ปีนี้นับเป็นปีที่อื้อฉาวในวงการบันเทิงจีนมาแรงสุดๆ ด้วยข่าวฉาวโฉ่ดาราดังที่มีพฤติกรรมไร้จริยธรรมทำศีลธรรมเสื่อมโทรม การซิกแซกกอบโกยทรัพย์มหาศาลที่ก่อช่องว่างในสังคมอย่างเลวร้าย อย่างกรณีของดาราสาวเจิ้งส่วง และประเด็นร้อนระเบิดในขณะนี้คืออื้อฉาวไอดอลหนุ่มสุดฮิต ‘คริส วู’ หรือ อู๋ อี้ฝาน (吴亦凡) ที่ถูกดำเนินคดีถึงชั้นศาลยุติธรรมแล้วในข้อกล่าวหาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งมีเหยื่อสาวมากมายอย่างน่าช็อกเลยทีเดียว!
ขณะเดียวกันผู้คุมกฎในภาคอุตสาหกรรมบันเทิง ก็วิ่งไล่ฟัด ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’อย่างดุเดือดเลือดพล่านโดยใช้มาตรการคว่ำบาตร ‘จำเลย’ในกรณีอื้อฉาวชนิดไร้ที่ยืนไร้ตัวตนในวงการหมดทางทำหากินไปชั่วชีวิตก็อาจเป็นได้ โดยกรณีที่ตกเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ระดับอินเตอร์เหล่านี้อาจเป็นแค่ยอดน้ำแข็ง !!!
หันมาดูอีกด้านที่ประกบคู่กับเหล่าเซเลบดาราดัง คือกลุ่มแฟนคลับก็มีปัญหาไม่แพ้กัน กรณีอื้อฉาวของ ‘คริส วู’ ยังได้สะท้อนความเละเทะภายในแวดวงแฟนคลับจีน และวัฒนธรรมฟอนเฟะที่เกิดจากความคลั่งไคล้ดารา โดยไม่กี่ปีมานี้แวดวงแฟนคลับแดนมังกรขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับสร้างเศรษฐกิจแฟนคลับบูมขึ้นมา จนเกิดปัญหาห่วงโซ่ที่ซับซ้อนของผลประโยชน์และทุนที่กระตุ้นการใช้วิชามารสารพัดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์และห้ำหั่นกันในวงการ
ในสองสามเดือนมานี้ ผู้คุมกฎในภาคที่เกี่ยวข้องได้ลุยสังคายนาใหญ่แวดวงแฟนคลับ อย่างคณะกรรมาธิการกำกับดูแลโลกไซเบอร์สเปซ และสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติได้ลุยปรามปรามพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ไปยันผิดกฎหมายในพื้นที่ที่ตนกำกับดูแล เพื่อจัดระเบียบและสร้างวัฒนธรรมอันดีในวงการแฟนคลับที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนหรือเด็กวัยรุ่น โดยก้าวต่อไปก็จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกฎระเบียบ และจัดตั้งกลไกตรวจสอบ หากมีใครล้ำเส้นก็จะได้รับโทษหนักชนิดลงดาบฟันไม่เลี้ยง
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมเมื่อปีที่แล้ว (2020) ระบุว่าในจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นกลุ่มเยาวชนยังไม่บรรลุนิติภาวะกว่า183 ล้านคน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน
รายงานข่าวของสื่อทางการจีน ‘ซินหัว’ เผยในต้นเดือนส.ค.นี้ ผู้คุมกฎโลกออนไลน์จีนได้ปิดบัญชีบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผิดกฎหมายกว่า 4,000 บัญชี ลบข้อมูลข่าวสารในเชิงลบและเป็นอันตรายไปกว่า 150,000 ชิ้น กลุ่มแชตและเพจวงสนทนาถกเถียงประเด็นต่างๆถูกปิดระนาวกว่า 2,000 ราย
ในหนึ่งเดือนมานี้ สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีนก็ได้ลุยปราบปรามรายการวาไรตีออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาความคลั่งไคล้ยอดเข้าชมและการใช้จ่ายเงินไปกับติดตามคนดังอย่างหมกมุ่นในโลกแฟนคลับด้วย
ล่าสุดในสัปดาห์นี้ (16 ส.ค.) มีการเปิดเผยรายงานการวิจัยการใช้จ่ายชองชาวเน็ตจีนที่ไม่บรรลุนิติภาวะที่จัดทำในปี 2020 โดยศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งจีนและองค์กรพิทักษ์เยาวชนแห่งจีน ระบุว่า เกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกแฟนคลับที่เกิดหลังปี 2000 ใช้จ่ายเงินไปกับการติดตามดาราหรือไอดอลที่ตนคลั่งไคล้ในแต่ละเดือน มากกว่า 5,000 หยวน คิดเป็นเงินไทย ราว 25,000 บาท
จางยงจวิน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตระดับสูงกล่าวในที่ประชุมข่าวในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า “เราจะปราบปรามเด็ดขาด สำหรับผู้ที่ชักจูงให้เยาวชนติดตามดาราอย่างไร้เหตุผล และจะมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปล่อยให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวขึ้น”
