ขณะที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก! อินเดียและญี่ปุ่นกำลังโดนโควิด-19 เล่นงานอย่างโหดร้าย โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้อินเดียทุบสถิติจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในแต่ละวันโดยเฉลี่ยถึง 340,000 ราย ด้านจีนกล่าวได้ว่าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดีอยู่ในขั้น “เอาอยู่” แต่ยังต้องเฝ้าระวังสุดฤทธิ์ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกยังเลวร้าย อีกทั้ง ‘ไวรัสกลายพันธุ์’ในหลายประเทศจะทำให้สงครามปราบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ยิ่งยืดเยื้อไปอีก
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจชื่อดังของจีน คือ นพ.จงหนันซาน วิตกกังวลที่สุดได้เกิดขึ้นแล้ว คือ เชื้อไวรัสฯกลายพันธุ์ได้แพร่ระบาดเข้ามายังจีนด้วยแล้ว
ในการประชุมใหญ่ประจำปี 2021 ของหน่วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน (CAE) ที่นครกว่างโจว เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.จงหนันซานได้กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ว่าขณะนี้จีนกำลังทุ่มสุดตัวในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ เกือบ 50 ตัว!
ระหว่างการถกเถียงประเด็นการป้องกันที่ได้ผลแน่นอนของวัคซีน นพ.จงหนันซานกล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทั้งไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษ บราซิล ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และที่อื่นๆ
“ดูอย่างในตอนนี้ มีไวรัสกลายพันธุ์ b1351 จากแอฟริกา ซึ่งเราได้นำวัคซีนเชื้อตายทั้งหมดมาใช้ป้องกัน ทั้งวัคซีนที่ใช้บ่อยที่สุดอย่าง ชิโนแวค (Sinovac) และชิโนฟาร์ม (Sinopharm) ผลปรากฏว่าอัตราการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ได้ลดลง ดังนั้นเราจึงทุ่มเทสุดกำลังในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสกลายพันธุ์”
โดยในจีน มีการศึกษาและพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสกลายพันธุ์เกือบ 50 ตัว และทั่วโลกกำลังวิจัยวัคซีนใหม่ กว่า 200 ตัว
นพ.จงหนันซานพูดถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทั่วโลกได้พัฒนาขึ้น ยังมีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้อยู่ไม่น้อย เช่นหลังจากที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถป้องกันเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องได้นานเท่าใด? การฉีดวัคซีนสองครั้งหรือกระทั่งฉีดถึงสามครั้งจะช่วยทำให้อัตราการป้องกันเชื้อไวรัสสูงขึ้นหรือไม่? นี่คือปัญหาที่เราต้องรู้อย่างชัดเจนและแก้ไขให้ได้
เรื่องที่ถกเถียงกันในที่ประชุมที่กว่างโจวอีกประเด็นที่ทั่วโลกสนใจมากคือ ปัญหาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่นในเยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ และที่อื่นๆ ซึ่งมีคนปกติกว่า 30 คนไปรับการฉีดวัคซีนที่ทำจากอะดีโนไวรัส (Adenoviruses)หลังจากนั้นเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ นพ.จงหนันซันให้ความสนใจเรื่องนี้มาก “ทำไมคนเหล่านี้ถึงเกิดอาการเช่นนี้หลังฉีดวัคซีน มันเกิดจากปัจจัยอะไร? และจะสามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเหล่านี้ได้หรือ? นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด”
ที่น่าสนใจมากอีกเรื่องคือเมื่อปลายเดือนที่แล้ว จงหนันซานได้กล่าวไว้ว่า ขณะนี้จีนอยู่ในจังหวะเวลาที่สำคัญมากๆ ไวรัสกลายพันธุ์เป็นปัญหาท้าทายใหญ่ของการควบคุมโรคระบาด และงานเร่งด่วนที่ต้องทำก็คือการขยายอัตราการฉีดวัคซีน ขณะนี้จีนกำลังเร่งผลิตวัคซีนจำนวนมหาศาล และคาดว่าในปลายเดือนมิ.ย. หรือเดือนก.ค.นี้ อัตราผู้ฉีดวัคซีนในประเทศจะสูงเป็นร้อยละ 40 ซึ่งจีนเชื่อว่าการฉีดวัคซีนเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีมากๆ
“สิ่งที่ต้องทำให้ทันเวลา” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ
นพ.จงหนันซันพูดถึงสถานการณ์แพร่ระบาดในจีน อยู่ในขั้นที่สามารถป้องกัน “การติดเชื้อระหว่างคนกับคน” ได้ดีแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดต้องแยกผู้ป่วยกับคนแข็งแรงออกจากกันให้ทันเวลา
“การตรวจคัดกรองให้ทันเวลา และ การกักโรคให้ทันเวลา คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด” นพ.จง ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดของจีน กล่าว
อนึ่ง นพ.จง หนันซาน วัย 85 ปี ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจชื่อดังของจีน อีกทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในทีมไต่สวนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นิตยสาร ไทม์ส ได้ยกย่องนพ.จง หนันซาน เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลกประจำปี 2020 เขาได้รับการยอมรับในการอุทิศตัวทำงานเพื่อสาธารณะ บูรณาการ ผลักดันความก้าวหน้าด้านการศึกษาและวิชาชีพ ตลอดจนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จ และแผนการรักษาพยาบาลกับนานาชาติ
#เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ #จงหนันซาน #โควิด-19 #วัคซีนป้องกันโควิด