดารัฐบาลท้องถิ่นก็จะล้มตามไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลกลางไม่ยอมแน่” อู๋ กล่าว

เขตก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย ‘Evergrande Oasis’ ของ เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ในเมืองลั่วหยัง ประเทศจีน ภาพเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2021 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
“การตื่นที่ยิ่งใหญ่”


สำหรับจีนที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพอย่างสุดจิตสุดใจนั้นย่อมรู้ดีว่าการเฟื่องฟูอู้ฟู่ของตลาดบ้านนั้นไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งมหาศาลแต่ยังสร้างความไม่เท่าเทียมแบบฝังลึก

ในปีนี้สีจิ้นผิงประกาศปฏิรูปใหญ่เพื่อขจัด “ภูเขาปัญหาสามลูก” อันได้แก่ บ้าน การศึกษา และการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่สูงปรี๊ดของประชาชนในเมือง และเสริมสร้างความชอบธรรมในฐานะ “ผู้นำของประชาชน”

นอกจากนี้ UBS ยังได้ประมาณว่า มีผู้พัฒนาอสังหาฯที่ขึ้นแท่นเสี่ยงอันตรายถึง 10 ราย ซึ่งมีสัญญาการขายคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น เท่ากับ 1.86 ล้านล้านหยวน (287,920 ล้านเหรียญสหรัฐ) มากกว่าเกือบสามเท่าของเอเวอร์แกรนด์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิเคราะห์หลายรายไม่คิดว่าวิกฤตหนี้สินของนักพัฒนาอสังหาฯจะบานปลายไปในวงกว้าง โดยคาดกันว่าผู้นำจีนจะเลือกหนทางจัดการควบคุมภาคอสังหาฯโดยรวมขณะที่สะสางปัญหาเป็นกรณีๆเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นมา


“รัฐบาลรู้ดีว่าหากจัดการปัญหาเอเวอร์แกรนด์ไม่รอบคอบและปล่อยให้ล้มละลายไป ก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเจ้าของบ้าน ผู้ถือหุ้น จนบานปลายเป็นปัญหาความไร้เสถียรภาพในสังคม การผิดนัดชำระหนี้จะก่อความเสี่ยงทางการเงิน การปลดคนงานจำนวนมหาศาลจะสร้างปัญหาว่างงานซ้ำเติมอีก ตลอดจนสร้างความหวาดผวาหลอนในกลุ่มบริษัทเอกชนมากยิ่งขึ้นไปอีก” Tang Renwu หัวหน้าสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ (School of Public Administration) แห่ง เป่ยจิง นอร์มัล ยูนิเวอร์ซิตี้ (Beijing Normal University)

แปลเรียบเรียงจากรายงานวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส, วันที่ 24 ก.ย. 2021


กำลังโหลดความคิดเห็น