xs
xsm
sm
md
lg

(ชมภาพ)เปิดกรุสมบัติอาณาจักรน่านเจ้ายุคเรืองอำนาจ ‘ซากวัดโบราณของราชสำนัก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซากวัดหลวงสมัยอาณาจักรน่านเจ้าเรืองอำนาจ(ค.ศ.738-902)  ในเมืองต้าหลี่ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ภาพวันที่ 13 ม.ค. 2021 (ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน)
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานความคืบหน้าในการขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองต้าหลี่ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยทีมนักโบราณคดีพบซากวัดโบราณที่มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรน่านเจ้า (ค.ศ.738-902) หรือช่วงกว่า 1,280 ปีก่อน การค้นพบซากโบราณสถานอาณาจักรน่านเจ้าในเมืองต้าหลี่นี้ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่ของจีนประจำปี 2020

สำหรับอาณาจักรน่านเจ้านี้ตรงกับยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)

จากการให้สัมภาษณ์ของจูจงหัว นักวิจัยผู้นำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้ ภายใต้สถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีประจำมณฑล เผยเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าคณะนักโบราณดีขุดพบซากวัดหลวงโบราณของอาณาจักรน่านเจ้าในบริเวณซากเมืองโบราณอู่จื่อซาน เมืองต้าหลี่ สิ่งที่นักโบราณคดีค้นพบได้แก่ ฐานอาคาร 14 ฐาน กำแพงหิน 63 แห่ง และคูน้ำ 23 แห่ง รวมถึงกระเบื้องหนักมากกว่า 40 ตัน และโบราณวัตถุต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผาอีกมากกว่า 17,300 ชิ้น

โครงสร้างบนซากฐานสิ่งก่อสร้างหมายเลขหนึ่งที่พบในซากวัดโบราณ เมืองต้าหลี่ มณฑลอวิ๋นหนาน ภาพวันที่ 13 ม.ค. 2021 (ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน)
ระหว่างเดือนม.ค.ถึงก.ค. ปี 2020 นักโบราณดีได้ดำเนินการขุดค้นบนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตรของโบราณสถานแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของเมืองไท่เหอเพียง 600 เมตร สำหรับเมืองไท่เหอแห่งนี้คืออดีตเมืองหลวงแห่งแรก(ค.ศ.739- ค.ศ.779)ของอาณาจักรน่านเจ้าซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังจากหัวหน้าชนเผ่าไป๋ได้รวบรวม 6 ชนเผ่าในภูมิภาคเอ่อไห่ (Erhai Region) ให้เป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ นักวิจัยค้นยังพบกระเบื้องจารึกคำว่า “พระพุทธสรีระประดิษฐานโดยส่วนกลาง” ในซากวัดโบราณแห่งนี้ จากหลักฐานชิ้นนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าพระบรมสารีริกธาตุของราชวงศ์น่านเจ้าอาจจะถูกนำมาประดิษฐานและเป็นที่สักการะบูชาอยู่ภายในวัด ดังนั้นจึงคาดว่าวัดแห่งนี้อาจเป็นสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแห่งสำคัญของเมืองไท่เหอ

กระเบื้องจารึกคำว่า “พระพุทธสรีระประดิษฐานโดยส่วนกลาง” ที่พบในซากวัดโบราณ เมืองต้าหลี่ มณฑลอวิ๋นหนาน ภาพวันที่ 13 ม.ค. 2021 (ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน)
อนึ่ง”สรีระ” (Sarira) เป็นคำทั่วไปที่มีหลายความหมาย แต่มักถูกใช้เพื่ออธิบายถึงอัฐิที่เหลือจากการฌาปนกิจ โดยเชื่อกันว่าอัฐิของพระอาจารย์ในพุทธศาสนามักจะมีลูกปัดคริสตัลหรือวัตถุที่คล้ายกับไข่มุกอยู่ด้วย

เศียรพระพุทธรูปโบราณที่พบในซากวัดโบราณ เมืองต้าหลี่ มณฑลอวิ๋นหนาน ภาพวันที่ 13 ม.ค. 2021
พร้อมกันนี้นักโบราณคดีได้พบเตาเผาอิฐ เตาเผากระเบื้อง ตะปู ปะเก็น แบบพิมพ์ และเครื่องเผาอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่แตกชำรุดจำนวนหนึ่งในบริเวณด้านตะวันออกของซากวัด

เครื่องตกแต่งอาคารทำจากเครื่องเคลือบใช้สำหรับตกแต่งปลายสองข้างของอกไก่ตัวอาคารแบบจีน
การขุดค้นครั้งนี้เผยให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างของวัดที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรน่านเจ้า ความสามารถในการผลิตของเตาเผา และธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพิธีศพของราชวงศ์

ทั้งนี้ อาณาจักรน่านเจ้าครอบคลุมพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลยูนนาน รวมถึงบางส่วนของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจว ส่วนเมืองไท่เหอคือศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของอาณาจักรน่านเจ้า

รางระบายน้ำที่พบในซากวัดหลวงสมัยอาณาจักรน่านเจ้า

เครื่องตกแต่งอาคารทำจากเครื่องเคลือบใช้สำหรับประดับชายหลังคาของอาคารแบบจีน

เครื่องเคลือบ แจกัน

แหล่งซากโบราณสถานอู่จื่อซัน เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน เครื่องหมายลูกศรแดงแสดงบริเวณซากเมืองโบราณสมัยอาณาจักรน่านเจ้าเรืองอำนาจเมื่อกว่า 1,200 ปีก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น