เสียงไซเรนดังก้องไปทั่วเมืองหนานจิง หรือนานกิงในเช้าวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) ที่ผ่านมา รถราบนท้องถนนต่างหยุดวิ่งและบีบแตร ผู้คนบนท้องถนนต่างยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาทีท่ามกลางหนาวเหน็บ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อ 300,000 รายที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นสังหารโหดในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์ ระหว่าง “เหตุการณ์สังหารหมู่ในเมืองนานกิง”
จีนจัดพิธีรำลึก ‘เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง’ ณ บริเวณจัตุรัสอนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ที่นานกิงโดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น (Memorial Hall of the Victims in the Nanjing Massacre by Japanese Invaders)
ในวาระรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง เพื่อเตือนทรงจำในการสรรค์สร้างสันติภาพโลก สำนักข่าวซินหัวได้นำคลิปวิดีโอ “กำแพงโบราณ” มานำเสนอ คลิปวิดีโอชิ้นนี้ถูกจัดทำขึ้นเมื่อราว 600 ปีก่อน ในนครนานกิง (หนานจิง) เมืองเอกของมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน กำแพงโบราณแห่งนครเก่าแก่นี้ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ทว่า มันกลับเต็มไปด้วย “รอยแผลเป็น” รอยแผลเป็นเหล่านี้คือร่องรอยรูพรุนจากกระสุนราวห่าฝนจากกองทัพญี่ปุ่นที่โถมซัดเพื่อเข้ายึดครองเมืองและสังหารโหดประชาชน
ทั้งนี้ ในปี 2014 จีนได้กำหนดให้วันที่ 13 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิงแห่งชาติ โดยในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 7
วันที่ 13 ธ.ค. 1937 (พ.ศ. 2480) เมื่อกองทหารญี่ปุ่นบุกยึดนครนานกิงสำเร็จ ก็เปิดฉากสังหารหมู่พลเรือนจีนและทหารที่ไม่มีอาวุธกว่า 300,000 คน ตลอดระยะเวลากว่า 6 สัปดาห์ นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง
เซี่ยชูฉิน ผู้เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 1929 เล่าว่าพ่อและปู่ย่าของเธอถูกยิง พี่สาวถูกทำร้ายจนตาย แม่และพี่สาวสองคนถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนและสังหาร ส่วนเซี่ยที่ตอนนั้นอายุเพียง 8 ปี รอดชีวิตหลังจากหมดสติเพราะถูกแทงสามครั้ง
“ฉันถูกแทงตรงนี้ ตรงนี้ และตรงนี้ ฉันตื่นมาพร้อมเลือดที่ฝ่ามือและลำตัว ฉันรู้สึกหนาวและเจ็บปวด น้องสาววัย 4 ขวบที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มกำลังร้องไห้หาแม่ของเรา มันเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดมากทุกครั้งที่นึกถึง” คำบอกเล่าจากเซี่ย
นอกจากนั้นพลเรือนและทหารจีนไร้อาวุธกว่า 50,000 ราย ยังถูกผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นรุมล้อมและสังหารขณะกำลังรอข้ามแม่น้ำ ณ ริมตลิ่งอันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์เหยื่อริมแม่น้ำเหยียนจือจี (Yanziji Riverside Victims Monument) ในปัจจุบัน
“พลเรือนเหล่านี้ไม่มีอาวุธและไม่ได้รับการฝึกฝน พวกเขาไม่สามารถต้านทานความโหดร้ายของผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นได้” จิ้งเซิ่งหง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยครูนานกิงกล่าว
มีการรวบรวมแฟ้มข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่มากกว่า 10,000 ชิ้น ไว้ที่อนุสรณ์สถานเหยื่อเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง ซึ่งรวมถึงบันทึกของผู้รอดชีวิตและเหยื่อ ตลอดจนคำให้การจากพยานบุคคลที่สาม
ต้วนเย่ว์ผิง อดีตรองภัณฑารักษ์อนุสรณ์สถานฯ ระบุว่า “เรารวบรวมข้อมูลมากกว่า 5 ล้านคำ และภาพการสังหารหมู่กว่า 100 ภาพ เรายังเสาะหาหลักฐานจากผู้รอดชีวิตมากกว่า 2,700 คนด้วย”
ขณะเดียวกันมีการจัดแสดงภาพถ่ายของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อเหล่านี้จากไป ไฟด้านหลังของภาพก็จะดับลง
อนุสรณ์สถานฯ กลายเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องราวในอดีตสำหรับชาวจีนรุ่นหลัง คนหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานฯ เพื่อทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง
ทั้งนี้ สีจิ้นผิงได้กล่าวในพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปี ชัยชนะสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่า “ชาวจีนจะไม่ยินยอมให้บุคคลหรือกองกำลังใดทำอันตรายต่อชีวิตอันสงบสุขและสิทธิการพัฒนา ขัดขวางการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับชนชาติอื่น หรือบ่อนทำลายสันติภาพและการพัฒนามนุษยชาติ”
เรื่อง/คลิปโดยสำนักข่าวซินหัว