ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวของทางจีนอยู่เสมอ อาจจะเคยได้เห็นถึงข่าวการปราบปรามโรงเรียนกวดวิชาเอกชนต่างๆ ที่เป็นข่าวอึกทึกครึกโครมในจีน ก่อนอื่นเรามาเข้าใจก่อนว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงลงดาบกับพวกโรงเรียนกวดวิชาเอกชนเหล่านี้
ปัญหาก็มาจากการหลั่งไหลของเงินทุนเข้าไปในกิจการสอนพิเศษจำนวนมาก เคยมีรองอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งปัจจุบันได้ไปเป็นอธิการบดีอยู่ที่มหาวิทยาลัยในซานตง เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังกว่า ขนาดธุรกิจและกิจการโรงเรียนกวดวิชาเอกชนมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าธุรกิจนี้ใหญ่มหาศาลแค่ไหน ในขณะนั้นยังไม่นิยมการเรียนออนไลน์ด้วยซ้ำ แอพเรียนออนไลน์ต่างๆ ก็ยังไม่มีเยอะเหมือนทุกวันนี้ รองอธิการบดีให้ผู้เขียนจับตามองการเติบโตของกิจการโรงเรียนกวดวิชา
วันนี้ผู้เขียนหันกลับไปมองเห็นว่าก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ กิจการโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ใหญ่จนถูกรัฐบาลลงดาบ ใหญ่จนอาจเป็นภัยคุกคามสังคม!
หากจะถามว่าขนาดของโรงเรียนกวดวิชาในจีนต่างๆรวมกันใหญ่ขนาดไหน ต้องบอกว่ามีขนาดที่ใหญ่มากขนาดมีบริษัทโรงเรียนกวดวิชาจีนระดับท็อปของประเทศขึ้นตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาถึงสามแห่งด้วยกันได้แก่ XDF.CN TAL และ GSX เป็นต้น
แน่นอนว่าบริษัทเอกชนพวกนี้สร้างโรงเรียนกวดวิชานอกโรงเรียนขึ้นมาก็คือเป้าหมายเพื่อทำเงินและสร้างการเติบโตให้บริษัท อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าจีนเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่มากอยู่แล้ว ภายใต้การพัฒนาของสังคมและค่านิยมแบบใหม่ การแข่งขันกันในด้านต่างๆ “การศึกษา” ถือเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่คนจีนทั่วไปให้ความสำคัญกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
การเรียนที่โรงเรียนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับการเตรียมตัวสอบเข้าเอ็นทรานซ์มหาวิทยาลัยต่อไป ผู้ปกครองที่อยากจะให้ลูกเก่ง ประสบความสำเร็จสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศได้ก็จะทุ่มเทแรงกายใจและกำลังเงินอย่างมากเพื่อส่งลูกไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ไม่น้อยหน้าและแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่ก่อนอื่นคุณต้องมี “เงิน” ถึงจะไปลงเรียนกวดวิชาต่างๆได้
จากการสำรวจอย่างคร่าวๆ ของบล็อกเกอร์จีนรายหนึ่งบอกว่า “หลายครอบครัวต้องจ่ายค่าเรียนกวดวิชาลูกเดือนละหลายพันหยวนไปจนหลายหมื่นหยวน ปีนึงก็เหยียบแสนหยวนหรือมากกว่านั้น” สำหรับคนจีนรอบตัวผู้เขียนก็เคยสอบถามอยู่ท่านหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่ชั้นประถมก็บอกว่าเดือนนึงจ่ายค่ากวดวิชาลูกประมาณ 3,000 หยวน เพราะต้นทุนที่สูงทำให้หลายครอบครัวที่รายได้น้อยไม่มีโอกาสที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนกวดวิชา
จากการที่ “พลังของเงิน” จำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาในธุรกิจการศึกษากวดวิชา แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร?
ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นเลยคือบริษัทกวดวิชาพวกนี้จะไปเฟ้นหาอาจารย์ตามโรงเรียนรัฐฯระดับท็อปของประเทศ ทุ่มเงิน ให้สวัสดิการและเงินเดือนที่ดีกว่าโรงเรียนรัฐฯ เพื่อดึงดูดให้อาจารย์ระดับหัวกะทิพวกนี้ออกมาสอนที่โรงเรียนกวดวิชาของตน แน่นอนว่าอาจารย์ที่มีคุณภาพหนึ่งท่านสามารถดึงดูดนักเรียนให้มาเรียนได้มากมาย สร้างรายได้ที่มากขึ้นไปอีกให้แก่สถาบันกวดวิชา
ปัญหาต่อมาคือการเติบโตในลักษณะนี้สร้างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา หมายความว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงการศึกษาHigh level ได้ ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวธรรมดาก็เข้าถึงการศึกษาในระดับคุณภาพปกติไป อาจารย์ก็เก็บของดีไปให้เด็กที่จ่ายเงินเรียนพิเศษ
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผู้ปกครองจีนต้องพยายามส่งลูกเข้าไปเรียนพิเศษหลายๆ วิชา โดยในบล็อกข่าวหนึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนกวดวิชาได้บอกถึงความสำคัญว่า “เนื้อหาที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมือนกับที่โรงเรียนสอน เนื้อหาส่วนมากจะลึกกว่าหน่อย อย่างเช่นวิชาคณิตศาสตร์ เด็กชั้นมัธยมหนึ่งสองที่โรงเรียนกวดวิชาเริ่มสอนสูตรเลขที่ซับซ้อนแล้ว และอีกอย่างอาจารย์ประจำชั้นก็จะมีพูดส่วนตัวกับผู้ปกครองอยู่เสมอว่าสนับสนุนให้เด็กเรียนและฝึกมากๆ นอกชั้นเรียน”
สำหรับผู้ปกครองเองก็อยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก หากว่าเด็กทุกคนไม่ต้องไปเข้าเรียนกวดวิชาก็ไม่ต้องมีปัญหาแบบนี้ เพราะทุกคนก็เรียนกันอยู่ ผู้ปกครองเห็นลูกคนอื่นเรียนกวดวิชา ลูกตัวเองไม่เรียนก็กังวลอีก กลัวว่าระดับการศึกษาจะไปสู้กับเขาไม่ได้ ก็เหมือนกับคนอื่นเขายืนกันแล้วเรายังนั่งอยู่ก็มองไม่เห็นว่าอะไรอยู่บนโต๊ะ กลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่มีหลายปัจจัยเกี่ยวพันกันอยู่
จริงๆ แล้วการที่โรงเรียนกวดวิชาขึ้นเป็นดอกเห็ดเพราะมีความต้องการอยู่มาก ยิ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงขนาดใหญ่ยิ่งมีอาจารย์เก่งๆ เยอะ ถือเป็นปรากฎการณ์แก่งแย่งทรัพยากรทางการศึกษาชั้นดีที่มีอยู่จำกัด
อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ปกครองจีนให้ความคิดเห็นไว้ว่า “ในปักกิ่งต่างก็รู้ว่าการจะเข้าโรงเรียนมัธยมปลายในปักกิ่งมีโควต้าน้อย อัตราการรับส่วนใหญ่อยู่ที่ 50% เท่านั้น หมายความว่าเด็กที่สอบเข้ามัธยมปลายในโรงเรียนปักกิ่งไม่ได้ ต้องจำใจไปเรียนสายอาชีพ ปวช. แล้วครอบครัวที่ผู้ปกครองเรียนจบระดับปริญญาตรีก็คงไม่อยากให้ลูกเรียนสายอาชีพ”
ส่วนการจัดการและจัดระเบียบปราบปรามโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่มีใบอนุญาตเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 ในขณะนั้นเป็นการตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีใบอนุญาต มีผู้ปกครองบางคนจำได้ว่าในขณะนั้นโรงเรียนหลายแห่งอยู่ดีๆ ก็ปิด หยุดสอน ไม่ก็แจ้งว่ากำลังจะย้ายสถานที่ ตอนนั้นมีโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนมากต้องปิดตัวไป ทำให้หลังจากนั้นมาการเปิดโรงเรียนกวดวิชาจะเข้มขึ้นยากขึ้นและต้นทุนจะสูงขึ้น(เพราะมีเรื่องของขนาดสถานที่และห้องเรียน ช่องทางหนีไฟ ที่กำหนดต้องตรงเกณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง)
