ตรุษจีน ปี 2021 นี้ตรงกับวันที่ 12 ก.พ. ประเพณีการกินอาหารส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นประเพณีสำคัญในเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีของชนชาติจีนที่ยังสืบทอดมาจวบจนปัจจุบัน
มื้ออาหารส่งท้ายปี ต้อนรับปีใหม่
อาหารมื้อสำคัญในวันตรุษจีน เรียกว่า ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ คืออาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน โดยมีการจัดพิธีไหว้สักการะบรรพบุรุษ จุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายก่อนกินอาหารมื้อพิเศษนี้
ความหมายหัวใจของ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ คือเป็นอาหารมื้อใหญ่ที่สมาชิกครอบครัวทุกคนได้มาพบปะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นต่างพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ ประกอบด้วยอาหารหลากหลายให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดทั้งปี ได้กินอาหารที่เอร็ดอร่อยอย่างมีความสุขในคืนสุดท้ายของปี
อาหารที่นำมาตั้งโต๊ะแต่ละอย่างมีชื่อเรียกที่แฝงไว้ด้วยความหมายสิริมงคล โดยเมนูภาคบังคับ ได้แก่ ‘จี’ (鸡 ไก่) และ ‘อี๋ว์’(鱼 ปลา) คำจีนสองคำนี้เสียงอ่านคล้ายกับ “จี๋” (吉) ที่หมายถึง สิริมงคล กับเสียง “อี๋ว์” (余) ที่แปลว่า มีเหลือล้น จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนคำอวยพรในวันปีใหม่ คือ ‘จี๋เสียงหรูอี้’ (吉祥如意) หมายถึง “สิริมงคล-สมปรารถนา” และ ‘เหนียนเหนียนโหย่วอี๋ว์’ (年年有余) หมายถึง มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี
อาหารที่ชาวจีนนิยมกินฉลองปีใหม่โดยเฉพาะทางภาคเหนือจีนคือ เจี่ยวจือ (饺子) มีรูปร่างคล้ายกับเงินแท่งสมัยโบราณที่ปลายสองด้านงอนขึ้น หรือที่คนไทยเรียก “เกี๊ยว” สำหรับชาวจีนถือเคล็ดจากชื่ออาหารชนิดนี้ เพราะคำว่า “เจี่ยวจือ” มีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “เจียวจื่อ” (交子) ซึ่งหมายถึงช่วงนาทีที่จะเปลี่ยนจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ หรือเวลา 0.00 นาฬิกานั่นเอง คือเป็นเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พอดี
การกินเกี๊ยวในวันปีใหม่จีนจึงแฝงนัยของความรื่นเริงสนุกสนาน ความกลมเกลียว สิริมงคล สมปรารถนา และอายุมั่นขวัญยืน ชาวจีนจะต้มหรือนึ่งเกี๊ยวกินกันในวันนี้ โดยบางครอบครัวใส่ไส้หวานเพื่อเป็นเคล็ดว่าชีวิตจะได้ประสบแต่ความหวานชื่น บ้างก็ทำเกี้ยวไส้ถั่วลิสง (ซึ่งเป็นพืชผลสัญลักษณ์แห่งความเจริญเติบโต)
อาหารประเภทขนมที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีน คือ “เหนียนเกา” (年糕) หรือ “เหนียนเหนียนเกา” (粘粘糕) แปลว่า ขนมเหนียวๆ ซึ่งคำนี้พ้องเสียงกับวลี “เหนียนเหนียนเกา” (年年高) ที่แปลว่า “สูงขึ้นทุกๆปี” หมายถึงเจริญรุ่งเรือง เป็นขนมหวานแบบเดียวกับที่คนไทยเรียก “ขนมเข่ง” นั่นเอง
ชาวจีนทางใต้ใช้แป้งข้าวเหนียวทำ ส่วนชาวจีนทางเหนือจะใช้แป้งข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวทำ โดยผสมใส่น้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย) แล้วนำไปนึ่งให้สุก โดยเฉพาะชาวจีนทางใต้ นิยมกินกันมาก และทุกวันนี้ก็เป็นขนมที่เป็นสัญลักษณ์วันตรุษจีนของชาวจีนในไทยด้วย
อาหารในวันตรุษจีนยังโปรยประดับด้วยคำที่เป็นสิริมงคล ชาสำหรับคารวะแขก ในวันปีใหม่ของคนเจียงหนันยังใส่ลูกสมอ 2 ลูกไว้ในจานรองถ้วยชาหรือถาดชุดชา เพื่อสื่อความหมายว่า ‘ชาเงิน’
ในสำรับอาหารรับวันปีใหม่ต้องมีผัดผักกาดรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่า กินแล้วจะบันดาล ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ เนื่องจาก ‘ผัดผักกาด’ ในภาษาจีนคือ เฉ่าชิงไช่ (炒青菜) ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับ ชินชินเย่อเย่อ (亲亲热热) ที่แปลว่า ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ และอาหารสำคัญอีกอย่างคือ ผัดถั่วงอก เนื่องจากถั่วงอกเหลืองมีรูปร่างคล้ายกับ ‘หยกหรูอี้’ ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า หรูอี้ (如意) ที่แปลว่า สมปรารถนา
ชนชาติจีนในบางพื้นที่ยังมีประเพณีนิยมเฉพาะถิ่น อาทิ ชาวไต้หวันนิยมทานลูกชิ้นกลมๆ หมายถึงการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา นอกจากนี้ ยังมี ‘จิ่วไช่’ (韭菜) ผักกุ้ยช่าย ที่หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน (年寿长久)
สำหรับชาวหมิ่นหนัน ชนกลุ่มน้อยในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ทางตอนใต้ของจีน เรียก แครอท ในภาษาถิ่นว่า ‘ไช่โถว’ (菜头)แฝงความหมาย “การเริ่มต้นปีที่ดี” (好彩头)
ตามประเพณีของเจียงหนัน ก่อนวันตรุษจีนจะมีการจัดสำรับอาหารปีใหม่ใส่ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ มีส้มติดกระดาษมงคลสีแดงไว้ข้างบน ทั้งกระจับ แห้ว ผลไม้ ขนมมงคลเรียงลำดับให้ดูสวย แล้วปักด้วยกิ่งไม้ที่โค้งค้อมตัวลงมาอย่างอ่อนโยน
บางท้องถิ่นกินไข่ไก่ดิบคนละหนึ่งฟองในวันปีใหม่ ด้วยเชื่อว่าช่วยให้มีอายุยืนยาว