xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้สูงอายุนั่งจับกลุ่มกัน ณ สวนแห่งหนึ่งในประเทศจีน (ที่มา Tencent News)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)


สัปดาห์นี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงสังคมผู้สูงอายุจีน ในวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติของจีน ตามมาตรฐานสากลจีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2000 ซึ่งในขณะนั้นจีนมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 90 กว่าล้านคน ในปีนี้สัดส่วนประชากรสูงอายุในจีนมีอยู่ 13 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 160 กว่าล้านคน และจากโครงสร้างประชากรในขณะนี้ คำนวณไปในอนาคต ประชากรผู้สูงอายุจีนในปี 2050 จะมีสัดส่วนมากถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ในอนาคตแนวโน้มประชากรทั้งประเทศของจีนมีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อยพร้อมกับจำนวนแรงงานลดลง (ผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวเมื่อยุค 1980-2000 นโยบายลูกสองคนจากแนวโน้มไม่ได้กระตุ้นจำนวนประชากรรวมมากนัก) พร้อมกับสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศใดก็ตาม ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะระบบการจัดการและดูแลผู้สูงอายุไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสังคมและประเทศชาติอีกด้วย การรับมือด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข การดูแลและบริการของสังคม ต้องมีการรองรับ ต้องพัฒนาให้ทัน เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ถูกลืม หรือมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ไร้คนจัดการดูแล

ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ต่างประสบปัญหาสังคมด้านการดูแลและสวัสดิการของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการทำงาน อีกทั้งร่างกายยังไม่แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาว ทำให้คนแก่หลายคนในสังคมประเทศกำลังพัฒนามีสถานะจนลง หรือไม่มีเงินเพียงพอเพื่อการดำรงชีวิตพื้นฐานของตัวเอง (ในกรณีที่ไม่พิจารณาถึงลูกหลานให้การดูแล)

จีนมองว่าการจัดการของภาครัฐเพื่อเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบเป็นงานท้าทายและงานหนักเอาการ เพราะระบบประกันสังคมจีนในแต่ละพื้นที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะระบบประกันสังคมในเมืองกับชนบท ระบบทะเบียนราษฎร์ที่มีการแบ่งขอบเขตของเมืองและมีสวัสดิการพื้นฐานที่ต่างกัน อีกทั้งยังมีปัญหาประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมของรัฐบาล ไม่มีเงินสะสมที่เพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ

สถานการณ์ของจีนในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้วคนแก่ที่ใช้ชีวิตในเมืองอยู่ในระบบประกันสังคมมีเงินบำนาญรายเดือน ส่วนคนแก่ที่ใช้ชีวิตในชนบทนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีเงินบำนาญรายเดือน อาจจะมีเพียงเงินช่วยเหลือจากรัฐเดือนละไม่มาก ต้องพี่งพาลูกหลานหรือยังคงต้องทำงานเพื่อหาเงินดำรงชีวิต

จากสถิติของทางการจีนที่รายงานถึงรายได้เพื่อการยังชีพของประชากรวัยเกษียณที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปทั้งประเทศ ในปี 2000 (ที่ผู้เขียนหยิบยกปี 2000 และปี 2015 เข้ามาเปรียบเทียบเพราะจะทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของพัฒนาการสังคมผู้สูงอายุจีนในช่วงเวลา 15 ปี)
- ประชากรวัยเกษียณ 32.1 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เลี้ยงชีพมาจากการทำงาน
- ประชากรวัยเกษียณ 20 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้มาจากเงินบำนาญและ
- ประชากรวัยเกษียณ 44.2 เปอร์เซ็นต์ รายได้ยังชีพมาจากครอบครัวให้เงินเลี้ยงดู

เมื่อปี 2015 ที่มาของเงินยังชีพผู้สูงอายุมีโครงสร้างที่เปลี่ยนไป โดย- ประชากรวัยเกษียณ 23.47 เปอร์เซ็นต์รายได้เลี้ยงชีพมาจากการทำงาน
- ประชากรวัยเกษียณ 30.21 เปอร์เซ็นต์มีรายได้มาจากเงินบำนาญ
- ประชากรวัยเกษียณ 36.68 เปอร์เซ็นต์รายได้มาจากครอบครัวให้เงินเลี้ยงดู

ประชากรผู้สูงอายุในเมือง 70 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ยังชีพจากเงินบำนาญ ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องเพิ่งพาครอบครัวลูกหลาน และมีเพียง 6.29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรายได้ยังชีพมาจากการทำงาน

ประชากรผู้สูงอายุในชนบทกลับมีสถานการณ์ตรงกันข้าม นอกจากส่วนใหญ่ไม่มีเงินบำนาญแล้ว ลูกหลานส่วนใหญ่เดินทางเข้าเมืองเพื่อทำงานและก็ใช่ว่าลูกหลานทุกครอบครัวส่งเงินให้ผู้สูงอายุใช้เพียงพอเสมอไป

การย้ายไปอยู่กับลูกหลานในเมืองก็มีปัญหาเรื่องประกันสุขภาพของชนบทไม่สามารถเอาไปใช้ในเมืองได้ ดังนั้นผู้สูงอายุยังต้องทำงานเพื่อการยังชีพ (ทำไร่ทำนา) ในชนบทจะมากกว่าในเมือง