อาจารย์โรงเรียนกวดวิชาท่านหนึ่งได้แชร์ว่า “ในปี 2018 ตอนนั้นตรวจเข้มมาก เกือบทุกอาทิตย์จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ มีการตรวจกะทันหันกันบ่อยๆ” ถึงขนาดว่าโรงเรียนทุกที่จะให้นักเรียนทำโพลว่าเรียนโรงเรียนกวดวิชาที่ไหนบ้าง เรียนกันกี่วิชา เป็นต้น เพื่อเอาข้อมูลรายงานต่อกระทรวงศึกษา
แต่กระนั้นหลังจากปี 2018 จำนวนและปริมาณการเปิดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชาไม่น้อยลงแต่กลับเพิ่มขึ้นไปอีก โดยในปี 2019 โรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น 6 แสนแห่งและในปี 2020 โรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น 4 แสนแห่ง จำนวนรวมของโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมดมากกว่าโรงเรียนประถมและมัธยมต้นรวมกัน! และแน่นอนว่าความต้องการให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่ได้น้อยลง มีบางที่ บางวิชาผู้ปกครองต้องไปแย่งกันลงทะเบียนเรียนให้ลูก
จากผลของการปราบปรามเมื่อปี 2018 ทำให้ธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาทำยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ค่าเรียนก็แพงขึ้น สุดท้ายแล้วก็ผู้ปกครองที่ต้องแบกรับภาระ
รัฐบาลกลางได้เริ่มรับรู้ว่า การปล่อยให้โรงเรียนกวดวิชาพวกนี้เติบโตต่อไปจะกระทบกับระบบการศึกษาของประเทศแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด
ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งเคยกล่าวไว้ว่า “民进国退” อ่านว่า หมินจิ้นกั๋วทุ่ย มีความหมายนัยยะว่า หากเอกชนผงาดขึ้นมา รัฐบาลจะถูกให้ถอยออกมา ทำให้ในครั้งนี้ในปีนี้รัฐบาลจีนออกมาลงดาบอีกครั้ง โดยประเด็นสำคัญที่จะจัดระบบคือเรื่องการสอนที่สอนเนื้อหาไปล่วงหน้า สอนเยอะเกิน สอนเกินเวลา ทำให้เด็กได้รับการกดดันด้านเนื้อหามากเกินไป ไม่ให้เด็กเรียนแบบท่องจำแบบนกขุนทองจนกลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่เรียนไปเพื่อไปทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ เท่านั้น
โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งลืมไปแล้วว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการทำเพื่อสังคมไม่ใช่แค่หาผลประโยชน์เท่านั้น ประเด็นทั้งหมดนี้ต่างไม่เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาจีน ทำลายบรรยากาศของการศึกษาในประเทศ
ดังนั้นการจัดระเบียบการศึกษาของจีนในตอนนี้เป็นสิ่งที่ต้องจัดการ โรงเรียนกวดวิชาถึงแม้ว่าจะเป็นเอกชนบริหารแต่ก็ต้องปฎิบัติตามแนวทางและกฎระเบียบที่กระทรวงศึกษาจีนได้วางเอาไว้ เพื่อลดภาระของทั้งผู้ปกครองและนักเรียน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาในสังคม