สำนักข่าวซินหัว,อุรุมชี, 19 พ.ย. — คณะนักโบราณคดีจีนเปิดเผยการค้นพบซากโรงอาบน้ำโบราณสไตล์โรมัน พร้อมโบราณวัตถุหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นที่ราบทางตอนกลางและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 10 ณ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ซากโบราณสถานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในอำเภอฉีไถ แคว้นปกครองตนเองชางจี๋ กลุ่มชาติพันธุ์หุย ประกอบด้วยโครงสร้างหลักทำจากอิฐที่มีบ่อน้ำอยู่เคียงข้าง โครงสร้างอิฐดินดิบ (adobe) ทางฝั่งตะวันออก และพื้นที่เตาเผา
โครงสร้างหลักของโรงอาบน้ำถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ใต้ดินถูกใช้เป็นปล่องควันและใส่เชื้อเพลิงทำความร้อน ส่วนพื้นผิวเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้อาบน้ำ
เว่ยเจียน ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานวิทยา คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน (RUC) ผู้ควบคุมการขุดค้นโบราณสถานดังกล่าวเผยว่าโรงอาบน้ำแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณถังเฉาตุน (Tangchaodun) ซึ่งถูกสร้างครั้งแรกในยุคต้นราชวงศ์ถัง (ปี 618-907)
เว่ยเชื่อว่าซากโบราณสถานนี้น่าจะเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะของเมืองดังกล่าว โดยตัวอาคารมีขนาดใหญ่ โอ่อ่า ถูกใช้งานเป็นเวลานาน และผ่านการปรับปรุงหลายครั้ง
“เมืองโบราณถังเฉาตุนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในทุ่งหญ้าสเตปป์ยูเรเซีย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อน-ลมแรงในฤดูร้อนและหนาวจัดในฤดูหนาว นั่นจึงดูสมเหตุสมผลที่จะสร้างโรงอาบน้ำในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศเช่นนี้โดยสามารถให้บริการแก่ทั้งชาวเมืองและนักเดินทาง”
เว่ยกล่าวว่าซากโรงอาบน้ำดังกล่าวมีรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างสไตล์โรมันอย่างเด่นชัด แม้โบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผา อิฐสี่เหลี่ยม และการตกแต่งลายดอกไม้ จะบ่งชี้ร่องรอยจากทั้งวัฒนธรรมพื้นที่ราบทางตอนกลางและวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมเสริมว่ามันสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์และนวัตกรรมระหว่างประเพณีและเทคนิคการก่อสร้างของจีนและตะวันตกบนเส้นทางสายไหม
สำหรับการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้ได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 3 ปี