ข้อมูลในปี 2015 ยังพบว่า ประชากรผู้สูงอายุในชนบทเกือบครึ่งยังคงต้องพึ่งพาลูกหลานและครอบครัวให้เงินใช้เพื่อยังชีพ 

บ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่กำลังจัดงานวันเกิดให้กับคุณยาย (ที่มา Sina.com)
สำหรับการเตรียมพร้อมของจีนเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจีนมีแนวทางปฎิบัติโดยสังเขปดังนี้
- รัฐเข้ากำกับดูแล สอดส่องการบริหารงานของบ้านพักคนชราให้มีมาตรฐาน ทั้งเรื่องของราคาค่าบริการที่ต้องโปร่งใส สภาพแวดล้อม สุขลักษณะและ ผู้ดูแล พยาบาลต้องมีใบรับรองการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ พบว่าจีนมีบ้านพักคนชราทั้งประเทศ 2.2 แสนแห่ง รองรับคนชราได้ 7.9 ล้านเตียง เพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว (แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ)

บ้านพักคนชราจำนวนกว่าครึ่งดำเนินงานโดยเอกชน ทำให้หลังจากนี้รัฐต้องเข้ามากำกับดูแลมากขึ้นและเปิดช่องทางให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย

รัฐบาลจีนยังมีเป้าหมายในการพัฒนาอบรมบุคคลากรเพื่อการทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รับประกันว่าในปี 2022 จะมี
- การอบรมหัวหน้าบ้านพักคนชรา 1 หมื่นคนและผู้ดูแลคนชรา 1 แสนคน
- สนับสนุนบริษัทประกันชีวิตออกผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ โดยเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่มีศักยภาพทางการเงิน ในวัยทำงานสามารถซื้อประกันแบบออมเงินเพื่อการเกษียณได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อประชากรสูงอายุในสังคมมีเงินเก็บออมเพื่อใช้ยามแก่ ก็จะเพื่อลดภาระของรัฐไปบ้าง ไม่มากก็น้อย
- การพยายามให้เงินเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำแก่คนกลุ่มคนชรายากจนในชนบทเป็นไปอย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าแต่ละพื้นที่จำนวนเงินที่ให้ต่างกัน จนสิ้นปีที่แล้ว ทั้งประเทศจีนมีคนชราที่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำทั้งหมด 14.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3.8 ล้านคนเป็นคนชราที่ยากจนขั้นสูงสุด ในที่นี่รวมถึงคนชราพิการที่ไม่ได้รับการดูแลด้วย

ในปัจจุบันเงินเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำที่ให้แก่คนชราที่ยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ แตกต่างกันไป การกำหนดจำนวนเงินที่ให้ในแต่ละพื้นที่เป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่น(เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของรัฐบาลแต่ละพื้นที่ด้วย)โดยเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เงินเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำรายเดือนอยู่ที่ 700 กว่าหยวนหรือประมาณ 3,000 กว่าบาท เมืองเจิ้งโจวเงินเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำอยู่ที่ 565 หยวน ต่างกันร้อยกว่าหยวน

ทั้งนี้การให้เงินช่วยเหลือเบี้ยเลี้ยงแก่คนชราที่ยากจนทั่วประเทศของจีนถือเป็นภาระที่หนักและเป็นรายจ่ายมหาศาล อย่างในพื้นที่ภาคตะวันตกที่ประชากรยากจนมากรัฐบาลท้องที่จะมีภาระที่หนักกว่าเมืองทางด้านตะวันออกติดทะเลที่มีเศรษฐกิจดี

ดังนั้นจีนจึงต้องพยายามหาทางช่วยเหลือให้ระบบสังคมทั้งประเทศมีความเสมอภาค ที่สำคัญคือการช่วยเหลือให้ประชากรหลุดพ้นจากความยากจนแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีต่าง ๆ

- การสนับสนุนให้คนชราที่มีบ้านของตัวเอง สามารถเอาบ้านเข้าธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้ในยามชราได้ กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนชราที่ไม่มีลูกหลานหรือใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่มีคนเลี้ยงดู โดยธนาคารจะอนุมัติเงินก้อนออกมาให้กับคนชราเพื่อเอาไว้ใช้ คนชราจะมีสิทธิ์อาศัยอยู่ไปตลอดจนเสียชีวิต หลังจากนั้นบ้านก็จะตกเป็นของธนาคารต่อไป

- เอาเทคโนโลยีไอทีเข้ามาใช้กับการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ สอนและอบรมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้มือถือสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ พัฒนาเตียงคนชราอัจฉริยะ เป็นต้น
นอกจากนี้แผนพัฒนาของจีนล่าสุด ได้เน้นย้ำถึงการบูรณาการของภาคธุรกิจการดูแลสุขภาพกับผู้สูงวัย มีการอนุมัติที่ดินเพื่อการสร้างสถานบำบัดคนชรา ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เหล่านี้คือความท้าทายและโอกาสที่รออยู่ของการพัฒนาไปสู่สังคมผู้สูงอายุ


กำลังโหลดความคิดเห็น