เหตุที่กระตุ้นให้ทางการลุยล้างบางพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในแวดวงแฟนคลับอย่างเด็ดขาดนี้คือ“คลิปเทนมทิ้ง” โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ บริษัทอ้ายฉีอี้ (iQIYI/爱奇艺) เจ้าของรายการเซอร์ไววัลค้นหาไอดอลหน้าใหม่ “วัยรุ่น วัยฝัน 3” (青春有你 3 : Youth With You 3) ได้กำหนดกติกาการลงคะแนนให้กับไอดอลโดยให้แฟนๆซื้อนมของบริษัทเหมิ่งหนิวผู้สนับสนุนหลักของรายการและสแกนรหัสคิวอาร์ (QR) ใต้ฝาขวดนม แฟนคลับจึงแห่ซื้อนมยกโหลยกลังมาเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ดและเทคะแนนให้ไอดอลที่ตนชื่นชอบมากที่สุด ส่วนนมกินกันไม่หวาดไม่ไหวก็เททิ้ง
คลิปภาพแฟนคลับนับสิบๆคนกำลังแกะฝาขวดนมและเทนมทิ้งถูกปล่อยในโลกโซเชียลแดนมังกรเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้กลายเป็นดราม่าก่อกระแสวิจารณ์ร้อนแรงไปทั่วโลกออนไลน์ สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งนครปักกิ่งออกแถลงการณ์ประณามฯและเรียกร้องให้แบนรายการฯในทันที วันต่อมา (6 พ.ค.) iQIYI แถลงขอโทษที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการทิ้งอาหาร และยกเลิกการแข่งขันรอบสุดท้ายของ “วัยรุ่น วัยฝัน 3” ที่กำหนดเปิดฉากในวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการเทนมทิ้งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านขยะอาหาร (หรือการกินทิ้งกินขว้าง) โดยกฎหมายฯฉบับนี้เพิ่งออกมาบังคับใช้สดๆร้อนๆในวันที่ 29 เม.ย.2021 เรียกได้ว่าเหตุการณ์ “แฟนคลับเทนมทิ้ง” เข้าข่ายผิดทุกระดับอนาถใจทั้งในแง่คุณธรรมประหยัดที่สังคมขงจื่อของจีนเทิดทูน และกฎหมาย
พฤติกรรมอย่างไรที่ต้องปราบเฮี้ยน
ความคลั่งไคล้ดาราหรือไอดอลของกลุ่มแฟนคลับ ทำให้เกิดพฤติกรรมผิดเพี้ยนและเกินขอบเขต ที่สำคัญได้ส่งผลกระทบเสียหายต่อผู้อื่น จนเกิดกระแสเรียกร้องในสังคมให้ผู้คุมกฎปราบปรามและออกกฎกติกาควบคุม
ผู้สื่อข่าวซินหัวได้ไปสัมภาษณ์ชาวเน็ตจีนเกี่ยวกับพฤติกรรมแฟนคลับ ตัวอย่างเช่น หญิงจีนคนหนึ่งแซ่ หม่า เผยว่าบางกลุ่มแฟนคลับออกกฎอย่างเช่น ต้องพยายามเพิ่มจำนวนแฟนคลับในกลุ่มและขยายกลุ่มให้ใหญ่ขึ้น
จางซือหนิง นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเหลียวหนิงกล่าวเสริมว่าเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชื่นชอบคนดังที่พวกเขาคลั่งไคล้ กลุ่มแฟนคลับจึงพยายามกันสุดฤทธิ์หรือกระทั่งทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนดังของพวกเขา
เหวินถิง อดีตพนักงานในบริษัทตัวแทนไอดอลแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า สมาชิกในกลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่มีอายุน้อยมาก และมีพื้นเพที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาคล้อยตามคำพูดยั่วยุของสมาชิกที่เป็นหัวโจกในกลุ่มแฟนคลับได้อย่างง่ายๆ
ในเดือนมิ.ย. หน่วยงานตรวจสอบโลกอินเทอร์เน็ตของจีน ได้รณรงค์การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแฟนคลับที่หนักขึ้นทุกวัน โดยมุ่งเน้นปราบปรามพฤติกรรมล่อลวงผู้เยาว์ให้โหวตไอดอลที่ตนชื่นชอบ หรือการกระตุ้นให้พวกเขาใช้จ่ายหรือระดมเงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนดาราคนโปรด ตลอดจนการใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มยอดทางออนไลน์ การปล่อยข่าวลือ การควบคุมคอมเมนท์ และการไล่ล่าเหยื่อในอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ผู้เล่นใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงอีกกลุ่มก็คือเหล่ายักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดีย ในช่วงที่ข่าวฉาว ‘คริส วู’ แดงโร่ออกมา เวยปั๋ว (Weibo Corp/ 新浪微博) ก็ถูกเพ่งเล็งเช่นกัน จากบันทึกภายในบริษัทที่ส่งถึงพนักงานและต่อมาถูกเผยแพร่ในสื่อท้องถิ่น ในวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จับกุมผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เหมา เทาเทา และทางบริษัทเวยปั๋วก็ได้ให้เหมาออกจากบริษัทในข้อกล่าวหารับสินบน และคุกคามผลประโยชน์ของบริษัทอย่างร้ายแรง
ก่อนหน้าในต้นปีนี้ รองประธาน ไคว่โส่ว (Kuaishou/ 快手)ถูกจับในข้อหาคอรัปชั่น ขณะที่ผู้บริการรายหนึ่งของเทนเซน โฮลดิ้งส(腾讯) ถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนในข้อกล่าวหา “คอรัปชั่นส่วนบุคคล”
คลิป: แฟนคลับเทนมทิ้ง