ผลการสำรวจประชากรซึ่งจัดทำประจำทุกสิบปี ได้ผลสรุปออกมาว่า ในปี 2020 จำนวนประชากรจีนยังเพิ่มขึ้นและดันยอดรวมในปัจจุบันเท่ากับ 1.412 พันล้านคน แต่ก็นับเป็นอัตราขยายตัวประชากรที่แผ่วที่สุดนับจากช่วงทศวรรษ
1950 ขณะที่อัตราเกิดได้ลดลงอีกต่อเนื่องเป็นปีที่สี่
ในปีที่แล้ว แม่ๆชาวจีนแผ่นดินใหญ่ให้กำเนิดบุตร รวมทั้งสิ้น 12 ล้านคน ลดลงจากตัวเลข 14.65 คนของปี 2019 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 22 ทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี
อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจีนในการมีบุตร เท่ากับ 1.3 คน/หญิงหนึ่งคน โดยเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับทดแทน (replacement level) 2.1 ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการรักษาเสถียรภาพด้านประชากร
การสำรวจประชากรจีนล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 7 โดยทำการสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้วโดยครอบคลุม 31 มณฑลและเขตปกครองตัวเองในแผ่นดินใหญ่ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันและชาวต่างชาติอื่นๆ
ผลการสำรวจบ่งชี้วิกฤตด้านประชากรและจะผลกระทบต่อการผลักดันเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่จีนต้องเตรียมรับมืออย่างหนักคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
หนิง จี๋เจ๋อ หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวระหว่างการแถลง(11 พ.ค.) ว่า “ข้อมูลจากการสำรวจประชากรแสดงถึงความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในการพัฒนาด้านประชากร เช่น ขนาดของกลุ่มประชากรวัยทำงานที่ลดลง ช่วงอายุที่มีบุตรได้ของผู้หญิง สังคมผู้สูงอายุที่หยั่งรากลึก อัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลง และจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ตกลงเรื่อยๆ”
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรยังเชื่อกันว่าประชากรจีนจะเริ่มลดลงในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การขยายตัวของประชากรจีนระหว่างช่วงสิบปีมานี้(2010 –2020) มีอัตราเพิ่มเฉลี่ย/ปี แค่ร้อยละ 0.53 ถือเป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวที่สุดในรอบทศวรรษนับจากปี 1953 ที่จีนเริ่มสำรวจประชากร
สำหรับตัวเลขประชากรชุดอื่นๆที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้
-จำนวนเด็กจีนอายุ 14 ปี และต่ำกว่า เพิ่มขึ้น 253.38 ล้านในการสำรวจปี 2020 หรือคิดเป็นร้อยละ 17.95 ของประชากร ขยับขึ้นมาจาก 1.35 เปอร์เซ็นต์ พอยท์ส จากการสำรวจครั้งก่อนในปี 2010
สัดส่วนของเด็กๆสูงขึ้นนี้แสดงว่าการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวให้ประชาชนมีลูกได้สองคนเมื่อปี 2016 นั้นได้ผลดี อย่างไรก็ตามสัดส่วนของคนวัยทำงานกำลังจะลดลงหรือได้ลดลงแล้ว โดยจีนมีประชากรวัยทำงานระหว่าง 15-59 ปี จำนวน 894.38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 63.35 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งลดลง 6.79 เปอร์เซ็นต์ พอยท์สจากการสำรวจครั้งก่อนในปี 2010
- สัดส่วนของพลเมืองสูงวัยขยายใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาที่สมดุลในระยะยาว โดยจีนมีกลุ่มวัย 60 ขึ้นไป จำนวน 264.02 ล้านคน เท่ากับ ร้อยละ 18.70 ของประชากร และคิดเป็น 5.44 เปอร์เซ็นต์ พอยท์ส สูงกว่าการสำรวจปี 2010
- อัตราผู้ชายต่อผู้หญิงในปี 2020 อยู่ที่ 105.07 ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2010 สำหรับปี 2020 จีนมีประชากรเพศชาย 723.34 ล้านคน หรือร้อยละ 51.24 ของประชากร เทียบกับประชากรเพศหญิง 688.44 ล้านคน หรือ ร้อยละ 48.76 ถือว่าองค์ประกอบทางเพศในจีน “ดีขึ้นเรื่อยๆ”
- การขยายตัวของประชากรเขตเมืองช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งได้รับแรงหนุนจากการสร้างเขตในปักกิ่ง โดยอัตราผู้อาศัยในเมืองสูงขึ้นที่ร้อยละ 63.89 เพิ่มขึ้น 14.21 เปอร์เซ็นต์ พอยท์ส ขณะที่ประชากรตามเขตชนบทลดลงที่ร้อยละ 36.11
- กลุ่มที่เรียกขานว่า “ประชากรลอยไปลอยมา” ซึ่งส่วนใหญ่คือ คนงานต่างถิ่น ได้เพิ่มขึ้นในรอบสิบปีมานี้ โดยกลุ่มที่อาศัยอยู่นอกเขตที่พวกเขาขึ้นทะเบียนครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 375.82 ล้านคน สูงขึ้นร้อยละ 69.73 จากปี 2010 นอกจากนี้ 124.84 ล้านคน ย้ายไปอยู่มณฑลอื่นๆ โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแนวโน้มกลุ่ม “ประชากรลอยไปลอยมา” มีแต่จะขยายตัว
เหอ หยาฟู่ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านประชากรจีน คาดการณ์ว่าประชากรแผ่นดินใหญ่อาจจะเริ่มลดลงในปีหน้า เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่า 10 ล้านคน หากประชากรจีนลดลงก็จะถือเป็นครั้งแรกนับจากช่วงสองปี (1960-61 ) ที่ประชากรในจีนลดฮวบลงเนื่องจาก “วิกฤตอดอยากครั้งใหญ่” (Great Chinese Famine) โดยในยุคอดอยากดังกล่าว ประชากรจีนลดลงราว 10 ล้านคนในปี 1960 และหดหายไปอีก 3.4 ล้านคนในปี 1961